วิกฤต (ราคา) อาหารในจีน โจทย์ท้าทายเศรษฐกิจระยะฟื้นตัว

(Photo by STR / AFP) / China OUT

ความมั่นคงทางอาหารเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยหลายประเทศเสี่ยงที่จะประสบภาวะขาดแคลนอาหาร แม้แต่ประเทศที่มีจำนวนประชากรมหาศาลอย่าง “จีน” ก็เผชิญภาวะราคาอาหารพุ่งสูงอย่างต่อเนื่องในขณะนี้

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุว่า ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ราคาสินค้าประเภทอาหารในจีนพุ่งสูงขึ้นถึง 11.1% จากปี 2019 สอดคล้องกับตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์จีนที่ชี้ว่า ราคาผลิตภัณฑ์การเกษตรระหว่างวันที่ 29 มิ.ย.-5 ก.ค. เพิ่มขึ้น 1.2% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

สาเหตุที่ทำให้ราคาอาหารของจีนเพิ่มขึ้น เป็นผลจากโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตอาหารในวงกว้าง หลังจากรัฐบาลจีนใช้มาตรการล็อกดาวน์หลายพื้นที่เป็นเวลาหลายเดือน

“เกา ฮวน” ผู้อำนวยการของบริษัทที่ปรึกษาอัลวาเรซ แอนด์ มาร์ซัล ระบุว่า “ราคาอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของอุปทานผู้จำหน่าย ขณะที่อุปสงค์ของผู้บริโภคยังคงสูง” โดยบริษัทวิจัยข้อมูลธุรกิจของจีน Qichacha ระบุว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2020 มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารของจีนปิดบริการชั่วคราวและเลิกกิจการถาวรถึง 105,800 ราย ในขณะที่ผู้บริโภคยังคงต้องการซื้ออาหารต่อเนื่อง โดยหันไปซื้อออนไลน์มากขึ้น

นอกจากนี้ สถานการณ์ราคาอาหารของจีนยังถูกซ้ำเติมจากเหตุภัยพิบัติธรรมชาติล่าสุด โดยสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุอุทกภัยในพื้นที่ 27 มณฑลของจีน และคาดว่าสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 86,160 ล้านหยวน

“ถิง ลู่” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีน จากบริษัทหลักทรัพย์โนมูระระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI inflation) ในเดือน ก.ค.จะปรับตัวขึ้น 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ผลจากสถานการณ์น้ำท่วมทางตอนใต้ของจีน ซึ่งจะยิ่งทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น โดยเฉพาะเนื้อหมู เนื่องจากฟาร์มหมูได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งก่อนหน้านี้ราคาเนื้อหมูในจีนก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ราคาเนื้อหมูในจีนเพิ่มขึ้นถึง 81.6% จากปี 2019

แม้ว่ารัฐบาลจีนจะมีการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ตามข้อมูลของสำนักงานศุลกากรจีนระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2020 มีการนำเข้าเนื้อหมูเพิ่มขึ้นถึง 140% จากปี 2019 รวมถึงการนำเข้าเนื้อวัวเพิ่มขึ้น 17.9% และนำเข้าถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นอีก 17.9%

ปัญหาภัยพิบัติที่กำลังซ้ำเติมจีนอยู่ในขณะนี้ อาจส่งผลให้จีนต้องทบทวนนโยบายความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ และจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญของรัฐบาลจีนในการบริหารจัดการประเทศในการฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19