อังกฤษพบโควิดกลายพันธุ์ B.1.1.529 สั่งระงับเที่ยวบินจากแอฟริกาใต้

โควิด 22 พ.ย.

อังกฤษหันกลับมาใช้มาตรการคุมเข้ม ห้ามนักเดินทางจากหลายประเทศในแอฟริกาตอนใต้เข้าประเทศใหม่อีกครั้ง หลังมีคำเตือนเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ตัวใหม่ B.1.1.529 

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 นายซาจิด จาวิด รัฐมนตรีสาธารณสุขอังกฤษประกาศว่า นับตั้งแต่เที่ยงของวันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายนเป็นต้นไป 6 ประเทศในแอฟริกาตอนใต้จะถูกบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อกลุ่มประเทศสีแดง โดยจะมีการระงับเที่ยวบินจากประเทศดังกล่าวมายังอังกฤษเป็นการชั่วคราว

นายจาวิดระบุว่า ไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่นี้  นักวิทยาศาสตร์มีความวิตกกังวลอย่างมาก และจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมหลังพบว่ามีการกลายพันธุ์มากกว่าการกลายพันธุ์อื่นๆ รวมถึงเดลต้า ซึ่งอาจทำให้มีความสามารถในการแพร่ระบาดได้มากขึ้นและวัคซีนที่มีอยู่อาจจัดการกับไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่นี้ไม่ได้ ดังนั้นการขึ้นบัญชีแดงในครั้งนี้เป็นมาตรการป้องกันล่วงหน้า

สำหรับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศขึ้นบัญชีแดงของอังกฤษในครั้งนี้ประกอบด้วย แอฟริกาใต้ นามิเบีย ซิมบับเว บอตสวานา เลโซโท และเอสวาตีนี (สวาซีแลนด์)

ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวในอังกฤษ แต่มีการยืนยันพบผู้ติดเชื้อแล้ว 59 รายในแอฟริกาใต้ บอตสวานา และฮ่องกง

ทั้งนี้มาตรการคุมเข้มของอังกฤษมีขึ้นหลังจากที่มีผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งออกมาเตือนว่า พบไวรัสกลายพันธุ์ที่เรียกว่า B.1.1.529 ซึ่งถูกระบุว่าเป็นการกลายพันธุ์ที่แย่ที่สุดเท่าที่เคยพบ ซึ่งทำให้หวั่นวิตกว่าวัคซีนที่มีอยู่อาจไม่สามารถรับมือได้ โดยคาดว่าองค์การอนามัยโลกอาจจะประกาศชื่อตามตัวอักษรภาษากรีกให้กับไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ดังกล่าวในวันศุกร์ที่ 26 พ.ย.นี้ตามเวลาในท้องถิ่น

ศ.ทูลิโด เดอ โอลิเวียรา ผู้อำนวยการศูนย์ตอบสนองโรคระบาดและนวัตกรรมในแอฟริกาใต้ กล่าวว่า มีการกลายพันธุ์อย่างไม่ปกติเกิดขึ้นเป็นกลุ่มและแตกต่างจากไวรัสกลายพันธุ์อื่นๆ ที่แพร่หลายอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นการกลายพันธุ์แบบก้าวกระโดดครั้งใหญ่

และเมื่อเทียบกับไวรัสกลายพันธุ์เดลต้าที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกซึ่งพบการกลายพันธุ์ในลักษณะนี้เพียง 2 จุด ไวรัสกลายพันธุ์ B.1.1.529 ซึ่งน่าวิตกกังวลนี้มีการกลายพันธุ์มากถึง 10 จุด ความแตกต่างที่มากมายเมื่อเทียบกับไวรัสโควิด-19 ที่พบครั้งแรกในนครอู่ฮั่นของจีน จึงหมายความว่าวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีอยู่ ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้รับมือกับไวรัสต้นกำเนิดดังกล่าวอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะจัดการกับไวรัสกลายพันธุ์นี้ได้ (ข้อมูลจาก : มติชนออนไลน์)