สหรัฐ “ถล่มค่าเงิน” ฮ่องกง คำขู่ไร้เขี้ยวเล็บ-หยิกจีนแต่มะกันเจ็บ

ชีพจรเศรษฐกิจโลก โดย นงนุช สิงหเดชะ

สัปดาห์ก่อนมีรายงานข่าวปรากฏออกมาทางสื่ออเมริกันอย่างบลูมเบิร์กว่า ที่ปรึกษาระดับสูงบางคนของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมเสนอให้มีการโจมตีค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกง ด้วยวิธีจำกัดความสามารถของธนาคารฮ่องกงในการเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อตอบโต้กรณีจีนออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่มาใช้ในฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม มีบางคนในคณะรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะเกรงว่าจะส่งผลเสียต่อธนาคารฮ่องกง และสหรัฐมากกว่า แต่ไม่ส่งผลอะไรต่อจีน ดังนั้นแนวคิดนี้จึงไม่ถูกส่งผ่านขึ้นไปยังบุคคลระดับสูงในทำเนียบขาว

เงินดอลลาร์ฮ่องกงผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐมานาน 37 ปีแล้ว โดยมีช่วงเคลื่อนไหวอยู่ที่ 7.75-7.85 ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม หลังจากจีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ในฮ่องกง ก็เกิดข่าวลือเกี่ยวกับชะตากรรมของดอลลาร์ฮ่องกงว่าจะยังผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐหรือไม่ ในเมื่อสหรัฐได้เพิกถอนสถานะพิเศษทางเศรษฐกิจที่เคยมอบให้ฮ่องกงแล้ว ซึ่งประเด็นนี้รัฐมนตรีคลังฮ่องกงให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ไม่มีแผนจะเปลี่ยนการผูกติดค่าเงินกับดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับวิธีการเล่นงานค่าเงินฮ่องกง หากว่าสหรัฐจะลงมือจริง ๆ นั้น นักวิเคราะห์ชี้ว่า อาจทำได้โดยการลดหรือยกเลิกวงเงินสวอป (swap lines) ที่เปิดให้กับธนาคารฮ่องกง การทำเช่นนี้จะลดความสามารถของธนาคารฮ่องกงในการซื้อและขายดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าการเล่นงานค่าเงินฮ่องกงจะไม่ได้ผล เช่น ทีมนักวิเคราะห์ ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ Amundi ระบุว่า ไม่คุ้มค่าอะไรเลยที่จะเล่นงานฮ่องกง เพราะฮ่องกงมีอิสระที่จะออกแบบระบบอัตราแลกเปลี่ยนของตัวเอง หรือหากสหรัฐจะจำกัดฮ่องกงในการซื้อดอลลาร์สหรัฐ แต่ฮ่องกงก็มีความสามารถเหลือล้นที่จะปกป้องค่าเงินของตัวเอง เพราะมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศถึง 4.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่าฐานเงิน (monetary base) ของฮ่องกง ถึง 2 เท่า

นอกจากนั้น ธนาคารฮ่องกงสามารถร้องขอไปยังธนาคารกลางของจีน เพื่อขอยืมดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากปัจจุบันธนาคารกลางจีนมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงที่สุดในโลก 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

“หากสหรัฐเลือกใช้วิธีห้ามฮ่องกงเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าเป็นการเลือกใช้ระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งความเสียหายจะสูงมาก และอาจจะทำลายระบบการเงินโลก รวมทั้งของสหรัฐเองด้วย” นักวิเคราะห์ของ Amundi ระบุ

ทางด้านทีมนักยุทธศาสตร์ของธนาคารดีบีเอสสิงคโปร์ชี้ว่า สหรัฐคงทำอะไรฮ่องกงไม่ได้มากนัก เพราะฮ่องกงใช้ระบบ linked exchange rate system ซึ่งกำหนดช่วงซื้อขายและระบบเงินตรามาตั้งแต่ปี 1983 ก่อนที่สหรัฐจะมอบสถานะพิเศษให้ฮ่องกงเสียอีก อีกประการหนึ่งภายใต้รัฐบัญญัติว่าด้วยความสัมพันธ์สหรัฐ-ฮ่องกง ปี 1992 มีอนุมาตราหนึ่งระบุว่า สหรัฐจะยินยอมให้ดอลลาร์สหรัฐถูกแลกเปลี่ยนอย่างเสรีกับดอลลาร์ฮ่องกงต่อไป

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากการที่ฮ่องกงมีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศใหญ่อันดับ 3 ของโลก รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการเงินโลกที่เกี่ยวโยงอย่างมากกับระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่สหรัฐจะปฏิเสธไม่ให้ฮ่องกงเข้าถึงระบบเคลียริ่งของดอลลาร์สหรัฐ

โดยระบบ linked exchange rate system ของฮ่องกง ถูกออกแบบมาเพื่อให้การเคลื่อนไหวของค่าเงินฮ่องกงมีความยืดหยุ่น สามารถรองรับวิกฤตการเงินได้ โดยจะรักษากรอบการซื้อขายไว้ที่ 7.75-7.85 ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ หากค่าเงินเคลื่อนไหวหลุดกรอบด้านใดด้านหนึ่ง ก็จะเข้าแทรกแซงทันที

อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐอย่างต่อเนื่อง แต่ความต้องการเงินดอลลาร์ฮ่องกงพุ่งขึ้นสูงในปีนี้ เพราะมีเงินทุนไหลเข้า ทำให้ดอลลาร์ฮ่องกงแข็งค่าจนไปชนกรอบด้านแข็งสุดที่ 7.75 ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ กระทั่งธนาคารกลางฮ่องกงต้องเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างน้อย 23 ครั้งแล้ว นับจากต้นเดือนมิถุนายน

ฟิลิป วี นักกลยุทธ์อัตราแลกเปลี่ยนของดีบีเอสชี้ว่า การที่ธนาคารกลางฮ่องกงเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนหลายครั้ง เป็นเพราะมีบริษัทขนาดใหญ่อย่างเช่น Netease และ JD.com เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง วงเงินระดมทุน 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง และ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกงตามลำดับ อันเป็นสิ่งพิสูจน์ว่า ฮ่องกงยังสามารถดึงดูดนักลงทุนในฐานะศูนย์กลางการเงินโลก