“เทคฯอินเดีย” ร้อนแรง เมื่อทุนต่างชาติขยับหนี “จีน”

รูปล้อมกรอบ

การปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีภายในประเทศของจีนสร้างความตื่นตระหนกครั้งใหญ่ให้กับนักลงทุนทั่วโลก ที่เริ่มไม่มั่นใจในความมั่นคงต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีน ส่งผลให้ “อินเดีย” กลายเป็นตลาดเทคโนโลยีที่มีศักยภาพ และพร้อมโอบรับนักลงทุนที่แสวงหาทางเลือกใหม่ในภูมิภาคแทนจีน

ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของอินเดียกำลังขยายตัวรวดเร็ว “ดีลโลจิก” บริษัทวิจัยระดับโลก ระบุว่า เม็ดเงินระดมทุนของบริษัทเทคโนโลยีอินเดียที่เสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ในปีนี้อยู่ที่ 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 550% จากปี 2020

ขณะที่สถานการณ์ของบริษัทเทคฯจีนตรงกันข้าม โดยยอดการระดมทุนไอพีโอปีนี้อยู่ที่ราว 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปีก่อน 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 7 ปี

มูลค่าการระดมทุนที่ลดลงของจีนเป็นภาพสะท้อนผลลัพธ์จากมาตรการควบคุมปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีของรัฐบาลจีนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งลุกลามไปในธุรกิจหลายภาคส่วน ตั้งแต่ภาคการเงินไปจนถึงบริการคมนาคมขนส่ง

จากการสกัดกั้นไอพีโอมูลค่า 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐของ “แอนต์กรุ๊ป” บริษัทลูกของอาลีบาบา ไปจนถึงการตรวจสอบและสั่งระงับการให้บริการของ “ตีตี ชูสิง” ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มไรด์เฮลลิ่งยักษ์ใหญ่ ต่างส่งผลสะเทือนความเชื่อมั่นของนักลงทุน

รวมถึง “ไบต์แดนซ์” เจ้าของแอปพลิเคชั่นยอดนิยม “ติ๊กต๊อก” ก็ต้องพับแผนไอพีโอหลังจากที่ได้รับคำเตือนจากทางการจีน

การบังคับใช้กฎระเบียบอย่างเข้มงวดของจีนยังสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นจีน เช่น ดัชนีซีเอสไอ 300 ลดลงราว 6% ในปีนี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนหันหน้าหนีจีนมากขึ้น

“หว่อง ก๊อก ฮอย” ผู้ก่อตั้งบริษัทจัดการสินทรัพย์ เอพีเอส แอสเซส แมเนจเมนต์ ระบุว่า ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติมองว่า บริษัทเทคโนโลยีของจีนกำลังดิ้นรนเพื่อรักษาผลกำไรที่เคยทำได้ในอดีต ท่ามกลางแรงกดดันด้านกฎระเบียบที่เพิ่มสูงขึ้น

“นักลงทุนรายใหญ่ โดยเฉพาะ กองทุนหุ้นนอกตลาด ซึ่งลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีเกิดใหม่ในเอเชีย มองว่าเกมในจีนได้จบลงแล้ว และพวกเขาจะหาทางเลือกใหม่และอินเดียจะเป็นทางเลือกหลัก” ฮอยกล่าว

ส่งผลให้ดัชนีเซนเซกซ์ (Sensex) ของตลาดหลักทรัพย์บอมเบย์เพิ่มขึ้น 25% ในปีนี้ กลายเป็นดัชนีหุ้นที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชีย

นอกจากนี้การเปลี่ยนกฎระเบียบเปิดทางให้บริษัทที่ขาดทุนสามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มุมไบได้ เปิดโอกาสให้ “สตาร์ตอัพเทคโนโลยี” เข้าถึงตลาดทุนมากยิ่งขึ้น โดย “โซมาโต” (Zomato) ผู้ให้บริการจัดส่งอาหารรายใหญ่ที่เป็นบริษัทขาดทุนรายแรกของอินเดีย ที่สามารถขายหุ้นไอพีโอได้ถึง 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

“นิค เสี่ยว” ซีอีโอของไฮวิน บริษัทจัดการความมั่งคั่งในฮ่องกง ระบุว่า ด้วยขนาดตลาดที่ใหญ่ของอินเดีย ส่งผลให้อินเดียกลายเป็นทางเลือกโดยธรรมชาติของนักลงทุนที่แสวงหาทางเลือกใหม่จากจีน “อินเดียกำลังได้รับความสนใจจากทุกคน”

แม้ปัจจุบันอินเดียจะยังมีประชากรที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตมากถึง 60% แต่กลุ่มประชากร Gen Z (เกิดปี 1996-2010) ของอินเดียมีอยู่ราว 375 ล้านคน มากกว่าจีนที่มี 250 ล้านคน ซึ่งคนกลุ่มนี้คือศักยภาพด้านประชากรของอินเดียที่จะเป็นโอกาสในการเติบโตของตลาดเทคโนโลยี

“เวนเจอร์ อินเทลลิเจนซ์” บริษัทที่ปรึกษาวิจัยด้านการลงทุนของอินเดีย ระบุว่า ในปีนี้มีสตาร์ตอัพอินเดียถึง 35 แห่งกลายเป็น “ยูนิคอร์น” (มูลค่าสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดย “อัพนา” (Apna) สตาร์ตอัพแพลตฟอร์มหางาน เป็นบริษัทล่าสุดของอินเดียที่กลายเป็นยูนิคอร์น

นอกจากนี้ การขายหุ้นไอพีโอของ “เพย์ทีเอ็ม” (Paytm) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มชำระเงินออนไลน์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังตอกย้ำความร้อนแรงของตลาดเทคโนโลยีอินเดีย กลายเป็นบริษัทที่ขายหุ้นไอพีโอได้มากสุดของอินเดียในเวลานี้ สูงถึง 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เพย์ทีเอ็มเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีอินเดียที่ขาดทุน จากการแข่งขันอย่างดุเดือดกับคู่แข่งที่เข้ามาตีตลาดอินเดีย อย่าง “กูเกิล” และ “ฟลิบการ์ต” ของวอลมาร์ต แต่เพย์ทีเอ็มก็ยังสามารถดึงดูดนักลงทุนได้ด้วยเป้าหมายในการเป็น “ซูเปอร์แอป” ของอินเดียที่ครอบคลุมทุกบริการ ตั้งแต่การชำระเงินไปจนถึงการประกันภัย คล้ายกับเส้นทางของแอนท์ กรุ๊ปในจีน

ขณะที่บริษัทเทคฯอินเดียอีกหลายรายอย่าง “ไนก้า” (Nykaa) กลุ่มอีคอมเมิร์ซเครื่องสำอาง, “โอโย” (Oyo) แพลตฟอร์มจองโรงแรมออนไลน์ และ “โอลา แคบส์” (Ola Cabs) คาร์แชริ่งรายใหญ่ ต่างมีแผนการระดมทุนเพิ่มขึ้น ท่ามกลางตลาดเทคโนโลยีอินเดียกำลังร้อนแรง