แกะรอยนโยบายปฏิรูป “โมดี” ดันเศรษฐกิจอินเดียโตทะลุ “โควิด-19”

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

 

นับจากกลางเดือนมีนาคม 2564 เมื่ออินเดียเผชิญการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 อย่างหนักหน่วงสาหัสกว่ารอบแรก จนจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันพุ่งเกิน 4 แสนคนในเดือนพฤษภาคม พร้อมกับสภาพน่าหดหู่เวทนา ทั้งการเสียชีวิตมากจนไม่มีที่เผาศพ ออกซิเจนไม่เพียงพอ คนไข้ล้นโรงพยาบาล ได้สร้างความกังวลใจให้กับโลกค่อนข้างมาก เพราะมีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลก หลังจากโล่งใจมาได้พักหนึ่งเพราะสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่เคยวิกฤต มีสถานการณ์ดีขึ้นเมื่อมีการเร่งฉีดวัคซีน

อย่างไรก็ตาม อินเดียในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของเอเชียรองจากจีนและญี่ปุ่น ดูเหมือนจะฟื้นตัวได้เร็ว ทั้งในแง่จำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลงเหลือเพียง 3-4 หมื่นรายต่อวัน และเศรษฐกิจดีดตัวกลับมาเร็ว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ทางการของอินเดียรายงานว่าเศรษฐกิจเดือนเมษายน-มิถุนายน ซึ่งถือเป็นไตรมาสแรกของปีงบประมาณนี้ของอินเดีย (ปีงบประมาณอินเดียเริ่มต้นวันที่ 1 เมษายน และจะสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคมของปีถัดไป) มีอัตราเติบโต 20.1% แม้ช่วงดังกล่าวอินเดียจะเจอการระบาดโควิด-19 ระลอก 2 อย่างหนัก โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคการผลิตและก่อสร้าง

ในช่วงดังกล่าวภาคการผลิตขยายตัว 49.6% ก้าวกระโดดจาก 6.9% ของไตรมาสก่อนหน้า การลงทุนเติบโต 55.3% ขณะที่ไตรมาสก่อนหน้าเติบโตเพียง 10.9% การใช้จ่ายของผู้บริโภคขยายตัว 19.34% สะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการระบาดน้อยกว่ารอบแรก เนื่องจากใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดน้อยกว่า

“เค.วี. สุพรามาเนียน” หัวหน้าที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาลอินเดีย ระบุว่า การลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายของผู้บริโภคเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นเร็วในรูปตัว V และมีความพร้อมจะรับมือผลกระทบใด ๆ ก็ตามที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐที่จะเริ่มลดสภาพคล่องในตลาด อินเดียมีแนวโน้มจะแข็งแกร่งขึ้น เพราะรัฐบาลมีการปฏิรูปหลายอย่าง และแรงกดดันจากเงินเฟ้อลดลง แม้ว่าภาคบริการบางอย่างอาจจะยังไม่เติบโตก็ตาม

ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าอื่น ๆ ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินมหาศาลเพื่อสนับสนุนการบริโภค แต่ “นเรนทรา โมดี” นายกรัฐมนตรีอินเดีย เลือกใช้วิธีเพิ่มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและ “แปรรูปบริษัทรัฐ” ให้เป็นเอกชน อีกทั้ง “ปฏิรูปภาษี” เพื่อหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในวันข้างหน้า ขณะเดียวกันก็มีการแจกจ่ายธัญพืชให้กับคนยากจนฟรี

ในส่วนของโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานนั้น เมื่อไม่นานมานี้นายกฯอินเดียประกาศแผนลงทุนมูลค่า 100 ล้านล้านรูปี หรือประมาณ 1.35 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างงาน เพิ่มผลผลิตในภาคอุตสาหกรรม ช่วยให้ผู้ผลิตท้องถิ่นสามารถแข่งขันระดับโลกและเป็นช่องทางใหม่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศเรื่องปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การดีดตัวของเศรษฐกิจอินเดีย 20.1% ช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนที่ผ่านมา สอดคล้องกับคาดการณ์ของบรรดานักเศรษฐศาสตร์จัดทำโดยรอยเตอร์ส ที่ประเมินว่าน่าจะโต 20% อย่างไรก็ตาม ช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเศรษฐกิจอินเดียหดตัว 24.4% ขณะที่จีดีพีตลอดปีงบประมาณที่แล้วติดลบ 7.3% ส่วนปีงบประมาณปัจจุบัน ธนาคารกลางอินเดียประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวราว 9.5% พร้อมกับเตือนถึงความเป็นไปได้ที่จะเผชิญการระบาดระลอก 3 ดังนั้นธนาคารกลางจะยังคงใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไป

นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์หลายคนชี้ว่า ยอดขายค้าปลีก รถยนต์ ผลผลิตภาคเกษตร การก่อสร้างและส่งออกที่เร่งตัวขึ้นนับจากเดือนมิถุนายน สนับสนุนคำกล่าวอ้างของรัฐบาลที่ว่ามีการฟื้นตัวเร็ว แต่บางภาคเช่นขนส่งและท่องเที่ยวยังคงอ่อนแอ

นอกจากนี้อินเดียยังมีความเสี่ยงจะเจอการระบาดระลอก 3 อย่างที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศมาแล้ว จากการที่ไวรัสกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลต้า รวมทั้งการที่บางรัฐยังฉีดวัคซีนได้ช้า อาจทำให้โมเมนตัมของเศรษฐกิจชะลอลง ดังนั้นการเร่งฉีดวัคซีนจึงมีความสำคัญมาก รวมทั้งต้องมีนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจออกมาร่วมด้วย


กาจชนัญญ์