
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
การเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไต้หวันเมื่อ 13 มกราคมที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากทั่วโลก ท่ามกลางความตึงเครียดเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ที่ทำให้อุณหภูมิเหนือช่องแคบไต้หวันร้อนฉ่าแทบลุกเป็นไฟ
นักสังเกตการณ์พากันจดจ่ออยู่กับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเชื่อว่า “ผลลัพธ์ของการเลือกตั้ง” ไม่เพียงจะบ่งชี้ถึงชะตากรรมของไต้หวันเท่านั้น แต่ยังส่งผลผูกพันต่อ “ชะตากรรมของโลก” ได้อีกด้วย
โดยเฉพาะเมื่อสื่อที่เป็นปากกระบอกเสียงของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ถือว่าไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน ออกมาตีตราการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าเป็นการเลือกระหว่าง “สงครามกับสันติภาพ” และ “ความรุ่งเรืองกับความเสื่อมทรุด” ที่จะเกิดขึ้นตามมา
ดังนั้น เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏออกมาว่า วิลเลียม ไล่ หรือ “ไล่ ชิงเต๋อ” ผู้สมัครวัย 64 ปีของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี สร้างประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองเก่าแก่ 1 ใน 2 พรรค สามารถครองอำนาจต่อเนื่องได้ถึง 3 สมัยด้วยกัน ทางการจีนย่อมไม่พอใจแน่นอน
เพราะ “วิลเลียม ไล่” คือคนที่ทางการปักกิ่งขนานนามว่าเป็น “ตัวปัญหา” และเป็น “นักแบ่งแยกดินแดน” เปี่ยมอันตรายมาโดยตลอด
แต่ที่น่าสนใจก็คือ อาการกราดเกรี้ยวโกรธาของจีนกลับไม่ได้รุนแรงมากมายอย่างที่คาดคิดกัน
เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะ วิลเลียม ไล่ ไม่เพียงได้รับชัยชนะด้วยสัดส่วนคะแนนเสียงเพียง 40% เท่านั้น พรรคดีพีพีเองซึ่งเคยครองเสียงข้างมากในสภา กลับได้ สส.กลับเข้าสภาเพียง 51 ที่นั่งเท่านั้น คู่แข่งสำคัญที่เป็นพรรคนิยมจีนอย่าง “ก๊กมินตั๋ง” ได้ สส.เพิ่มเป็น 52 ที่นั่ง
แต่ที่น่าสนใจที่สุดก็คือ พรรคการเมืองหน้าใหม่อย่างพรรคประชาชนไต้หวัน (ทีพีพี) ที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อไม่ถึง 5 ปีก่อน กลับได้ที่นั่ง สส.ไปถึง 8 ที่นั่ง กลายเป็นพรรคที่ 3 ที่สามารถมีอิทธิพลชี้เป็นชี้ตายเสียงข้างมากในสภาไต้หวันได้เลย
นาธาน แบทโต นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ประจำ อะคาเดเมีย ซินิกา สถาบันวิจัยระดับท็อปของไต้หวัน ถึงกับออกปากว่า ถ้าจะมี “บิ๊กวินเนอร์” ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็เห็นจะเป็นทีพีพีนี่เอง
แต่ที่ยังเป็นเครื่องหมายคำถามขนาดใหญ่ก็คือ ทีพีพีจะใช้สถานะที่ว่านี้ของตัวเองให้เป็นประโยชน์สูงสุดอย่างไรกัน
“ทีพีพี” พรรคการเมืองใหม่ก่อตั้งโดย “เคอ เวินเจ๋อ” ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ได้รับคะแนนเสียงไป 26.5% เป็นอันดับ 3 รองจาก โหว โหยวอี๋ ตัวแทนพรรคก๊กมินตั๋ง ที่ได้คะแนนเสียง 33.5%
เคอ เวินเจ๋อ ศัลยแพทย์ฝีมือดี วัย 64 ปีจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน เริ่มต้นชีวิตการเมืองในปี 2014 ด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น นายกเทศมนตรีนครไทเป และได้รับชัยชนะจากการหนุนหลังของขบวนการนักศึกษาทานตะวัน ที่ชุมนุมประท้วงต่อต้านความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนในเวลานั้น
ที่น่าสนใจก็คือ เคอ เวินเจ๋อ ได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองที่ “ยืดหยุ่น” มากที่สุดคนหนึ่ง แรกเริ่มเดิมทีเคอเคยเป็นพันธมิตรกับดีพีพี พรรคการเมืองหลักที่นิยามไต้หวันว่าเป็นชาติอิสระ ปฏิเสธการเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่ไม่นานก็กลับมาเอนเอียงไปทางก๊กมินตั๋ง ที่เชื่อว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน แม้จะไม่เห็นพ้องกับทางการจีน ว่าไต้หวันควรปกครองจีน หรือจีนควรปกครองไต้หวันก็ตาม

ตอนที่เป็นนายกเทศมนตรี เคอย้ำหลายครั้งว่า จีนกับไต้หวัน “คือสมาชิกครอบครัวเดียวกัน” และในระหว่างรณรงค์หาเสียง เคอสนับสนุนการหวนกลับมาเจรจาทำความตกลงทางการค้ากับจีนใหม่อีกครั้ง ตามแนวทางของก๊กมินตั๋ง พรรคการเมืองที่เคอบอกในเวลานั้นว่า น่าจะเป็นพันธมิตรกันได้
เคอ เวินเจ๋อ สร้างคะแนนนิยมในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ในไต้หวัน ด้วยการเลิกพูดถึงจีน หันมาเน้นแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของคนในประเทศแทน หลายคนชื่นชอบเขาด้วยเหตุที่ว่า เคอหาเสียงด้วย “ภาษาชาวบ้าน” ที่เข้าถึงง่าย ได้ใจได้คะแนนนิยมเพราะไร้วาทกรรมประดิษฐ์ที่ฟังไม่รู้เรื่อง
ฟังดู ดูเหมือนก๊กมินตั๋งที่มี สส.มากที่สุดในสภาหลังเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะมีโอกาสสูงที่จะจับมือกับทีพีพี เล่นงานรัฐบาลเสียงข้างน้อยของดีพีพีในอนาคต
แต่หลังผลการเลือกตั้งปรากฏ เคอ เวินเจ๋อ กลับประกาศว่า ทีพีพีจะไม่ผูกพันธมิตรกับพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่จะร่วมมือกับกลุ่มหลากหลายในสภา ขึ้นอยู่กับ “ประเด็น” และ “วาระ” เท่านั้น
นักสังเกตการณ์ชี้ว่า ในขณะที่ “เคอ เวินเจ๋อ” หัวหน้าพรรคมีแนวทางที่พลิกผันไปมาชนิดจับไม่มั่นคั้นไม่ตาย ภายในพรรคทีพีพีเองก็มีความแตกต่างทางความคิดอยู่มากไม่น้อยเช่นกัน ถึงขนาดอาจเกิดการต่อสู้แก่งแย่งกันภายในขึ้นได้
ตัวอย่างเช่น แกนนำคนสำคัญของทีพีพีอย่าง หวง ชานชาน นักการเมืองสตรีที่เคยเป็นรองนายกเทศมนตรีของเคอ เวินเจ๋อ ก็เป็นนักการเมืองที่มาจากก๊กมินตั๋ง ในขณะที่ หวง โค่วชาง แกนนำอีกคนกลับมีภูมิหลังมาจากขบวนการนักศึกษาทานตะวัน ที่ต่อต้านจีนสุดลิ่ม
ว่ากันว่าคนทั้งสองมีอิทธิพลในพรรคมากถึงกับสามารถแข่งบารมี แย่งการนำพรรคจากเคอได้เลย
หลายฝ่ายเชื่อว่าทุกอย่างอาจจะชัดเจนได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เมื่อมีการประชุมสภานัดแรก แล้วมีการเลือกตั้ง “ประธานสภา” ที่ทั้งก๊กมินตั๋งและดีพีพี พากันยื่นข้อเสนอมาให้ทีพีพีพิจารณา
ก๊กมินตั๋งเสนอตำแหน่งรองประธานให้เป็นคนของทีพีพี ในขณะที่ ดีพีพี เจาะจงเลือก “หวง ชานชาน” เป็นประธานสภา ให้ตัวแทนของพรรคเป็นรองประธานเท่านั้น
การตัดสินใจที่ว่านี้อาจกลายเป็นตัวชี้วัดความตึงเครียดเหนือช่องแคบไต้หวันกันจริง ๆ จัง ๆ ก็เป็นได้