IMF ปรับลดจีดีพีโลก 2020 แฉ ‘อินเดีย’ ปมปัญหาใหม่

AFP PHOTO/YURI GRIPAS (Photo by Yuri GRIPAS / AFP)

เศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2019 ชะลอตัวลงจากการปะทุของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งการบรรลุข้อตกลงการค้า “เฟสแรก” ของทั้งสองประเทศสร้างมุมมองด้านบวกต่อเศรษฐกิจโลกส่งผลให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2020 จะเริ่มฟื้นตัว

อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเต็มไปด้วยความเปราะบางจากปัญหาต่าง ๆ ที่สั่งสมตั้งแต่ปี 2019 รวมถึงความท้าทายใหม่ ๆ ที่ก่อตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2020 เช่น เหตุการณ์สังหารนายพลโซเลมานีของอิหร่านและการระบาดของโคโรนาไวรัส เป็นต้น

รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งเปิดเผยเมื่อ 20 ม.ค. 2020 ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลกปี 2020 ลงเหลือ 3.3% จากที่คาดการณ์ไว้เมื่อ ต.ค. 2019 ที่ระดับ 3.4% ซึ่งไอเอ็มเอฟระบุว่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของกลุ่มประเทศ “ตลาดเกิดใหม่” โดยเฉพาะ “อินเดีย” อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวจากปี 2019 ซึ่งไอเอ็มเอฟประเมินว่าจะขยายตัวเพียง 2.9%

กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่กำลังเผชิญปัญหารุมเร้าที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่ละภูมิภาค โดยไอเอ็มเอฟ ระบุว่า ภูมิภาคละตินอเมริกาก็กำลังเผชิญกับปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ในหลายประเทศนับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการณ์เติบโตเศรษฐกิจของภูมิภาคลง 0.2% ขณะที่ตะวันออกกลางเผชิญกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น ภายหลังการสังหารนายพลโซเลมานี ซึ่งอาจส่งผลต่อการผลิตน้ำมันที่เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ดังนั้นไอเอ็มเอฟจึงปรับลดคาดการณ์

การเติบโตเศรษฐกิจภูมิภาคตะวันออกกลางลง 0.1% นอกจากนี้แอฟริกาซึ่งเป็นทวีปแห่งอนาคตถูกปรับลดคาดการณ์ลง 0.1% จากภาวะชะลอตัวของประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของแอฟริกา

สำหรับ “อินเดีย” ประเทศที่ไอเอ็มเอฟระบุว่า มีส่วนกับการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกมากที่สุด โดยคาดการณ์การเติบโตจีดีพีของอินเดียถูกปรับลดถึง 1.2% โดยอินเดียเผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่องของภาคการเงิน อีกทั้งภาคธนาคารยังเผชิญกับปัญหาการผิดชำระหนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยแบงก์ชาติอินเดียระบุว่า หนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ในภาคธนาคารสูงถึง 9% ของสินเชื่อ โดยปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการปรับลดคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟ

นอกจากนี้อินเดียยังต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อโดยรอยเตอร์สรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อของอินเดีย เมื่อ ธ.ค. 2019 พุ่งขึ้นถึง 7.35% ซึ่งสูงกว่าเพดานของธนาคารกลางอินเดียกำหนดไว้ที่ระดับ 6% ส่งผลต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายเพื่อพยุงภาคการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะที่จีนเพิ่งลงนามข้อตกลงการค้ากับสหรัฐเมื่อ 15 ม.ค. 2020 ส่งผลให้ไอเอ็มเอฟปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจจีน 0.2% อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟประเมินว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าปี 2020 เติบโต 6.0% และปี 2021 เติบโต 5.8% สอดคล้องกับแนวคิด “ไชน่า นิว นอร์มอล” กล่าวคือ จีนจะไม่เติบโตในอัตราที่น่าประทับใจเหมือนในอดีตและมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจีนยังเผชิญกับปัญหาภายในประเทศจากการสะสมหนี้สินทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจจำนวนมหาศาล และการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสในขณะนี้ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจกระหน่ำเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศตลาดเกิดใหม่ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลกจากอัตราการเติบโตจีดีพีสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้นหากปัญหาต่าง ๆ บานปลายยิ่งขึ้นย่อมส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศเหล่านี้ชะลอตัวลง และส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2020