สรุปประชุม “อาเซียน ซัมมิท 2023” ที่เพิ่งจบไป มีอะไรสำคัญเกิดขึ้นบ้าง 

ผู้นำอาเซียน
ผู้นำอาเซียน ในการประชุม อาเซียน ซัมมิท 2023 (ภาพโดย Bay Ismoyo/ Pool via REUTERS)

การประชุมผู้นำอาเซียน 2023 (ASEAN Summit 2023) ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ภายใต้หัวข้อหลัก “อาเซียนเป็นศูนย์กลาง สรรค์สร้างความเจริญ” (ASEAN Matters : Epicentrum of Growth) เมื่อวันที่ 5-7 กันยายน จบลงไปอย่างค่อนข้างเงียบ ไม่ได้ครองพื้นที่สื่อในระดับสากลเท่าไรนัก  

เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้การประชุมนี้ไม่ได้รับความสนใจมากนัก ก็น่าจะเพราะประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกากับจีนไม่ได้ส่งผู้นำสูงสุดมาเข้าร่วมประชุม อย่างไรก็ตาม มีหลายประเทศที่ผู้นำสูงสุดเดินทางมาร่วมประชุมเอง อย่างญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ และแคนาดา

“ประชาชาติธุรกิจ” ขอชวนดูว่าในการประชุมสุดยอดอาเซียนมีอะไรสำคัญ ๆ เกิดขึ้นบ้าง รวมถึงมีอะไรที่ควรจะเกิดขึ้น แต่ก็ไม่เกิด 

1.มีการประกาศปฏิญญาอาเซียนและแถลงการณ์หลายฉบับ ซึ่งผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมลงนามรับรองก่อนหน้านี้ 

ยกตัวอย่างเช่น ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยอาเซียนเป็นศูนย์กลางของการเติบโตทางเศรษฐกิจ, ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเจรจาสิทธิมนุษยชนอาเซียน, ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน, ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการในการตอบสนองต่อภาวะวิกฤติ และแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการประชุมสมัชชาภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (UNFCCC COP-28) เป็นต้น 

อาเซียน ซัมมิท 2023
ผู้นำอาเซียนในการประชุมอาเซียน ซัมมิท 2023 (ภาพโดย ADI WEDA/ Pool via REUTERS)


2.ไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ปัญหาในเมียนมา ซึ่งโลกคาดหวังว่า อาเซียนควรกดดันหรือใช้มาตรการบังคับให้รัฐบาลทหารเมียนมาปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus: 5PC) เพื่อยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที ตามที่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ลงนามไว้เมื่อ 2 ปีก่อน 

ตามถ้อยแถลงที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 กันยายน ผู้นำอาเซียนกล่าวเพียงว่า “กังวลอย่างยิ่งต่อการไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในการดำเนินการของทางการเมียนมา แม้ว่าพวกเขาจะให้คำมั่นสัญญาต่อ 5PC” 

3.ในช่วงการประชุม 3 วัน มีการจัดการประชุมสุดยอดหรือการประชุมระดับผู้นำประเทศทั้งหมด 12 ครั้ง มีการจัดทำเอกสารผลการประชุม 90 ฉบับ มีการจัดทำข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมกับพันธมิตรและออกเป็นแถลงการณ์ร่วมหลายฉบับ 

ยกตัวอย่าง เช่น แถลงการณ์ร่วมอาเซียน-จีนว่าด้วยความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันเกี่ยวกับมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก, แถลงการณ์ร่วมอาเซียน-จีนว่าด้วยความร่วมมือทางการเกษตรที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น, แถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับการสถาปนาความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมอาเซียน-ญี่ปุ่น, แถลงการณ์ร่วมผู้นำอาเซียน-สหรัฐว่าด้วยความร่วมมือเรื่องมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก, แถลงการณ์ร่วมอาเซียน-อินเดียว่าด้วยความร่วมมือทางทะเล, แถลงการณ์ร่วมอาเซียน-แคนาดาเรื่องการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการในการตอบสนองต่อภาวะวิกฤติ เป็นต้น 

อาเซียน ซัมมิท 2023
ผู้นำ อาเซียน +3 (ภาพโดย Tatan Syuflana/ Pool via REUTERS)


4.มีการทำข้อตกลงโครงการต่าง ๆ ทั้งระหว่างรัฐต่อรัฐ รัฐต่อเอกชน และเอกชนต่อเอกชน รวมมูลค่ากว่า 38,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.36 ล้านล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 8 กันยายน 2023) และมีการหารือถึงโครงการที่มีความเป็นไปได้อีก 73 รายการ มูลค่าประมาณ 17,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 632,500 ล้านบาท)

5.ไม่มีการหารืออย่างเป็นทางการกรณีการแผนที่ใหม่ของจีนที่ขีดเส้นกินพื้นที่ 90% ของทะเลจีนใต้ ทับซ้อนกับแผนที่ของหลายประเทศในอาเซียน ซึ่งมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม คัดค้านแผนที่ใหม่ของจีน 

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 กันยายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน 2023 สมาชิกอาเซียนได้ยืนยันอีกครั้งถึง “ความมุ่งมั่นร่วมกันในการปกป้องและส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากสิ่งที่เกิดขึ้นล่าสุด” ซึ่งชัดเจนว่าหมายถึงกรณีแผนที่ของจีน

อาเซียน ซัมมิท 2023
ประชุมผู้นำอาเซียน-จีน ในการประชุมอาเซียน ซัมมิท (ภาพโดย Yasuyoshi Chiba/ Pool via REUTERS)


6.โจโก วิโดโด (Joko Widodo) ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียนปี 2023 กล่าวว่าสรุปปิดการประชุมว่า การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 43 ทำหน้าที่เป็นแรงผลักดันในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในฐานะโรงละครแห่งสันติภาพและความครอบคลุม ซึ่งเขาบอกว่า “นั่นคือรากฐานสำคัญที่จะทำให้อาเซียนเป็นผู้สร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับผู้คนและโลก”

7.กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) รองประธานาธิบดีสหรัฐ และหลี่ เฉียง (Li Qiang) นายกรัฐมนตรีของจีนได้พบกันในวันที่ 7 กันยายน และผู้นำทั้งสองระบุในแถลงการณ์ว่า พวกเขามุ่งมั่นที่จะจัดการกับข้อกังวล “โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก” 

แต่ เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov) รัฐมนตรีกระทวงการต่างประเทศของรัสเซียไม่ได้คิดเช่นนั้น สำนักข่าว Tass ในรัสเซีย รายงานคำพูดของเขาว่า “เอเชียตะวันออกเสี่ยงต่อปฏิบัติการทางทหาร เนื่องจากการขยายตัวของ NATO ที่นั่น” ซึ่งหมายถึงการยกระดับความร่วมมือทางทหารล่าสุดของ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา