ทำไม WHO จึงเตือนว่าโควิด-19 ยังไม่ใช่ “โรคประจำถิ่น”

ทำไม WHO จึงเตือนว่าโควิดยังไม่ใช่โรคประจำถิ่น
REUTERS/Washington Alves

เปิดเหตุผล ทำไมองค์การอนามัยโลกจึงออกมาเตือนหลายประเทศว่า ยังไม่ควรปฏิบัติเหมือนโควิด-19 เป็น “โรคประจำถิ่น” 

วันที่ 17 มกราคม 2565 เดอะสเตรตไทมส์ รายงานว่า หลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงสิงคโปร์ กำลังเดินหน้าเพื่อใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มกราคม องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่าอย่าปฏิบัติต่อโควิดเหมือนเป็น “โรคประจำถิ่น” โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนยังไม่นิ่ง

ต่อไปนี้เป็นคำอธิบายว่า เพราะอะไร ?

ศาสตราจารย์ ยิกยิง เตียว คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ วิทยาลัยสาธารณสุขซอ สวี ฮ็อค มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า เหตุผลหลักคือทั่วทั้งโลกยังไม่พร้อมที่จะใช้ชีวิตร่วมกับไวรัสชนิดนี้

เขากล่าวต่อว่า มีเพียงประเทศพัฒนาแล้วไม่กี่ประเทศที่มีความสามารถในรักษาชีวิตประชาชนจากโควิด แต่ประเทศเหล่านี้ก็ยังมีอัตราการฉีดวัคซีน และการฉีดเข็มกระตุ้นที่ไม่สูงพอที่จะป้องกันได้

“WHO เกรงว่าประเทศต่าง ๆ จะตัดสินใจเอาอย่าง และยกเลิกมาตรการทางสังคมและชุมชน ก่อนที่การฉีดวัคซีนและทรัพยากรโรงพยาบาลจะพร้อมสำหรับสิ่งนี้” ศาสตราจารย์เตียว กล่าวและว่า “ซึ่งจะนำไปสู่การติดเชื้อและการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น”

หลังพบสายพันธุ์โอมิครอนที่มีการระบาดในอัตราสูงตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ผู้ติดเชื้อโควิดได้พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก โดยเมื่อวันเสาร์ที่ 15 มกราคม ผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันอยู่ที่ 274.13 ล้านคน

“นับเป็นตัวเลขที่สูงกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงพีกของทั่วโลกเมื่อปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า” รองศาสตราจารย์ อเล็กซ์ คุก รองคณบดีฝ่ายวิจัย วิทยาลัยสาธารณสุขซอ สวี ฮ็อค

“อย่างไรก็ตาม การระบาดของโอมิครอนและอัตราการฉีดวัคซีนที่สูง ล้วนมีส่วนในการลดความรุนแรงลงอย่างมากในคนทั่วไปที่ติดเชื้อ รวมถึงลดความรุนแรงโดยรวมในประชากรทั่วโลกได้มากกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า” เขากล่าว

ด้าน ศาสตราจารย์ ลอเรนต์ เรเนีย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง กล่าวว่า คำแนะนำเรื่องการปฏิบัติต่อโควิดที่ WHO มีให้ประเทศต่าง ๆ นับเป็นการมองจากมุมที่กว้างขึ้น

“มันเป็นหน้าที่ของ WHO เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าหลายพื้นที่ในโลก เช่น แอฟริกา อเมริกาใต้ หรือแม้แต่ในเอเชีย ยังมีคนที่ไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้นจากมุมมองของ WHO ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ”