ทำไม “ฮ่องกง” ยังเติบโต บนความขัดแย้งทางการเมือง

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

ทางการจีนบังคับให้ “ฮ่องกง” บังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติใหม่ไปเมื่อปีเศษที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงทักท้วง เสียงเตือนดังระงม

กระนั้นจีนก็ยังยืนกราน ยึดถือปฏิบัติตามแนวทางของตน กฎหมายใหม่ที่ครอบคลุมพฤติกรรมกว้างขวางมาก ถูกนำมาใช้เล่นงานนักการเมือง สื่อมวลชน เรื่อยไปจนถึงผู้ที่เคยร่วมอยู่ในขบวนการประท้วงก่อนหน้านี้

เสรีภาพของประชาชนในฮ่องกงเรียวลงตามลำดับ การเล่นงานจากนานาชาติเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงถูกแซงก์ชั่นจากสหรัฐอเมริกา ร่วมกับอีกหลายคน ทั้งยังยกเลิกสถานะพิเศษทางการค้าของฮ่องกง ไปพร้อม ๆ กับห้ามส่งออกผลผลิตทางเทคโนโลยี

บรรยากาศทางการเมืองในฮ่องกงไม่ดีเอามาก ๆ ถึงขนาดมีคนไม่น้อยที่เลือก “อพยพ” ออกไปปักหลักในประเทศอื่น

นักสังเกตการณ์ระหว่างประเทศบางคนถึงกับบอกว่า นี่มันหายนะสำหรับฮ่องกงชัด ๆ

ในทางการเมือง การปกครอง หรือในแง่ของชาวฮ่องกง ข้อสรุปดังกล่าวใกล้เคียงกับความเป็นจริงไม่มากก็น้อย แต่ในทางธุรกิจ เศรษฐกิจ ไม่สามารถสรุปเอาได้ง่าย ๆ เช่นนั้น

ในความเป็นจริง สถานการณ์กลับเป็นตรงกันข้ามเอาเลยทีเดียว

จีดีพีของฮ่องกงกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวเพิ่มถึง 7.9% เมื่อเทียบกันปีต่อปี ไตรมาสที่สองก็ยังขยายตัวสูงต่อเนื่้อง 7.5% ยุติภาวะถดถอยต่อเนื่อง 18 เดือน อันเนื่องมาจากการประท้วงรุนแรงนาน 7 เดือน ต่อด้วยวิกฤตโควิดเมื่อปีที่ผ่านมา

ตลาดหุ้นฮ่องกง พุ่งสูงขึ้นถึง 60% มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันมากถึง 187,600 ล้านเหรียญฮ่องกง (ราว 24,100 ล้านดอลลาร์) เพราะอิทธิพลของเม็ดเงินจากแผ่นดินใหญ่เป็นหลัก ซึ่งเมื่อคำนึงถึง “ความตึงเครียด” ระหว่าง “จีนกับสหรัฐอเมริกา” ที่ทวีขึ้นในเวลานี้ ก็น่าเชื่อได้ว่า เงินจะไหลจากแผ่นดินใหญ่เข้ามาในฮ่องกงมากยิ่งขึ้น เห็นได้ชัดจากเงินฝากของธนาคารในฮ่องกงที่เพิ่มขึ้นถึง 5.4% ในปี 2020 ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19

ตัวเลขที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในปี 2020 เพิ่มขึ้นมหาศาลถึง 62% เป็น 119,000 ล้านดอลลาร์ แม้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานเมื่อปี 2019 จะต่ำมากก็ตามที

ข้อมูลของเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงให้เห็นว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีบริษัทเข้ามาทำไอพีโอในฮ่องกงถึง 46 บริษัท ระดมเงินรวมกันได้ 24,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 120% เลยทีเดียว

ฮ่องกงยังคงเป็น “ทางเลือก” สำคัญสำหรับบริษัทจีนทั้งหลายที่ต้องการระดมทุนนอกประเทศจีน ในเวลาเดียวกันก็ดูเหมือนว่า ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา จะส่งผลให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ ย้ายเข้ามาใช้ฮ่องกงเป็นฐานเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบจับตาแบบไม่กะพริบของทางการสหรัฐอเมริกา

บริษัทต่างชาติที่เคยปักหลักอยู่ในฮ่องกง ย้ายฐานออกไปหรือไม่ มีแน่นอน แต่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.2% เมื่อเทียบกันปีต่อปีในช่วงปลายเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว

ยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง “ซิตี้ กรุ๊ป” และ “โกลด์แมน แซกส์” ซึ่งคาดกันว่าจะ “ดาวน์เกรด” ปฏิบัติการในฮ่องกงลง ในความเป็นจริงกลับระดมจ้างงานในฮ่องกงเพิ่มมากขึ้นหลายพันตำแหน่งในปีนี้

บางบริษัท อย่างเช่น แวนการ์ด กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ด้านการบริหารสินทรัพย์ ย้ายออกไปก็จริง แต่ย้ายจากฮ่องกงไปเซี่ยงไฮ้ เพื่อเพิ่มธุรกิจของตนในจีนให้มากยิ่งขึ้น

“เอชเอสบีซี” ธนาคารใหญ่ที่สุดในโลก ถึงขนาดต้องออกมาแถลงสนับสนุนกฎหมายความมั่นคงใหม่อย่างเปิดเผย ด้วยเหตุที่ว่า 90% ของกำไรมาจากภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจากฮ่องกง

แน่นอน กฎหมายความมั่นคงใหม่ของฮ่องกง ที่ให้อำนาจทางการมากขึ้นในการตรวจค้น จับกุม ยึดทรัพย์ สร้างความกังวลขึ้นแน่ แต่ประเด็นก็คือ ยังไม่มีที่ใดเหมาะสมกับการเป็น “ประตูสู่จีน” มากเท่ากับฮ่องกงอีกแล้ว

ข้อได้เปรียบสำคัญของฮ่องกง ในฐานะเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่อยู่ติดกับจีน ตั้งอยู่ต่อเนื่องกับ “เสิ่นเจิ้น” ฮับทางเทคโนโลยีของจีนและของโลก ยังไม่มีที่ใดทดแทนได้ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ โตเกียว หรือว่าไทเปก็ตาม

ณ สิ้นปี 2020 บริษัทต่างถิ่นจึงยังปักหลักอยู่ในฮ่องกงเต็มไปหมด จากจีนมากเป็นอันดับหนึ่ง 2,000 บริษัท อันดับสอง คือ ญี่ปุ่น 1,398 บริษัท ต่อด้วยสหรัฐอเมริกา 1,283 บริษัท ฮ่องกงยังคงเป็น “ฮับทางการเงิน” ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอยู่ต่อไป