เตือน “เฟด” อย่าหั่นดอกเบี้ยเร็ว-แรง หวั่นกระตุ้น “ถอน Carry Trade” เพิ่มอีก

ตลาดหุ้นสหรัฐ
ตลาดหุ้นนิวยอร์ก วันที่ 5 สิงหาคม 2024 (ภาพโดย SPENCER PLATT/Getty Images via AFP)
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ภายหลังจากตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งเหวอย่างรุนแรงเมื่อวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม 2024 จนถูกเทียบกับเหตุการณ์ “แบล็กมันเดย์” เมื่อปี 1987 ทำให้ในตอนนี้ ตลาดและนักลงทุนต่างคาดหมายว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยมากถึง 0.5% ในเดือนกันยายน ทำให้รวมแล้วภายในปลายปี 2025 อาจลดลงถึง 2.25% เพื่อป้องกันเศรษฐกิจถดถอย

สตีเว่น บลิซ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ทีเอส ลอมบาร์ด ระบุว่า ถึงแม้ในตอนนี้ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้ถดถอย แต่ความเสี่ยงที่จะถดถอยมีมากขึ้นในช่วงสิ้นปี หากเฟดไม่ลงมือป้องกัน ดังนั้นเชื่อว่าเดือนกันยายน เฟดจะลด 0.5%

แอนดรูว์ ฮอลเลนฮอร์ส นักเศรษฐศาสตร์ซิติกรุ๊ป ชี้ว่า อัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้น เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่าเศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงจะถดถอย และกรณีเลวร้ายที่สุดก็อาจถดถอยไปแล้วด้วยซ้ำ และข้อมูลที่จะออกมาในเดือนกันยายนก็มีแนวโน้มว่าจะชะลอตัวต่อเนื่อง ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะมีการลดดอกเบี้ย 0.5% และเป็นไปได้เช่นกันที่อาจมีการลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน

อย่างไรก็ตาม ไมเคิล กาเพน นักเศรษฐศาสตร์ของแบงก์ ออฟ อเมริกา เห็นว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่เฟดจะลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน หรือก่อนจะถึงการประชุมวาระปกติ วันที่ 17-18 กันยายน เพราะเศรษฐกิจสหรัฐยังสามารถสร้างงานและตลาดหุ้นโดยเฉลี่ยก็ถือว่ายังอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ แม้ว่าจะมีการเทขายออกมาอย่างหนักในวันที่ 5 สิงหาคม

บรรดานักวิเคราะห์ชี้ว่า เหตุการณ์ถล่มขายหุ้นทั่วโลกอย่างหนักเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม สาเหตุใหญ่มาจากการลดหรือถอน Carry Trade (การกู้ยืมเงินเยนที่ดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปลงทุนสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า) ของนักลงทุนมากกว่า ส่วนตัวเลขการจ้างงานที่อ่อนแอของสหรัฐไม่ได้มีพลังเพียงพอที่จะเขย่าตลาด ตัวเลขจ้างงานสหรัฐเป็นเพียงตัวเร่ง

โดยการขายหุ้นอย่างถล่มทลายนี้น่าจะเป็นฝีมือของเฮดจ์ฟันด์ ที่ลงทุนด้วย Carry Trade ที่เกิดความตกใจหลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่นขึ้นดอกเบี้ย และทำให้เงินเยนแข็งค่ามากกว่า 11% ในเวลาเพียง 1 เดือน เมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยเชื่อว่าเฮดจ์ฟันด์เหล่านี้ส่วนใหญ่กู้เงินเยนมาลงทุนหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐ จึงต้องป้องกันความสูญเสียด้วยการขายสินทรัพย์หรือหุ้นที่ลงทุนด้วย Carry Trade ออกมาอย่างหนัก

ADVERTISMENT

ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศระบุว่า นับจากสิ้นปี 2021 การกู้ยืมเงินเยนเพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์ของประเทศอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ขยายตัวสู่ระดับ 7.42 แสนล้านดอลลาร์

ถึงแม้จะมีเสียงเรียกร้องให้เฟดลดดอกเบี้ยอย่างรุนแรงภายหลังจากมีการเทขายหุ้นทั่วโลก แต่ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของทีเอส ลอมบาร์ด เตือนว่า หากเฟดลดดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อข้อมูลการจ้างงานที่อ่อนแอและความเสี่ยงที่จะถดถอย จะยิ่งทำให้สถานการณ์ถอน Yen Carry Trade เลวร้ายลง

ADVERTISMENT

ดังนั้นจึงหวังว่าเฟดและธนาคารกลางญี่ปุ่นจะร่วมมือกันส่งสารที่จะช่วยบรรเทาความวิตกของนักลงทุน เพราะหากปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการถอน Carry Trade ธนาคารกลางของทั้งสองประเทศก็ควรใช้มาตรการเชิงปริมาณ (Quantity Measure) ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้นักลงทุนญี่ปุ่นและนักลงทุนอื่น ๆ ที่ใช้วิธี Carry Trade ขายสินทรัพย์ต่าง ๆ ออกมา ขณะเดียวกันก็จะเอื้อให้เฟดสามารถลดดอกเบี้ยตามกำหนดเดิมโดยไม่เพิ่มความเปราะบางให้ตลาดเงิน

สถานการณ์ Yen Carry Trade เกิดขึ้นมานานหลายปี เนื่องจากดอกเบี้ยญี่ปุ่นต่ำมากมาเป็นเวลานาน ทำให้นักลงทุนนิยมกู้ยืมเงินเยนไปลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงอื่น ๆ เช่น หุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

เงินเยนที่แข็งค่า ทำให้เกิดการคาดหมายว่า นักลงทุนประเภท Carry Trade จะเร่งถอน Carry Trade ในตลาดที่ได้กำไร เพื่อนำไปชดเชยตลาดอื่นที่ขาดทุน ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าการถอน Carry Trade จะยังเกิดขึ้นต่อไป

เงินเยนเคยอ่อนค่ามากที่สุด 161.96 เยนต่อดอลลาร์ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม อ่อนค่ามากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นนับจากปี 1986 ก่อนจะดีดกลับมาแข็งค่า 144.52 เยนต่อดอลลาร์ ในวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่นขึ้นดอกเบี้ยเป็นรอบที่สอง ไปอยู่ที่ระดับ 0.25% จาก 0.1%

ผลจากการขึ้นดอกเบี้ยและเงินเยนแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ทำให้ดัชนีนิกเคอิ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ดิ่งลง 4,451.28 จุด หรือ 12.40% ปิดที่ 31,458.42 จุด มากที่สุดในประวัติศาสตร์ จากที่เคยขึ้นไปสูงสุด 42,426 จุด เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2024 ฉุดลากให้ตลาดหุ้นสหรัฐและทั่วโลกปรับตัวลงรุนแรงตามไปด้วย