โควิดโรคประจำถิ่น สธ. เดินหน้าต่อ ไม่ขัด WHO ไทยก้าวล้ำเรื่องคุมโรค

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

หมอโอภาส ยันเดินหน้าโควิดโรคประจำถิ่น ไม่ขัดคำแนะนำ WHO ลั่นประเทศไทย นำหน้าองค์การอนามัยโลกและประเทศอื่น ๆ ในหลายเรื่อง 

วันที่ 14 มกราคม 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์กรณีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาประกาศว่ายังเร็วเกินไปที่จะให้โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นในปีนี้ ตามรายงานของมติชนว่า จริง ๆ ไม่ได้ขัดแย้งอะไร เพียงแต่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ไม่ควรในเวลาอันเร็ว ซึ่งกระทรวง ก็ไม่ได้บอกว่าโควิดจะเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ในทันทีทันใด แต่เราก็ได้เน้นย้ำ สร้างความเข้าใจกับประชาชนว่าจะทำอย่างไรหากจะทำให้เป็นโรคประจำถิ่น คือ

  1. เชื้อรุนแรงน้อยลง
  2. คนได้ภูมิต้านทานมากขึ้น
  3. สิ่งแวดล้อมเหมาะสม

ทั้งด้านการแพทย์ด้วย ที่สำคัญเกณฑ์ที่เราใช้ประเมินคือ อัตราเสียชีวิตจากโควิดต้องต่ำ เชื้อรุนแรงน้อย และประชาชนมีมาตรการ VUCA อย่างไรก็ตาม เราจะประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง และสร้างความร่วมมือจากประชาชนให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น

“เราคาดว่าหากคนร่วมมือกัน น่าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นภายในปีนี้ ไม่ใช่วันนี้ พรุ่งนี้ เรื่องโควิดมันเพียงทุกวัน ถ้าสังเกต องค์การอนามัยโลกและหลายประเทศก็พูดไม่ตรงกัน เพราะองค์การอนามัยโลกจะดูภาพรวมใหญ่ ๆ แม้แต่อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ก็เริ่มจะคิดว่าจะเป็นโรคประจำถิ่น เราต้องอยู่ร่วมกับโควิด เสียงจะออกไปทำนองนี้” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยเราเอง ค่อนข้างนำหน้าองค์การอนามัยโลกและประเทศอื่น ๆ ในหลายเรื่อง ตั้งแต่วัคซีนสูตรไขว้ การเปิดประเทศ ภูเก็ตแซนด์บอกซ์  (Phuket Sandbox) และครั้งนี้ก็เรื่องโรคประจำถิ่น เราก็ค่อนข้างพูดเร็วกว่าหลายประเทศ ดังนั้นไม่ได้ขัดแย้งกัน เพราะเราดูในบริบทของประเทศ และมองไปข้างหน้า