ศบค.เปิดประเทศ 24 วัน ต่างชาติเข้าไทย 9.9 หมื่นคน ติดโควิด 131 ราย

เปิดประเทศ
(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

ศบค.เผยเปิดประเทศ 24 วัน ต่างชาติเข้าไทยเฉียด 9.9 หมื่นคนแล้ว พบติดโควิด 131 ราย มาแบบไม่กักตัว หรือ Test & Go มากสุด 7.7 หมื่นคน แต่พบการติดเชื้อเพียง 0.08% เท่านั้น พร้อมเตรียมขยายช่องทางเข้าประเทศเพิ่ม ส่วนผู้เสียชีวิต 37 คนวันนี้เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง 100% เต็ม ขณะที่ยอดฉีดวัคซีนสะสมล่าสุดทะลุ 90.46 ล้านโดส

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ประจำวันว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 มีผู้ป่วยรายใหม่ 6,335 ราย หายป่วยแล้ว 1,959,663 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,059,464 ราย และ เสียชีวิตสะสม 20,487 ราย

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้หายป่วยแล้ว 1,987,089 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,088,327 ราย เสียชีวิตสะสม 20,581 ราย

สำหรับผู้ป่วยรักษาตัววันนี้มีอยู่จำนวน 80,657 ราย อยู่ใน รพ. 38,881 ราย อยู่ใน รพ.สนามและอื่น ๆ 41,776 ราย ในจำนวนนี้มีอาการหนัก 1,508 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 363 ราย

ยอดฉีดวัคซีนสะสม 90.46 ล้านโดส

ส่วนผู้มาขอรับวัคซีน วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 199,502 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 331,802 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 43,468 ราย และ ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-24 พฤศจิกายน 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 90,468,955 โดส

  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 47,233,526 ราย คิดเป็น 65.6% ของประชากร
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 40,056,072 ราย คิดเป็น 55.6% ของประชากร
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 3,179,357 ราย คิดเป็น 4.4 % ของประชากร

ผู้สูงอายุ-มีโรคเรื้อรัง เสียชีวิต 100% เต็ม

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับ 1 ยังเป็นกรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวน 672 ราย รองลงมาเป็น สงขลา 455 ราย นครศรีธรรมราช 429 ราย สุราษฎร์ธานี 263 ราย เชียงใหม่ 258 ราย สมุทรปราการ 206 ราย ชลบุรี 204 ราย ปัตตานี 178 ราย ยะลา 171 ราย และประจวบคีรีขันธ์ 154 ราย

ส่วนผู้เสียชีวิตจำนวน 37 รายในวันนี้ เป็นชาย 17 ราย หญิง 20 ราย เป็นคนไทย 35 ราย เมียนมา 1 ราย และไม่ระบุ 1ราย โดยผู้เสียชีวิตวันนี้เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรังทั้ง 37 ราย คิดเป็น 100% เต็มของผู้เสียชีวิตทั้งหมดในวันนี้

และอยู่ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครจำนวน 5 ราย ปทุมธานีและสมุทรสาครรวม 2 ราย ภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี ยะลา และพังงา รวม 11 ราย

ที่เหลือกระจายไปในกลุ่มจังหวัดภาคกลาง และภาคตะวันออก รวม 12 ราย นอกนั้นมีภาคเหนือ 6 ราย และภาคอีสานมีที่สุรินทร์แค่ 1 รายเท่านั้น

24 วัน ต่างชาติเข้าไทย 98,900 ราย ติดโควิด 131 คน

ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย มีที่เกี่ยวข้องกับภูเก็ตแซนด์บอกซ์ 3 ราย มาจากรัสเซีย 1 ราย สวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย นอร์เวย์ 1 ราย ผลตรวจพบเชื้อมีอาการทั้ง 3 ราย และที่เกี่ยวข้องกับ Test & Go กทม. 1 ราย มาจากไอร์แลนด์ ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ

ขณะที่ผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร หลังเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1-24 พฤศจิกายน 2564 มียอดสะสม 98,900 ราย พบผู้ติดเชื้อ 131 ราย คิดเป็นสัดส่วน 0.13%

โดยมาจากระบบไม่กักตัว หรือ Test & Go มากที่สุด 77,026 ราย พบผู้ติดเชื้อ 62 คน แต่คิดเป็นอัตราการติดเชื้อเพียง 0.08% เท่านั้น ขณะที่ระบบแซนด์บ็อกซ์ มีจำนวน 17,599 คน พบผู้ติดเชื้อ 35 คน คิดเป็นอัตราการติดเชื้อ 0.20% ส่วนระบบกักตัว (Quarantine) มีจำนวน 4,275 ราย อัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 0.80% ซึ่งมากที่สุดหากคิดเป็นอัตราส่วนของการติดเชื้อ (ตามตาราง)

ทางด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เรื่องการเปิดประเทศระยะที่ 2 จะเสนอเข้าที่ประชุม ศบค.วันที่ 26 พ.ย.นี้ หลัก ๆ คือจะเปิดช่องทางเข้าประเทศมากขึ้น สะดวกมากขึ้น เพราะดูข้อมูลแล้วพบว่า อัตราการติดเชื้อในคนที่เข้ามาในประเทศระยะแรกค่อนข้างน้อย

อย่างระบบ Test & Go หรือแบบไม่กักตัว มีผู้เดินทางเข้ามาและพบการติดเชื้อแค่ 0.08% เท่านั้น เป็นไปตามแผนที่นายกฯกำหนดไว้ ดังนั้น 1.จะเสนอเปิดช่องทางเข้าประเทศมากขึ้น จากเดิมเฉพาะทางอากาศ ก็จะเปิดเพิ่มทางเรือและทางบก ซึ่งไม่ใช่ด่านบกทั้งหมดทั่วประเทศ แต่จะเลือกเฉพาะด่านที่มีความปลอดภัย เพื่อนำร่องก่อน และ 2.มีข้อจำกัดน้อยลง แต่ต้องเข้มข้นเรื่องการฉีดวัคซีน และการตรวจแล็บก่อนเข้าประเทศ

ขณะที่สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 259,699,497 ราย อาการรุนแรง 82,292 ราย รักษาหายแล้ว 234,831,239 ราย และเสียชีวิต 5,191,762 ราย

ส่วนอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับ 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 48,969,792 ราย 2. อินเดีย จำนวน 34,541,349 ราย 3. บราซิล จำนวน 22,043,417 ราย 4. สหราชอาณาจักร จำนวน 9,974,843 ราย 5. รัสเซีย จำนวน 9,434,393 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 23 ของโลก จำนวน 2,088,327 ราย