
ข้อมูลเผยแพร่ครั้งแรก 3 เมษายน 2025 เวลา 07.42 น.และอัพเดตล่าสุดเวลา 15.00 น.
ทรัมป์ประกาศเรียกเก็บภาษีขั้นต่ำ 10 % กับประเทศที่ส่งออกทั้งหมด และเก็บเพิ่มในอัตราที่สูงขึ้นกับราว 60 ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐมากที่สุด ไทยและจีนโดนหนักที่ 37 % และ 54% ตามลำดับ
รอยเตอร์ (Reuters) และบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า เมื่อวันพุธที่ 2 เมษายน เวลาท้องถิ่น หรือวันที่ 3 เมษายนเวลาไทย ที่สวนกุหลาบ ทำเนียบขาว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐประกาศว่า สหรัฐจะใช้ภาษีศุลกากรขั้นต่ำ 10% กับผู้ส่งออกทั้งหมดไปยังสหรัฐและกำหนดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมกับประเทศต่างๆ ประมาณ 60 ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐมากที่สุด ซึ่งรวมถึงอัตราภาษีที่สูงขึ้นอย่างมากกับคู่ค้ารายใหญ่บางรายของประเทศ เช่น จีน (ซึ่งทำให้ขณะนี้โดนภาษีอย่างน้อย 54% สำหรับสินค้าหลายรายการ) รวมถึงสหภาพยุโรปและเวียดนาม ขณะที่ไทยจะโดนเก็บที่อัตรา 37 %
การที่สหรัฐจะจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทั้งหมดในอัตราพื้นฐาน 10 % และจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นกับประเทศอื่นๆ อีกหลายสิบประเทศ รวมไปถึงพันธมิตรทางการค้ารายใหญ่บางรายของสหรัฐ นับเป็นความเคลื่อนไหวที่จะทำให้สงครามการค้ารุนแรงขึ้น ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับตลาดโลกและพันธมิตรของสหรัฐสับสน
อัตราภาษีแบบต่างตอบโต้ (reciprocal tariffs) ที่สูงขึ้นซึ่งกำหนดประเทศที่รัฐบาลทรัมป์ระบุว่าเป็นผู้กระทำผิดมากที่สุดนั้นขึ้นอยู่กับการนับภาษีและอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรที่ประเทศเหล่านั้นเรียกเก็บกับสินค้าของสหรัฐก่อน ซึ่งตามแผนของทรัมป์ ประเทศที่เผชิญกับอัตราภาษีที่สูงกว่าอัตราฐาน 10 % จะถูกเรียกเก็บภาษีเท่ากับครึ่งหนึ่งของอัตราที่คำนวณได้
ด้วยสูตรการคำนวณดังกล่าว ทำให้การนำเข้าสินค้าจากจีนจะถูกจัดเก็บภาษี 34% เพิ่มเติมจาก 20% ที่เคยจัดเก็บไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้อัตราการจัดเก็บภาษีใหม่รวมเป็น 54% พันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน รวมถึงสหภาพยุโรป ซึ่งเผชิญกับอัตราการจัดเก็บภาษี 20% และญี่ปุ่น ซึ่งถูกเก็บภาษี 24%
สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม 46 % ไทย 37 % อินโดนีเซีย 32 % มาเลเซีย 24 % กัมพูชา 49 % สิงคโปร์ 10 % ฟิลิปปินส์ 18 % เมียนมา 45 % ลาว 48 % และบรูไน 24 %
เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวว่า การปรับขึ้นภาษีที่สูงขึ้นนอกเหนือจากภาษีอัตราพื้นฐานจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายนนี้ และจะใช้กับประเทศต่างๆ ประมาณ 60 ประเทศรวมถึงไทย ส่วนภาษีพื้นฐาน 10% จะมีผลบังคับใช้ในวันเสาร์ที่ 5 เมษายนนี้
ทรัมป์กล่าวว่าภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) เป็นการตอบสนองต่อภาษีและอุปสรรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษีที่บังคับใช้กับสินค้าของสหรัฐ โดยทรัมป์โต้แย้งว่าการจัดเก็บภาษีใหม่จะช่วยเพิ่มการจ้างงานในภาคการผลิตของประเทศ
ทรัมป์กล่าวในงานที่สวนกุหลาบในทำเนียบขาวอีกว่า เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ประเทศของเราถูกปล้น ปล้นสะดม ข่มขืน และปล้นสะดมโดยประเทศต่างๆ ทั้งใกล้และไกล ทั้งที่เป็นทั้งมิตรและศัตรู
นักเศรษฐศาสตร์ภายนอกสหรัฐเตือนว่าภาษีอาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย และเพิ่มค่าครองชีพสำหรับครอบครัวชาวอเมริกันโดยเฉลี่ยหลายพันดอลลาร์
แคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่สองรายของสหรัฐถูกเก็บภาษี 25% สำหรับสินค้าหลายรายการอยู่แล้ว และจะไม่ถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมจากการประกาศล่าสุดนี้
ตามเอกสารทำเนียบขาว ภาษีศุลกากรต่างตอบโต้จะไม่ใช้กับสินค้าบางประเภท เช่น ทองแดง ยา สารกึ่งตัวนำ ไม้ ทองคำ พลังงาน และ “แร่บางชนิดที่ไม่มีจำหน่ายในสหรัฐฯ”
หลังจากการประกาศ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งปิดช่องโหว่ทางการค้าที่ใช้ในการส่งพัสดุมูลค่าต่ำ ซึ่งมีมูลค่า 800 ดอลลาร์ หรือราว 27,000 บาทหรือต่ำกว่าโดยไม่ต้องเสียภาษีจากจีน ซึ่งเรียกว่า “de minimis” คำสั่งยกเลิกกฎนี้ครอบคลุมสินค้าจากจีนและฮ่องกง และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 พฤษภาคม
หมายเหตุ อินโฟกราฟิกแสดงรายประเทศที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีต่างตอบโต้ โดยแสดงอัตราภาษีที่ประเทศต่างๆเรียกเก็บกับสินค้าสหรัฐ ทั้งภาษีตัวเงินและอุปสรรคอื่นๆที่ไม่ใช่ภาษีตัวเงิน (ช่องสีฟ้า/ขาว) และอัตราภาษีต่างตอบโต้จากฝ่ายสหรัฐหลังสหรัฐลดให้แล้ว (ช่องสีเหลือง) ทั้งนี้ อัตราภาษีทั้งสองช่องคำนวณโดยฝ่ายสหรัฐ ตามสูตรของสหรัฐเองด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลอัตราภาษีต่างตอบโต้ของไทยตามชาร์ตที่ทำเนียบขาวเผยแพร่ระบุว่า อัตราอยู่ที่ 36% แต่ข้อมูลตามภาคผนวก Annex I (คลิกดูรายละเอียด) ของ Executive Order (EO) ระบุอัตราภาษีต่างตอบโต้ของไทยอยู่ที่ 37% ซึ่งทำให้ต้องยึดตามภาคผนวกดังกล่าว
ขอบคุณภาพจาก ทำเนียบขาว ผ่านทาง CNBC