สปสช.จ่ายเยียวยาแพ้วัคซีนเฉพาะกลุ่มฉีดฟรี “โมเดอร์นา” ไม่เข้าเกณฑ์

ฉีดวัคซีน
Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

สปสช.แจงเกณฑ์จ่ายเยียวยาผู้แพ้วัคซีนโควิด-19 เฉพาะที่ฉีดประชาชนฟรี-ไม่เสียค่าใช้จ่ายเท่านั้น ด้านวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” หน่วยงานรัฐซื้อไปฉีดฟรียังเข้าเกณฑ์ ส่วนบริษัท-องค์กรเรียกเก็บเงินประชาชนไม่เข้าเกณฑ์ ด้าน “โมเดอร์นา” รพ.เอกชน เรียกเก็บเงินค่าฉีดจากผู้รับบริการไม่เข้าเกณฑ์เช่นกัน ย้ำให้หน่วยงานเรียกเก็บเงินรับผิดชอบ

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ประชาชนที่เข้ารับวัคซีนโควิด ที่จัดหาฟรีให้โดยภาครัฐ กรณีเกิดความเสียหาย เช่น อาการแพ้วัคซีน เป็นต้น สามารถยื่นคำร้องให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

ทั้งนี้ ไม่ใช่ทุกรายที่ยื่นเรื่องจะได้รับเงินช่วยเหลือ ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์การพิจารณา ซึ่งหากเข้าเกณฑ์ของ สปสช. ยืนยันว่าจะมีการจ่ายช่วยเหลือเบื้องต้นให้ทุกกรณี

เปิดเกณฑ์จ่าย สปสช.

  1. กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจะได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 400,000 บาท
  2. กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการช่วยเหลือไม่เกิน 240,000 บาท
  3. กรณีเกิดภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษาไม่เกิน 1 แสนบาท ส่วนจะช่วยเหลือจำนวนเท่าใดนั้น เป็นการพิจารณาของอนุกรรมการตามภาวะความรุนแรง

ในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย โดยสามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับ สปสช.ได้ที่โรงพยาบาลที่ฉีด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือที่ สปสช. สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. โทร. 1330

โดยสามารถดาวน์โหลดแแบบคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโควิดได้ที่ https://www.nhso.go.th/storage/files/841/001/nhso_VaccinCovid19.pdf

เกณฑ์เยียวยาวัคซีนทางเลือก

ในส่วนของวัคซีนโควิด-19 ทางเลือกที่ทางโรงพยาบาลเอกชนเป็นผู้จัดหา ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งอยู่ในช่วงการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาที่ประชาชนจ่ายเงินซื้อไว้ ถือว่ามีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้รับบริการ ดังนั้นในกรณีนี้ หากเกิดความเสียหายขึ้นจะไม่ครอบคลุมตามเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นของ สปสช.

สำหรับกรณีของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และสภากาชาดไทย ที่ประกาศให้หน่วยงานหรือองค์กรไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการทำเป็นสวัสดิการให้พนักงาน ซื้อวัคซีนโควิดจากราชวิทยาลัยฯ และสภากาชาดไทย

โดยหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ที่ซื้อไปต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ฟรีโดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชน รวมถึงกรณีที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และสภากาชาดไทยนำวัคซีนโควิดไปฉีดให้แก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย

ดังนั้นหากผู้รับบริการเกิดปัญหาจากการได้รับวัคซีนโควิด-19 นั่นหมายความว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือจากทาง สปสช. ตามเกณฑ์ แต่ถ้ามีหน่วยงานใดซื้อวัคซีนโควิด-19 จากราชวิทยาลัยฯ และสภากาชาดไทยแล้ว ไปเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชน ตรงนี้ทาง สปสช.ก็จะไม่เกี่ยวข้อง

เลขาธิการ สปสช.กล่าวอีกว่า ในส่วนของวัคซีนซิโนฟาร์มที่มีประกันค่าเสียหายไว้นั้น ตรงนี้จะถือว่าเป็นคนละส่วนกันกับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นของ สปสช.

ฉะนั้นสมมติว่ามีผู้เสียชีวิตจากการรับวัคซีนซิโนฟาร์ม ทาง สปสช.ก็จะต้องจ่ายในอัตราตามหลักเกณฑ์ เรายึดหลักว่าประชาชนที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ไม่ควรต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

แต่ถ้าประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายเมื่อไร หน่วยงาน องค์กร หรือสถานพยาบาลที่ผู้รับบริการไปฉีดวัคซีนโควิด-19 ต้องรับผิดชอบ