แรงงานเมียนมาในญี่ปุ่นเพิ่มสูง เหตุคนหนุ่มสาวหนีความไม่สงบในประเทศ

Lawson ที่กรุงโตเกียว
Lawson ที่กรุงโตเกียว

หนุ่มสาวชาวเมียนมาแห่ย้ายมาเป็นแรงงานในญี่ปุ่นมากขึ้น หลังต้องหลบหนีความวุ่นวายในประเทศหลังการรัฐประหารของกองทัพ

นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า หนุ่มสาวชาวเมียนมาหนีความวุ่นวายในประเทศ จากความไม่สงบหลังการรัฐประหารในปี 2021 เข้ามาเป็นแรงงานในญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 60% ในรอบปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นกำลังสำคัญในภาคการผลิต และการพยาบาล สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นทีละน้อย

อ่อง กอง จอ (Aung Kaung Kyaw) พนักงานพาร์ตไทม์วัย 25 ปี ผู้ทำงานที่ร้านสะดวกซื้อลอว์สัน (Lawson) ในเขตมินาโตะของกรุงโตเกียว เป็นเวลา 3 วันต่อสัปดาห์ ผู้เข้ามาในญี่ปุ่นเมื่อปีที่ผ่านมา และกำลังอยู่ในโรงเรียนสอนภาษา กล่าวถึงสาเหตุในการตัดสินใจย้ายประเทศว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ พร้อมแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา

ปัจจุบันมีแรงงานต่างชาติทำงานที่ลอว์สันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในเดือนพฤศจิกายน 2024 มีชาวต่างชาติคิดเป็นร้อยละ 14 ของพนักงานพาร์ตไทม์ประจำร้านทั่วประเทศ และเป็นชาวเมียนมาประมาณ 2,000 คน มากเป็นอันดับ 6 ของแรงงานต่างชาติเมื่อจำแนกตามสัญชาติ

มีชาวเมียนมาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น 134,574 คน ณ ระดับเมื่อสิ้นปี 2024 เพิ่มขึ้น 55.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 13 เท่าเมื่อเทียบกับทศวรรษก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วน 3.6% ของประชากรชาวต่างชาติ แต่มีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงแซงหน้าชาวต่างชาติอื่น ๆ

หนุ่มสาวชาวเมียนมาจำเป็นต้องลี้ภัยจากความไม่สงบหลังการก่อรัฐประหาร ต่างจากผู้อพยพสัญชาติอื่น ๆ ในเอเชีย เช่น จีนและเวียดนาม ที่ล้วนขยับเข้ามาในญี่ปุ่นจากความสำเร็จทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมือง

ด้วยความขัดแย้งของกองกำลังทหารและกลุ่มต่อต้านทหาร รวมถึงกองกำลังชาติพันธุ์ติดอาวุธที่ยังดำเนินต่อไป ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) มองว่าเมียนมาต้องเผชิญความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ซึ่งหดตัวลง 0.7% ในปี 2024 และอาจตกต่ำมากขึ้น หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเดือนมีนาคม

ADVERTISMENT

ในปี 2024 รัฐบาลกองทัพเรียกเกณฑ์กำลังทหารจากชายที่อายุระหว่าง 18 ถึง 35 ปี และผู้หญิงอายุ 18 ถึง 27 ปี เพื่อร่วมรบกับกลุ่มต่อต้าน ทำให้คนหนุ่มสาวเป็นจำนวนมากหลบหนีมายังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทย สิงคโปร์ ตลอดจนย้ายไปญี่ปุ่น

ชาวเมียนมาส่วนใหญ่เข้ามาฝึกงานและฝึกปฏิบัติงานเทคนิค เพื่อมีทักษะอาชีพโดยตรง หรือบางคนก็เข้ามาด้วยวีซ่าแรงงานทักษะสูง ซึ่งในเดือนตุลาคม 2024 มีชาวเมียนมาฝึกงานเทคนิค 33,878 คน และมีชาวเมียนมาที่ถือวีซ่าแรงงานทักษะสูง 21,981 คน

ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นเองจำเป็นต้องพึ่งแรงงานชาวเมียนมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ จากภาวะขาดแคลนแรงงาน และปัญหาประชากรสูงวัย รวมถึงอัตราการเกิดต่ำ ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศเอเชียอื่น ๆ กำลังเติบโต ทำให้ญี่ปุ่นต้องสูญเสียแรงดึงดูดแรงงานต่างชาติเข้ามาในประเทศไป