“โอไมครอน” ป่วนโลก ทำวิกฤตซัพพลายยืดต่ออีก 2 ปี

ส่งออก
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

ในขณะที่ปัญหาคอขวดในระบบห่วงโซ่อุปทาน หรือซัพพลายเชน ส่อเค้าว่ากำลังจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ก็บังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ อย่าง “โอไมครอน” ขึ้นแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า โอไมครอนอาจก่อให้เกิดปัญหาใหม่ ๆ ขึ้นกับระบบห่วงโซ่อุปทานของโลก ที่อยู่ในสภาพตึงตัวสาหัสอยู่ก่อนแล้ว ให้ทรุดหนักลงไปอีกครั้ง

ส่งผลให้วิกฤตการณ์ในระบบการขนส่งสินค้าทั่วโลก ต้องตกอยู่ในสภาพเต็มกลืน แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไม่หยุดหย่อนต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 2 ปี

ตัวอย่างที่อุบัติให้เห็นกันจะจะ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ เกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้นที่เจ้อเจียง ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ และเป็นที่ตั้งของท่าเรือหนิงโป-โจวซาน ท่าเรือขนถ่ายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ด้วยนโยบายซีโร่-โควิด ที่เข้มงวดของทางการ แรงงานท่าเรือหลายหมื่นคนถูกกักตัว ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินงานของท่าเรือ ถึงขนาดทางการท้องถิ่นต้องร้องขอ ไม่ให้แรงงานเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงตรุษจีนที่จะมาถึงในเดือนกุมภาพันธ์หากไม่จำเป็น

นั่นคือตัวอย่างที่นักวิเคราะห์ของแคปิตอล อีโคโนมิกส์ คิดว่าสามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต และจะทำให้วิกฤตในระบบซัพพลายเชนของโลกยืดเยื้อออกไปนานมากยิ่งขึ้น

“เมอส์ก” 1 ใน 3 บริษัทชิปปิ้งรายใหญ่ชี้ว่า ในเวลาเดียวกันปัญหาเดิม ซึ่งทำให้สินค้าคั่งค้าง การขาดแคลนแรงงานปัญหาตึงเครียดระหว่างประเทศ ที่เป็นมานานหลายเดือนก็ยังคงอยู่

เมอส์กระบุว่า พื้นที่ที่เกิดปัญหามากที่สุดก็คือ บรรดาท่าเรือในแถบชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐ เรือสินค้าต้องไปเทียบท่ารออยู่อย่างน้อย 4 สัปดาห์ เพราะไม่มีแรงงานเพียงพอต่อการขนถ่ายสินค้า ส่งผลกระทบเป็นระลอกออกไปทั่วโลก ทำให้คอนเทนเนอร์เปล่าล้นท่าเรือในสหรัฐและยุโรป แต่ขาดแคลน มีไม่เพียงพอกับความต้องการในเอเชีย

เทศกาลหยุดยาวช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ ต่อด้วยตรุษจีนในเอเชีย ยิ่งทำให้ระบบขนส่งสินค้าทางเรือขึงตึงมากขึ้น โฆษกของเมอส์ก ระบุว่า ก่อนหน้านี้เทศกาลวันหยุดท้ายปี แม้จะเป็นปัญหาแต่ระบบก็สามารถดูดซับได้ ต่างจากปีนี้จะยิ่งทำให้เกิดปัญหามากขึ้นเป็นทวีคูณ

“โรเบิร์ต คีน” จากสมาคมขนส่งสินค้าแห่งอังกฤษ ชี้ว่า เฟลิกศ์สโตร์ ท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ยังคงมีปัญหาสินค้าคั่งค้างอยู่ในเรือ จากปัญหาแรงงาน ปัญหาโครงสร้างของท่าเรือ แถมยังมี “โควิด” ที่ก่อปัญหาเป็นระยะ ๆ ไม่เลิกรา

ฟลาวิโอ มาคอ รองศาสตราจารย์ด้านซัพพลายเชนประจำมหาวิทยาลัยเอดิธ โควัน ในรัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลีย ยืนยันว่า การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบจำเป็นต้องอาศัยเวลานานนับเป็นปี ๆ ปัญหาก็คือ ระบบเศรษฐกิจโลก ที่เพิ่งฟื้นตัวจะสามารถทนกับการดิสรัปต์ครั้งแล้วครั้งเล่า ๆ ได้หรือไม่

“ระบบซัพพลายเชนตอนนี้เหมือนคนป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ที่แสดงอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะอยู่เป็นพัก ๆ เชื่อว่ากว่าจะกลับคืนสู่สภาพปกติได้ก็ต้องราวกลางปี 2024” มาคอระบุ

ปัญหาก็คือ การขนส่งสินค้าทางเรือถือเป็นหลักในการทำให้สินค้าราว 90% ของสินค้าทั่วโลกที่ไหลเวียนอยู่ในเวลานี้ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในระบบ ต้นทุนในการขนส่งก็ถีบตัวสูงขึ้นตามมา

ดรูวรีย์ เวิลด์ คอนเทนเนอร์ อินเด็กซ์ ชี้ให้เห็นว่า ต้นทุนขนสินค้าด้วยคอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต ในปีนี้สูงขึ้นกว่าปีที่แล้วถึง 170% และจะสูงมากยิ่งขึ้นในบางเส้นทาง ที่มีความต้องการสูง เช่น เส้นทางเซี่ยงไฮ้-รอตเตอร์ดัม เพิ่มขึ้นเกือบ 200% จากรอตเตอร์ดัม-นิวยอร์ก เพิ่มขึ้น 212% เป็นต้น

ส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นพุ่งสูงขึ้นตาม ที่หนุนให้ภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศถีบตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ

“รอย คัมมินส์” ซีอีโอของท่าเรือบริสเบน ออสเตรเลีย ซึ่งอยู่ในวงการโลจิสติกส์มากว่า 30 ปี ยืนยันว่า ปัญหาที่มีอยู่จะไม่บรรเทาเบาบางลงในช่วงระยะเวลาปีสองปีนี้ เพราะตอนนี้ทั้งระบบยุ่ง สับสนกันไปหมด ทำให้การแก้ปัญหาไม่สามารถทำให้รวดเร็วราวกับปิดเปิดสวิตช์ได้

นั่นยังไม่นับกรณีที่ว่า “โอไมครอน” สามารถก่อให้เกิดการล็อกดาวน์ขึ้นอีกครั้งในหลายประเทศด้วยซ้ำไป