
“อาเซียนเป็นศูนย์กลาง สรรค์สร้างความเจริญ” (ASEAN Matters : Epicentrum of Growth) คือหัวข้อหลักของวาระการเป็นประธานอาเซียนในปี 2023 ของอินโดนีเซีย ซึ่งจัดการประชุมผู้นำอาเซียน 2023 (ASEAN Summit 2023) ที่กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 5-7 กันยายนที่ผ่านมา
ปีนี้ทั้งสองมหาอำนาจ สหรัฐและจีนไม่มีผู้นำสูงสุดมาร่วมการประชุม ฝั่งสหรัฐอเมริกาส่ง “กมลา แฮร์ริส” (Kamala Harris) รองประธานาธิบดีมาแทน ด้านจีนส่งนายกรัฐมนตรี “หลี่ เฉียง” (Li Qiang) มาร่วมประชุม
การ “ไม่มา” ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) ของสหรัฐ ทำให้มีการวิเคราะห์ถึงการเดินเกมของสองมหาอำนาจว่า สหรัฐล้มเหลวในการท้าทายอำนาจของจีนที่ครอบงำภูมิภาคอาเซียนอยู่
ในทางกลับกันก็ชวนให้ตั้งคำถามว่า “อาเซียน” มีความสำคัญมากอย่างที่พูดกันมาก่อนหน้านี้หรือไม่

ไม่ว่าคำตอบในท้ายที่สุดจะเป็นอย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากการประชุมอาเซียนครั้งนี้ ดูเหมือนว่าอาเซียนมีความสำคัญต่อสหรัฐน้อยกว่าที่มีความสำคัญต่อจีน เพราะอย่างน้อย ๆ ผู้นำจีนก็ได้มาใช้เวทีอาเซียนในการแสดงบทพระเอกให้โลกเห็น โดยเตือนว่าไม่ควรเริ่ม “สงครามเย็นครั้งใหม่” และเตือนอาเซียนว่า “อย่าเลือกข้าง” ขณะที่ฝั่งสหรัฐไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรให้เห็นว่าอาเซียนมีความสำคัญ
“ในเวลานี้ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องต่อต้านการเลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การเผชิญหน้าแบบกลุ่ม และสงครามเย็นครั้งใหม่” นายกฯหลี่ เฉียง ของจีนกล่าว
อีกทั้งผู้นำจีนและอาเซียนได้ลงนามในเอกสารใหม่หลายฉบับในการประชุมเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2023 รวมถึงการยกระดับ “ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน” (ACFTA) แม้ว่าบรรยากาศระหว่างจีนกับหลายประเทศในอาเซียนกำลังมาคุ จากกรณีแผนที่ใหม่ของจีนที่ขีดเส้นกินพื้นที่ในทะเลจีนใต้ไปถึง 90% แต่ประเด็นความตึงเครียดเรื่องนี้ก็ไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในการประชุม
ด้านสหรัฐอเมริกาไม่มีผลลัพธ์อะไรที่เป็นรูปธรรม “กมลา แฮร์ริส” เพียงเน้นย้ำถึงการรักษาคำมั่นสัญญาด้านการป้องกันและป้องปรามของสหรัฐที่มีต่ออาเซียนและอินโด-แปซิฟิก และประกาศการก่อตั้ง “ศูนย์สหรัฐ-อาเซียน” ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งศูนย์นี้จะอำนวยความสะดวกต่อการมีส่วนร่วมระหว่างกัน และสนับสนุนการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน ธุรกิจ และสถาบันการศึกษาของสหรัฐกับอาเซียน

เราอาจจะตีความ “ความไม่เคลื่อนไหว” ของสหรัฐในครั้งนี้ได้สองทาง คือ สหรัฐไม่ได้เห็นความสำคัญของอาเซียนเท่าไรนัก หรือสหรัฐต้องการหารือกับประเทศสมาชิกอาเซียนภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ที่สหรัฐเพิ่งก่อตั้งขึ้น โดยที่ไม่มีจีนร่วมงานด้วย รวมถึงต้องการหารือเฉพาะรายประเทศที่สหรัฐให้ความสำคัญ อย่างที่เห็นได้จากการที่ไบเดนจะไปเยือนเวียดนามหลังการประชุม G20 ในเวลาใกล้ ๆ กันนี้
เตอูกู เรซาซยาห์ (Teuku Rezasyah) ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยปัดจัดจารันในอินโดนีเซีย มองว่า สหรัฐยังคงเป็นผู้นำในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในแง่ภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคง แต่จีนมีอิทธิพลมากกว่าในแง่มุมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความเป็นหุ้นส่วนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน
เขาตั้งข้อสังเกตถึงความเกรงใจและการให้ความสำคัญที่อาเซียนมีต่อจีนด้วยว่า แม้ว่าก่อนหน้านี้ สมาชิกอาเซียนบางประเทศปฏิเสธแผนที่ของจีน แต่ผู้นำอาเซียนก็ไม่มีถ้อยแถลงโจมตีหรือต่อต้านแผนที่นี้ในระหว่างการประชุม ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้นำอาเซียนไม่ต้องการให้นายกฯหลี่ เฉียง ของจีนไม่พอใจแล้วออกจากการประชุมไป

ด้าน ดอน แม็คเลน กิลล์ (Don McLain Gill) นักวิเคราะห์และอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเดอลาซาลในฟิลิปปินส์ มองว่า การที่โจ ไบเดน และสี จิ้นผิง ไม่ร่วมประชุมนั้น ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่าง แต่สะท้อนให้เห็นว่าผู้นำทั้งสองประเทศไม่ได้สนใจที่จะมีส่วนร่วมแบบพหุภาคีกับอาเซียนอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ มีรายงานว่าผู้นำชาติต่าง ๆ ในอาเซียนรู้สึกผิดหวังต่อการไม่เข้าร่วมประชุมของโจ ไบเดน แต่ในกรณีของจีนนั้นเป็นที่รู้กันว่าจะส่งนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมอาเซียนเป็นประจำ ประธานาธิบดีไม่ค่อยมาร่วมประชุมเองอยู่แล้ว
ฮูลิโอ อามาดอร์ (Julio Amador) ซีอีโอของบริษัทวิจัย “อามาดอร์ รีเสิร์ช เซอร์วิสเซส” (Amador Research Services)ในฟิลิปปินส์วิเคราะห์ว่า ความผิดหวังของอาเซียนสะท้อนให้เห็นว่า การมีอยู่ของสหรัฐนั้นมีความจำเป็นอย่างมาก และประเทศสมาชิกอาเซียนรู้สึกไม่สมดุลเมื่อไม่มีไบเดน
มุมมองของอามาดอร์ชวนให้คิดว่า หรือจริง ๆ แล้วไบเดนต้องการให้อาเซียนได้ “รู้สึก” ว่า จะน่าหวาดหวั่นแค่ไหนถ้าไม่มีสหรัฐอยู่เคียงข้าง