ปัญหา “บังกลาเทศ” สะเทือนทั่วเอเชียใต้

BANGLADESH
Protesters shout slogans as they vandalise a mural of Bangladeshi Prime Minister Sheikh Hasina with paint and mud, demanding her resignation at Teacher Student Center (TSC) area of University of Dhaka in Dhaka, Bangladesh, August 3, 2024. REUTERS/Mohammad Ponir Hossain
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เมื่อสถานการณ์ถึงจุดคับขัน ชีค ฮาซินา นายกรัฐมนตรี วัย 76 ปี ที่ปกครองบังกลาเทศมาร่วม 15 ปี ตัดสินใจขอลี้ภัยฉุกเฉินไปยังทางการอินเดีย และได้รับการตอบรับด้วยดี

เธอเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ ไปยังสนามบินทหารแห่งหนึ่งนอกกรุงนิวเดลี เพื่อตั้งหลักก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม ว่ากันว่าเป็นชาติในยุโรป เพื่อขอลี้ภัยอย่างเป็นทางการต่อไป

ทั้งหมดนั่นไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างอินเดียและบังกลาเทศ แต่ยังเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่า ทำไมบังกลาเทศถึงได้กลายเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดของอินเดียในช่วงที่ผ่านมา สำหรับสินค้าและบริการหลายชนิด ตั้งแต่ใยฝ้ายเรื่อยไปจนถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ

บังกลาเทศยังเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้การค้าภายในอนุภูมิภาคอ่าวเบงกอลที่กำลังจะตายแหล่มิตายแหล่ กลับฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง และกลายเป็นหัวใจหลักของเส้นทางการค้าระหว่างอินเดียกับบรรดาชาติในริมขอบมหาสมุทรแปซิฟิก

บังกลาเทศคือประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียในภูมิภาคเอเชียใต้ ในขณะที่อินเดีย คือประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของบังกลาเทศ รองลงมาจากจีน

ในช่วงปี 2023-2024 อินเดียส่งสินค้าออกไปยังบังกลาเทศลดลงจากช่วงปี 2022-2023 เล็กน้อย จาก 12,210 ล้านดอลลาร์ มาอยู่ที่ 11,000 ล้านดอลลาร์ การนำเข้าก็ทำนองเดียวกัน คือลดลงจาก 2,000 ล้านดอลลาร์ มาอยู่ที่ราว 1,840 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าออกที่บังกลาเทศส่งไปขายให้อินเดียกว่าครึ่งเป็นสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป

Advertisment

พิศวาจิต ธาร นักวิชาการจากสภาเพื่อการพัฒนาสังคมในอินเดีย ชี้ว่า ด้วยเหตุนี้ ทางการอินเดียสนับสนุนชีค ฮาซินา ในทุก ๆ ทาง ให้ทุกอย่างที่ผู้นำบังกลาเทศต้องการ แม้จะหมายถึงการโกงการเลือกตั้งเพื่อการอยู่รอดทางการเมือง เหมือนที่ชีค ฮาซินา ถูกกล่าวหาในการเลือกตั้งเมื่อต้นปีนี้ก็ตามที

สถานการณ์ไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่บางคนเรียกว่าเป็น “มวลชนปฏิวัติ” ในบังกลาเทศ จึงกระทบต่ออินเดียอย่างหนัก ไม่เพียงในด้านเศรษฐกิจ หากแต่ยังรวมไปถึงด้านความมั่นคงอีกด้วย

Advertisment

ไม่เพียงเท่านั้น เหตุการณ์นี้ยังสะเทือนต่อเป็นระลอกไปทั่วภูมิภาคเอเชียใต้ เนื่องจากความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอินเดียกับบังกลาเทศ คือแกนหลักในการรวมกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคอ่าวเบงกอลขึ้นมา

เมื่อปีที่แล้ว บังกลาเทศเปิดท่าเรือจิตตะกอง และมงคลา ให้อินเดียแวะเทียบท่าและขนถ่ายสินค้า ลดทอนทั้งเวลาและต้นทุนในการส่งสินค้าจากรัฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการพัฒนาเส้นทางทางหลวงสายเอเชีย (ผ่านเมียนมา) หรือทางเรือ หรือแม้กระทั่งทางเครื่องบินก็ตามที

การค้าที่มีอนาคตสดใสระหว่างอินเดียกับบังกลาเทศ จึงกลายเป็นฐานที่มั่นคงของกลุ่มประเทศที่เรียกตัวเองว่า “ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ” หรือ “บิมสเทค” รวม 7 ประเทศ คือ ไทย เมียนมา ศรีลังกา บังกลาเทศ อินเดีย ภูฏาน และเนปาล ที่วาดฝันว่าสักวันหนึ่งจะกลายเป็น “เขตการค้าเสรี” ขึ้นมา

บิมสเทคกำหนดจัดประชุมระดับผู้นำขึ้นที่เมืองไทยในเดือนหน้านี้ แต่ในตอนนี้ ทุกอย่างกลายเป็นไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในบังกลาเทศเท่านั้น

ในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจของบังกลาเทศรุดหน้าอย่างน่าสนใจ จีดีพีโดยเฉลี่ยขยายตัวถึงปีละ 6.25 เปอร์เซ็นต์ บรรดานักลงทุน ทั้งจากจีนและอินเดียแห่กันเข้ามาลงทุน ปัญหาก็คือ ตัวเลขดังกล่าวกลบปัญหาที่แท้จริง ซึ่งหยั่งรากลึกอยู่ในสังคมไปจนหมด นั่นคือ ความเหลื่อมล้ำ และความยากจน

ประชาชนส่วนหนึ่งของบังกลาเทศยังอยู่ในสภาพยากจนสุดขีด ประชากรวัยหนุ่มสาว ระหว่าง 15-24 ปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ ยังไม่มีงานทำอยู่มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์

นี่ไม่ใช่ปัญหาผิวเผินที่รัฐบาลรักษาการจะสามารถใช้เวลาชั่วพริบตาแก้ไขได้ ที่สำคัญก็คือ ภารกิจหลักของรัฐบาลรักษาการ เป็นเพียงแค่การฟื้นฟูกฎระเบียบ ความสงบเรียบร้อย แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นใหม่อย่างเสรี และเป็นธรรม เท่านั้น

แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ยังไม่มีใครแน่ใจได้ว่า รัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังช่วงเปลี่ยนผ่าน จะมีเสถียรภาพและศักยภาพมากพอที่จะแก้หรือบรรเทาปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่

ในยามนี้ ทุกอย่างยังคงล่องลอยอยู่ในสายลมเท่านั้น