สัญญาณผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของ ‘โควิด-19’

ช่วยกันคิด

ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ, ณภัทร เจียวิริยบุญญา 
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค 
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

เป็นที่ทราบดีว่าการระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา จากการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร จึงเริ่มมีข้อสงสัยว่าผลกระทบจากการระบาดในครั้งนี้จะมีมากน้อยเพียงใด

หนึ่งในเครื่องชี้เศรษฐกิจที่ช่วยในการติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรมเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วในขณะนี้ คือ Facebook Movement Range และ Google Mobility Index

Facebook Movement Range เป็นข้อมูลการเคลื่อนที่ของผู้ใช้งาน Facebook เมื่อเปรียบเทียบกับการเคลื่อนที่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ว่ามีเพิ่มขึ้นหรือลดลง คิดเป็นร้อยละเท่าใด ทั้งนี้ ฐานข้อมูลของ Facebook ให้ข้อมูลเป็นรายอำเภอในเกือบทุกอำเภอของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เพื่อความง่ายในการสื่อสาร ผู้เขียนจึงได้คำนวณโดยการเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักข้อมูลรายอำเภอตามจำนวนประชากรของกระทรวงมหาดไทย จากนั้นจึงสรุปข้อมูลเป็นจังหวัด ภูมิภาค และภาพรวมของทั้งประเทศตามลำดับ

หากแบ่งการระบาดของโควิด-19 เป็นระลอกที่ 1 ระลอกที่ 2 และระลอกที่ 3 ผลกระทบจากข้อมูลของ Facebook ชี้ให้เห็นว่า การเคลื่อนที่ของประชาชนทั่วไป (ผู้ใช้งาน Facebook) ลดลงอย่างมากถึงจุดต่ำสุดที่ระดับ -34% เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 และสามารถกลับขึ้นมาสู่ระดับปกติได้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน รวมเวลาประมาณ 4 เดือน

ส่วนการระบาดในระลอกที่ 2 ซึ่งเริ่มขึ้นหลังจากการพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2563 ทำให้การเคลื่อนที่ลดลงต่ำสุดที่ประมาณ 17% ในช่วงกลางเดือนมกราคม 2564 และกลับขึ้นสู่ระดับปกติได้ในช่วงต้นเดือนมีนาคม รวมเวลาประมาณ 2 เดือนเศษ

ซึ่งจะเห็นได้ว่าผลกระทบในระลอกที่ 2 มีความรุนแรงน้อยกว่าและมีระยะเวลาที่สั้นกว่าในระลอกที่ 1 สำหรับระลอกที่ 3 ซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 แต่เพิ่งส่งผลกระทบชัดเจนขึ้นตั้งแต่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา โดยข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 18 เมษายน 2564 การเคลื่อนที่ลดลง -13% ซึ่งยังถือว่าผลกระทบยังไม่รุนแรงเท่ากับในสองระลอกแรกที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของการแพร่ระบาดในปัจจุบันนี้ส่งผลแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนผู้ติดเชื้อในปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ทำให้การเคลื่อนที่ในกรุงเทพฯลดลงถึง -27% เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564 แต่ก็ยังไม่ถึงระดับต่ำสุดเมื่อช่วงสงกรานต์ปี 2563 ที่เคยลดลงถึงระดับ -37% แต่หากเป็นตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จะเห็นว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าภูมิภาคอื่น ๆ

ส่วน Google Mobility Index แสดงถึงการเรียกใช้งานแผนที่ของ Google ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการติดตามภาวะเศรษฐกิจและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยเครื่องชี้การเดินทางเพิ่มขึ้น/ลดลง ก็จะสื่อถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในการจับจ่ายใช้สอยที่น่าจะเพิ่มขึ้น/ลดลงเช่นกัน

ทั้งนี้ ในกรณีของ Google Mobility Index การเปรียบเทียบจะเป็นการเทียบกับค่าเฉลี่ยของการเรียกใช้แผนที่ในช่วงวันที่ 3 มกราคม ถึง 6 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากกรณีของ Facebook มากนัก

แต่ความแตกต่างของ Google Mobility Index อยู่ที่การรายงานในลักษณะที่เป็นภาพรวมของทั้งประเทศเท่านั้น ไม่ได้จำแนกตามพื้นที่เป็นรายจังหวัดหรืออำเภอ แต่สามารถบอกได้ว่าเป็นการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางประเภทใด ซึ่ง Google ได้จัดทำไว้เป็น 6 กลุ่ม

ได้แก่ ร้านค้าปลีก/ที่หย่อนใจ ร้านขายของชำ/ร้านขายยา สวนสาธารณะ สถานีขนส่ง ที่ทำงาน และที่พักอาศัย อย่างไรก็ตาม ในที่นี้เพื่อให้สื่อถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงนำมาแสดงเพียง 4 กลุ่ม ดังภาพ ได้แก่ ร้านค้าปลีก/ที่หย่อนใจ ร้านขายของชำ/ร้านขายยา สวนสาธารณะ และสถานีขนส่งเท่านั้นซึ่งจะเห็นได้ว่าผลกระทบในระลอกที่ 3 ยังคงน้อยกว่าในสองระลอกแรกเช่นกัน และเป็นที่สังเกตว่าการเดินทางเพื่อจับจ่ายใช้สอยของร้านค้าต่าง ๆ ยังคงสามารถขยายตัวเป็นบวกได้อยู่ อีกทั้งการเดินทางไปยังสวนสาธารณะก็ยังไม่ได้รับผลกระทบที่ชัดเจนจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้อีกด้วย

โดยสรุป จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นเครื่องชี้จาก Facebook หรือ Google ก็ส่งสัญญาณการเคลื่อนที่ของประชาชนที่ค่อนข้างสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน กล่าวคือ ผลกระทบในระลอกที่ 3 ยังไม่รุนแรงเท่าใน 2 ระลอกแรก อีกทั้งผลกระทบมีแนวโน้มที่จะอยู่ในกรอบเวลาที่จำกัด อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน ความสามารถในการรองรับผู้ป่วยของระบบสาธารณสุข และนโยบายการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาล เป็นต้น

ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดระลอกปัจจุบันว่าจะมีความรุนแรงและจะมีระยะเวลาของผลกระทบที่ทอดยาวเพียงใด