เอเวอร์แกรนด์ : ยักษ์อสังหาฯจีน จากยุคเฟื่องฟู สู่วันใกล้ล้มละลาย

สรุปวิกฤตการเงินเอเวอร์แกรนด์
REUTERS/Bobby Yip/File Photo/File Photo

ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 2 ของจีน กำลังมีหนี้ล้นพ้นตัว ขณะที่นักลงทุนและลูกค้า 1.5 ล้านคน ได้วางเงินมัดจำซื้อบ้านที่ยังไม่ได้สร้างไปแล้ว การล้มละลายของยักษ์อสังหาฯรายนี้จึงอาจกลายเป็นหายนะทางเศรษฐกิจของจีน

วันที่ 16 กันยายน 2564 ดอยเช่อ เวลเล่อ สื่อเยอรมนี รายงานว่า ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์อย่าง “ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป” ยอมรับเมื่อวันอังคารว่ากำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาล และอาจไม่สามารถชำระหนี้ที่มีอยู่จำนวนมหาศาลได้

ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา มีผู้ประท้วงที่โกรธจัด รวมตัวกันบริเวณด้านนอกสำนักงานใหญ่ของบริษัท เพื่อทวงถามความชัดเจนในอนาคต

นักลงทุนเริ่มวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า หากเอเวอร์แกรนด์ล้มละลาย ปัญหาอาจลุกลามไปยังบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายอื่น ๆ และสร้างความเสี่ยงต่อระบบธนาคารของจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก

ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ คืออะไร ?

ก่อนหน้านี้บริษัทดังกล่าวมีชื่อว่า “เหิงต้า” และได้เปลี่ยนเป็น “ไชน่า เอเวอร์แกรนด์” กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มียอดขายมากที่สุดเป็นอันดับสองของจีน

บริษัทแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองทางตอนใต้ของเสิ่นเจิ้น ใกล้กับฮ่องกง โดยขายอพาร์ทเมนต์ให้กับลูกค้ากลุ่มรายได้สูงและปานกลาง ดำเนินธุรกิจในเมืองมากกว่า 280 เมือง

บริษัทเริ่มต้นกิจการเมื่อปี 2540 โดย “สวี่ เจียยิ่น” ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมาเขาได้กลายเป็นมหาเศรษฐีผ่านการเปิดเศรษฐกิจของจีน

เมื่อปีที่แล้ว เขาได้รับการจัดอันดับจากฟอร์บส์ ให้เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 3 ในจีน ทว่าความมั่งคั่งของเขาก็ลดลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เอเวอร์แกรนด์ ร่ำรวยขึ้นอย่างมากจากความเฟื่องฟูของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อันเป็นผลจากการเติบโตอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนของจีน

บริษัทแห่งนี้พัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์ ที่อยู่อาศัย และโครงสร้างพื้นฐาน เกือบ 900 โครงการ มีพนักงานประมาณ 2 แสนคน

เอเวอร์แกรนด์ ยังได้ขยายไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งรวมถึง อาหาร การพักผ่อน และสันทนาการ นอกจากนี้ยังเปิดสโมสรฟุตบอล “กว่างโจว เอฟซี ฟุตบอล” หรือชื่อเดิมคือ “กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์”

อย่างไรก็ตาม บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของเอเวอร์แกรนด์ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2562 ปัจจุบันไม่ได้ทำการตลาดยานพาหนะใด ๆ แล้ว

ทำไม “เอเวอร์แกรนด์” จึงประสบปัญหา ?

บริษัทแห่งนี้กำลังแบกหนี้สินรวมกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ เนื่องจากหลายปีก่อนได้กู้เงินเพื่อสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็ว

เอเวอร์แกรนด์ได้เพิ่มการเข้าซื้อกิจการในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางความตื่นตัวในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ยักษ์ใหญ่รายนี้เริ่มเดินสะดุด หลังจากรัฐบาลจีนออกมาตรการใหม่เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 เพื่อติดตามและควบคุมหนี้สินของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ อย่างใกล้ชิด

เอเวอร์แกรนด์ พึ่งพาเงินจากการขายล่วงหน้า แล้วนำมาหมุนธุรกิจต่าง ๆ แต่ด้วยมาตรการที่เข้มงวดของรัฐบาล จึงทำให้บริษัทต้องเทขายโครงการ พร้อมส่วนลดที่สูงลิ่ว

นักลงทุนและลูกค้าชำระเงินดาวน์เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ของบริษัท ประมาณ 1.5 ล้านแห่ง ตามข้อมูลของบลูมเบิร์ก ซึ่งรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากเดือนธันวาคม

ผู้ซื้อหลายรายได้แสดงความกังวลทางโซเชียลมีเดีย พวกเขาไม่แน่ใจว่าจะได้รับเงินคืนหรือไม่ หลังจากโครงการอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ถูกระงับ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เอเวอร์แกรนด์ ถูกลดระดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 2 แห่ง และหุ้นที่จดทะเบียนในฮ่องกงของบริษัทดิ่งลงมากกว่า 80% ในปีนี้

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์เสิ่นเจิ้นประกาศระงับการซื้อขายพันธบัตรเอเวอร์แกรนด์ชั่วคราว หลังจากราคาลดลงมากกว่า 30%

REUTERS/David Kirton
REUTERS/David Kirton/File Photo

บริษัทปกป้องตัวเองอย่างไร ?

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เอเวอร์แกรนด์ออกแถลงการณ์อีกฉบับหนึ่งถึงตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ระบุว่าบริษัทได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อหาแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ทั้งหมด หวังบรรเทาวิกฤตเงินสดตึงตัว

แถลงการณ์ฉบับนี้เตือนด้วยว่า บริษัทไม่รับประกันว่าจะสามารถปฏิบัติตามภาระผูกพันทางการเงินได้หรือไม่

บริษัทยังตำหนิสื่อที่รายงานข่าวในเชิงลบอย่างต่อเนื่อง อ้างว่าการรายงานของสื่อได้ส่งผลกระทบต่อยอดขายในช่วงเดือนกันยายน โดยระบุว่า “ส่งผลให้การสะสมเงินสดของบริษัทตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อกระแสเงินสดและสภาพคล่องของบริษัท”

ทั้งยังระบุว่า แม้จะมอบส่วนลดอสังหาริมทรัพย์สูงสุดถึง 1 ใน 4 และได้ขายหุ้นในสินทรัพย์ต่าง ๆ ไปแล้ว บริษัทยังกำไรลดลง 29% ในช่วงครึ่งปีแรก

วิกฤตการเงินของเอเวอร์แกรนด์ สำคัญอย่างไร ?

ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการเติบโตของจีน คิดเป็น 29% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้นการล้มละลายของบริษัทใหญ่ระดับนี้จึงส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง

“การล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์จะเป็นบททดสอบที่ใหญ่สุดที่ระบบการเงินจีนต้องเผชิญในรอบหลายปี” มาร์ก วิลเลียมส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่แคปปิตอล อีโคโนมิกส์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม “ตลาดดูเหมือนจะไม่กังวลเรื่องผลกระทบทางการเงินในขณะนี้” เขากล่าวและว่า “ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงในกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง”

นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า มีโอกาสน้อยมากที่รัฐบาลจีนจะปล่อยให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ระดับใหญ่ขนาดนี้ล่มจม

“รัฐบาลจีนจะไม่ยอมปล่อยให้เอเวอร์แกรนด์ล้มละลายหรอก เพราะมันถือเป็นการบ่อนทำลายเสถียรภาพของรัฐบาล” นักวิเคราะห์จากไซโนอินไซเดอร์ในสหรัฐฯ กล่าว

บลูมเบิร์กรายงานเมื่อวันอังคารว่า มณฑลกวางตุ้งของจีนได้ว่าจ้างทีมนักบัญชีและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเพื่อมาให้คำแนะนำเกี่ยวกับความจำเป็นในการปรับโครงสร้างเอเวอร์แกรนด์ แม้ว่าหน่วยงานระดับท้องถิ่นแห่งนี้จะปฏิเสธให้ความช่วยเหลือไปแล้วก็ตาม