ธุรกิจจากเมียนมาหลายแห่ง ต่างย้ายมาขยายกิจการในประเทศไทยกันมากขึ้น เนื่องด้วยอุปสงค์ผู้บริโภคชาวเมียนมาที่สูงขึ้น และสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในประเทศบ้านเกิดที่กำลังเสื่อมถอย
วันที่ 9 สิงหาคม 2024 นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่ามีธุรกิจจากเมียนมาจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ กำลังตั้งร้านค้าและร้านอาหารขึ้นในประเทศไทย เพื่อขายอาหารและเสื้อผ้าแก่ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจากประเทศของพวกเขา ที่ซึ่งมีความขัดแย้งอันยืดเยื้อ และการบังคับเกณฑ์ทหารทั้งหญิงและชายเมื่อต้นปีนี้
นิกเคอิ เอเชียอ้างอิงจากหลายแหล่งข่าวที่มีความคุ้นเคยกับชุมชนธุรกิจในเมียนมา ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา ฐานที่มั่นของธุรกิจหลายสิบแห่งสร้างขึ้นได้ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมชาติที่อยู่ในประเทศไทย
เจ้าของธุรกิจที่ย้ายร้านโทรศัพท์มือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์จากเมียนมาสู่กรุงเทพ กล่าวกับทางนิกเคอิ เอเชียแบบไม่เปิดเผยตัวตนว่า สถานการณ์ในเมียนมาทำให้ทำธุรกิจได้ยากขึ้น เนื่องด้วยเงินเฟ้อและกฎเกณฑ์ทางการเงินที่ไม่แน่นอน ซึ่งประเทศไทยมีเสถียรภาพกว่ามาก ทั้งยังมีตลาดที่มีโอกาสเติบโตอีกด้วย
ไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดเป็นอันดับสองของอาเซียนและยังมีชายแดนติดกับเมียนมา ได้สร้างตลาดทางเลือกให้กับนักธุรกิจในเมียนมา ผู้ซึ่งกำลังมองหาการย้ายฐานการดำเนินงานและขยายเข้าสู่ตลาดใหม่
เชอร์รี่ อู (Cherry Oo) ร้านค้าปลีกนาฬิกาอายุเกือบ 40 ปีและมี 38 สาขาในเมียนมา เปิดสาขาแรกในกรุงเทพแล้วเมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา
ไข่ ไข่ จอ (Khaing Khaing Kyaw) เชนร้านอาหารเมียนมาต้นตำรับก็ได้ขยายสาขามาที่เมืองไทยเช่นกัน
จอ ชเว (Kyaw Shwe) ผู้จัดการของไข่ ไข่ จอ ให้สัมภาษณ์กับนิกเคอิ เอเชีย พูดถึงการเปิดสาขาที่สองในประเทศไทยว่าเป็นเพราะปริมาณความต้องการจากลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ทางร้านจึงตัดสินใจขยายสาขาเพิ่มอีกแห่งในเดือนมีนาคม
ก่อนหน้านี้ ไข่ ไข่ จอ เปิดสาขาแรกในไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน และในปัจจุบัน ทั้งสองสาขามียอดขายออกมาดี จอ ชเวเสริมว่าทางร้านมีแผนที่จะเปิดสาขาในเชียงใหม่และพัทยาอีกด้วย
ซู (Su) นักวิจัยชาวเมียนมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับทางนิกเคอิ เอเชียว่า ธุรกิจจากเมียนมาส่วนใหญ่ที่ขยายกิจการมายังประเทศไทย ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อทำกำไรในทันที แต่เป็นการปกป้องสินทรัพย์ทางการเงินของธุรกิจ จากการสร้างรากฐานที่มั่นคงและเคลื่อนย้ายทรัพย์สินมายังที่ปลอดภัย
ซูเสริมอีกว่า หลายเดือนมานี้ บรรดาธุรกิจต่าง ๆ ก็ได้เห็นปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากฝั่งผู้บริโภคชาวเมียนมาในไทยด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีสถิติระบุจำนวนชาวเมียนมาในไทยออกมาอย่างเป็นทางการ
แต่จากรายงานของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 ระบุว่า ชาวเมียนมาที่อพยพโยกย้ายถิ่นฐานอย่างปกติ (regular migration) กล่าวคือเคลื่อนย้ายโดยถูกต้องตามกฎหมาย และอาศัยในไทยเมื่อเดือนเมษายน 2023 คาดการณ์ไว้อยู่ที่ 1.9 ล้านคน
นอกจากนี้ รายงานของสหประชาชาติยังย้ำอีกว่า ประมาณการล่าสุดหลังการรัฐประหารของกองทัพในเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 บ่งชี้ว่าผู้อพยพจากเมียนมาราว 5 ล้านคน (ทั้งที่มีเอกสารและไม่มีเอกสาร) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
ข้อบังคับเกณฑ์ทหารที่ร่างโดยกองทัพเมื่อต้นปีนี้ เป็นตัวกระตุ้นล่าสุดที่ทำให้บรรดาคนหนุ่มสาวทำการอพยพครั้งใหญ่ ส่งผลให้ชุมชนและผู้บริโภคชาวเมียนมาในไทยเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ร้านอาหารเมียนมาไปจนถึงร้านโทรศัพท์มือถือและเครื่องใช้ไฟฟ้า บรรดาธุรกิจหลายเจ้าต่างไล่ตามลูกค้าผู้มีอุปสงค์ในสินค้าที่พวกเขาคุ้นเคย
ทั้งนี้ การย้ายที่ตั้งธุรกิจมาสู่ประเทศไทยยังสะท้อนถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เลวร้ายในเมียนมา
ไม่กี่สัปดาห์มานี้ คณะรัฐบาลทหารได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบเจ้าของกิจการ บรรดาผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ธนาคารพยายามควบคุมเงินเฟ้อ จ๊าตสกุลเงินของพม่าที่อ่อนค่าลงเป็นหนึ่งในปัจจัยทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น
อัตราแลกเปลี่ยนตกลงจาก 5,500 จ๊าตต่อหนึ่งดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว เหลือเพียง 3,300 ต่อหนึ่งดอลลาร์เท่านั้น ซึ่งทำให้ค่าครองชีพและต้นทุนในการทำธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น
เซน เธ (Sein Htay) นักเศรษฐศาสตร์และอดีตสมาชิกคณะกรรมการเศรษฐกิจของสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) พรรครัฐบาลของอองซานซูจีที่ถูกรัฐประหาร กล่าวกับทางนิกเคอิ เอเชียว่า เมียนมามีการผลิตภายในประเทศลดลงเพราะต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้น และเครือข่ายการกระจายสินค้าที่ล่าช้า
เซน เธมองภาพรวมเศรษฐกิจของเมียนมาแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ และอำนาจซื้อของผู้บริโภคกำลังเสื่อมถอย โดยเฉพาะหลังจากสงครามกลางเมืองที่ยกระดับขึ้นเมื่อปลายปีก่อน ซึ่งทำให้ราคาเพิ่มขึ้นอย่างมากจนลดอุปสงค์ในตลาด การบริโภคกำลังหดตัว เห็นได้จากตัวชี้วัดอำนาจการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ตกลงชัดเจน
รายงานล่าสุดของธนาคารโลก (World Bank) ในเดือนมิถุนายน คาดการณ์ว่า อัตราความยากจนของประชากรในปี 2023 ทะยานขึ้นเป็น 32.1% เพิ่มขึ้นเกือบเป็นสองเท่าของ 17.4% เมื่อปี 2020 หนึ่งปีก่อนที่กองทัพจะขับไล่พรรครัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้ง
ทั้งความเสื่อมถอยของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ตลอดจนอำนาจการใช้จ่ายที่ลดลง การเพิ่มขึ้นของผู้บริโภคชาวเมียนมาในประเทศไทยและความต้องการย้ายสินทรัพย์ไปยังที่ปลอดภัย ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ก่อให้เกิดแนวโน้มขยายกิจการในประเทศไทยที่มากขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญบางรายเชื่อว่าการขยายกิจการจากเมียนมาจะส่งผลดีต่อประเทศไทย
ศิรดา เขมานิฏฐาไท อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่าการดำเนินร้านค้าและอาหารเมียนมาในไทยที่เพิ่มขึ้น สามารถส่งผลดีต่อห่วงโซ่อุปทานของไทยและเพิ่มรายได้ภาษีให้กับรัฐบาล
ศิรดายังเชื่ออีกด้วยว่า กิจการเหล่านี้ไม่ถือเป็นภัยคุกคามในความเห็นของสาธารชนชาวไทย เนื่องจากต้องดำเนินกิจการภายใต้เงื่อนไขและการลงทะเบียนของไทย