จีนตั้งเป้าเศรษฐกิจโต 5% สร้างงาน 12 ล้านตำแหน่ง เป็นความท้าทายที่ยากจะบรรลุ

จีน ประชุมสภา เป้าเศรษฐกิจ
นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง โค้งคำนับหลังกล่าวรายงานแผนงานของรัฐบาลต่อสภาประชาชนแห่งชาติ วันที่ 5 มีนาคม 2024 (ภาพโดย Tingshu Wang/ REUTERS)

รัฐบาลจีนตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2024 นี้ไว้ที่ประมาณ 5% พร้อมตั้งเป้าจะสร้างงานใหม่ในเมืองมากกว่า 12 ล้านตำแหน่ง เป้าขาดดุลงบประมาณ 3% ของจีดีพี แม้เป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจจะเป็นตัวเลขเดิม แต่ที่เพิ่มเติมคือความยากยิ่งขึ้นในการจะบรรลุเป้าหมาย 

วันที่ 5 มีนาคม 2024 ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ณ มหาศาลาประชาชน (Great Hall of the People) กลางกรุงปักกิ่ง นายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง (Li Qiang) ของจีนกล่าวรายงานเป้าหมายเศรษฐกิจ แผนการทำงานของรัฐ และงบประมาณว่า รัฐบาลจีนตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2024 นี้ไว้ที่ประมาณ 5% ในขณะที่จีนดำเนินการเปลี่ยนผ่านโมเดลการพัฒนา ควบคุมกำลังการผลิตส่วนเกินของภาคอุตสาหกรรม ลดความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ และลดการใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองของรัฐบาลท้องถิ่น 

นอกจากเป้าหมายการเติบโตของจีดีพีแล้ว รายงานแผนการทำงานของรัฐบาลยังมีการตั้งเป้าหมายอื่น ๆ อย่างเช่น ตั้งเป้าหมายอัตราส่วนการขาดดุลงบประมาณไว้ที่ 3% ของจีดีพี ลดลงจาก 3.8% ในปีก่อนหน้า ตั้งเป้าที่จะสร้างงานใหม่ในเมืองมากกว่า 12 ล้านตำแหน่ง พร้อมคงอัตราการว่างงานไว้ที่ 5% และตั้งเป้ารักษาการเติบโตของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อไว้ที่ประมาณ 3%

ADVERTISMENT

ที่สำคัญคือ จีนมีแผนที่จะออกพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวพิเศษมูลค่า 1 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 4.98 ล้านล้านบาท) ซึ่งไม่รวมอยู่ในงบประมาณ และมีโควตาการออกพันธบัตรพิเศษสำหรับรัฐบาลท้องถิ่น 3.9 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 19.41 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2023 ที่กำหนดให้ 3.8 ล้านล้านหยวน 

ส่วนงบประมาณด้านกลาโหมที่ถูกจับตามองนั้น จีนได้ประกาศร่างงบประมาณกลาโหมสำหรับปี 2024 มูลค่า 1,665,540 ล้านหยวน (ประมาณ 8,288,598 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 7.2% จากปีก่อนหน้า 

“ในการกำหนดเป้าหมายเหล่านี้ เราได้พิจารณาถึงพลวัตทั้งในและต่างประเทศ และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสิ่งที่จำเป็นและสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้” รายงานของรัฐบาลจีนระบุ  

ADVERTISMENT

นายกฯหลี่ เฉียง กล่าวอีกว่า ในการกำหนดเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจ ผู้กำหนดนโยบายได้คำนึงถึงความจำเป็นในการเพิ่มการจ้างงานและรายได้ ตลอดจนป้องกันและขจัดความเสี่ยง

“จีนตั้งใจที่จะมีจุดยืนทางการคลังเชิงรุก และนโยบายการเงินที่รอบคอบ” นายกฯจีนกล่าว 

ADVERTISMENT
หลี่ เฉียง
หลี่ เฉียง นายกฯจีน กล่าวรายงานแผนงานของรัฐบาลต่อสภาประชาชนแห่งชาติ วันที่ 5 มีนาคม 2024 (ภาพโดย Florence Lo/ REUTERS)

เป้าหมายการเติบโตประมาณ 5% นั้นเป็นตัวเลขเดิมกับเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งในตอนที่รัฐบาลจีนประกาศตัวเลขนี้ก็ถูกมองจากนานาชาติว่าเป็นเป้าที่ “เจียมเนื้อเจียมตัว” ก่อนที่เศรษฐกิจจีนจะเผยความจริงว่าไม่สามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วอย่างที่ทั่วโลกคาดหวัง อย่างไรก็ตาม ในที่สุดจีนก็จบปี 2023 ได้ด้วยอัตราการเติบโตของจีดีพี 5.2% ซึ่งบรรลุเป้าหมายของรัฐบาลในแบบที่เจ้าหน้าที่ทางการจีนบอกว่าเป็นความสำเร็จที่ได้มาอย่างยากลำบาก 

แต่สำหรับปีนี้ นักเศรษฐศาสตร์มองว่าตัวเลขเดียวกันนี้เป็นเป้าหมายที่ท้าทายกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากฐานของปี 2023 ที่จะเปรียบเทียบการเติบโตในปีนี้นั้นสูงกว่าฐานปี 2022 ดังนั้น รัฐบาลจีนจำเป็นจะต้องมีมาตรการกระตุ้นที่แข็งแกร่งขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนยังคงต้องพึ่งพาการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ซึ่งนำไปสู่หนี้ของท้องถิ่นจำนวนมาก

การฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิด-19 ของจีนที่ชะลอตัวในปีที่ผ่านมา ได้เผยให้เห็นถึงความไม่สมดุลทางโครงสร้างในระดับลึกของจีน ตั้งแต่การบริโภคในครัวเรือนที่อ่อนแอ ไปจนถึงผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเรียกร้องให้มีรูปแบบการพัฒนาแบบใหม่ และการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับที่ทรงพลังเพียงพอ 

ขณะที่วิกฤตการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ ภาวะเงินฝืดที่ทวีความรุนแรงขึ้น การพ่ายแพ้ของตลาดหุ้น และปัญหาหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นที่เพิ่มสูงขึ้น ได้เพิ่มแรงกดดันให้ผู้นำจีนตอบสนองต่อคำเรียกร้องเหล่านี้

จาง ชู (Chang Shu) และ อีริก จู (Eric Zhu) นักเศรษฐศาสตร์จากบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ (Bllomberg Economics) กล่าวว่า เป้าหมาย 5% ในปี 2024 เป็นการตั้งเป้าที่สูง เมื่อพิจารณาจากฐานที่สูงของปีที่แล้ว การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจะต้องมีการกระตุ้นเพิ่มเติม แผนงบประมาณที่แข็งแกร่งเกินคาด สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน กลยุทธ์ที่รัฐบาลจีนใช้อาจเป็นการผลักดันทางการคลังโดยทันที ซึ่งจะแตกต่างจากปี 2023 ที่การใช้จ่ายล่าช้ากว่ากำหนด และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมก็ถูกปล่อยออกไปอย่างช้า ๆ 

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พินพอยต์ แอสเสท แมเนจเมนต์ (Pinpoint Asset Management) แสดงความเห็นว่า จุดยืนนโยบายการคลังแบบขยายตัวมากขึ้น ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับจีนในการต่อสู้กับแรงกดดันด้านเงินฝืดในระบบเศรษฐกิจ และประเด็นต่อไปที่น่าจับตามองคือ ความรวดเร็วในการออกพันธบัตรและการที่เงินทุนจะถูกนำไปใช้เพื่อเพิ่มอุปสงค์ในประเทศ

รัฐบาลจีนเองก็ตระหนักถึงความท้าทายนี้ โดยบอกในคำแถลงต่อสภาประชาชนแห่งชาติว่า “การบรรลุเป้าหมายในปีนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องรักษาจุดมุ่งเน้นด้านนโยบาย ทำงานหนักขึ้น และระดมความพยายามร่วมกันของทุกฝ่าย”

นายกฯหลี่ เฉียง กล่าวว่า “เราไม่ควรมองข้ามสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด และควรเตรียมพร้อมสำหรับความเสี่ยงและความท้าทายทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราต้องผลักดันด้วยการเปลี่ยนแปลงโมเดลการเติบโต การปรับโครงสร้าง การปรับปรุงคุณภาพ และการเพิ่มประสิทธิภาพ”