พิษแซงก์ชั่นสงครามยูเครน ใคร “บาดเจ็บ” ทางเศรษฐกิจมาก-น้อย

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

การแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจในระดับเข้มข้นขนานใหญ่ที่สหรัฐและสหภาพยุโรปใช้ลงโทษรัสเซียฐานรุกรานยูเครน ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วทั้งโลกโดยเฉพาะต่อประเทศที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายแซงก์ชั่นและฝ่ายถูกแซงก์ชั่น

โดยจากเครื่องมือคาดการณ์ของ “ซีเอ็นบีซี” ที่รวบรวมความเห็นจากนักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ในวอล์ลสตรีตระบุว่า เศรษฐกิจของสหรัฐมีแนวโน้มจะสามารถทนทานพิษจากการแซงก์ชั่น

ส่วนเศรษฐกิจยุโรปจะได้รับผลกระทบหนักกว่าและเสี่ยงจะถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจรัสเซียจะติดลบในระดับ 2 หลัก

เศรษฐกิจสหรัฐน่าจะเติบโตประมาณ 3.2% ในปีนี้ ปรับลงจากคาดการณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์เล็กน้อย 0.3% แต่ก็ยังเหนือกว่าเส้นการเติบโตโดยเฉลี่ย เนื่องจากเศรษฐกิจยังดีดตัวกลับต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการประเมินดังกล่าวไม่ได้รวมเอาปัจจัยบางอย่างที่ยังไม่รู้ เช่น เศรษฐกิจสหรัฐจะตอบสนองต่อราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นรุนแรงทะลุ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอย่างไร

“สตีเฟน สแตนลีย์” นักเศรษฐศาสตร์แอมเฮิร์สต์ เพียร์พอนต์ชี้ว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งทะยานในช่วงไม่กี่วันมานี้่จะปรับลงในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ดังนั้น ผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น ผู้บริโภคยังมีสภาพคล่อง รายได้ที่เติบโตและความมั่งคั่งที่จะนำมาใช้จ่ายอีกมาก

ขณะที่นักวิเคราะห์จากเจพี มอร์แกน เห็นว่าถ้าหากสหรัฐและสหภาพยุโรปแบนน้ำมันจากรัสเซีย 100% ผลกระทบจะรุนแรงมากในระดับที่ทำให้ “เศรษฐกิจโลกช็อก”

ส่วนยุโรปนั้นนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะแย่ยิ่งกว่าและมีความเสี่ยงจะถดถอย โดยบาร์เคลย์ปรับลดจีดีพีของยุโรปในปีนี้จาก 4.1% เหลือ 3.5%

ส่วนเจพี มอร์แกนปรับจีดีพีลงถึง 1% เหลือเพียง 3.2% และเฉพาะไตรมาส 2 ปีนี้คาดว่าการเติบโตเป็น “ศูนย์” เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปัญหาราคาน้ำมันและก๊าซที่ดีดตัวขึ้น และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับตลาดเงิน

ด้านรัสเซียซึ่งเป็นฝ่ายถูกแซงก์ชั่น คาดว่าจีดีพีปีนี้จะติดลบมาก โดยเจพี มอร์แกนประเมินว่าจะติดลบราว 12% เนื่องจากการแซงก์ชั่นจากฝ่ายสหรัฐและยุโรปทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศ 6.3 แสนล้านดอลลาร์ของรัสเซียถูกแช่แข็ง และเศรษฐกิจของประเทศถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ส่วนสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ) เชื่อว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะติดลบถึง 15%

บทวิเคราะห์จากซีเอ็นเอ็นระบุว่า ความหวังที่ “รัสเซีย” จะหันไปขอความช่วยเหลือจากจีนหลังถูกตะวันตกแซงก์ชั่นนั้น จีนเองอาจช่วยอะไรไม่ได้มากเพราะถึงแม้เมื่อไม่กี่ปีมานี้ทั้งสองประเทศจะกระชับสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้น แต่นั่นก็เป็นช่วงก่อนการรุกรานยูเครน

ดังนั้น จีนจึงต้องระมัดระวังท่าทีอย่างมาก จะเห็นว่าถึงแม้จีนจะไม่ร่วมการแซงก์ชั่นแต่ก็ไม่เสนอความช่วยเหลือรัสเซียเพื่อบรรเทาผลกระทบแต่อย่างใด ซึ่งก่อนรัสเซียจะรุกรานยูเครนนั้นทั้งจีนและรัสเซียจับมือกันเพื่อท้าทายตะวันตก แต่เมื่อรัสเซียบุกยูเครนมิตรภาพของสองประเทศเข้าสู่จุดทดสอบ

หากมองในแง่ความสัมพันธ์ทางการค้า “รัสเซียเป็นฝ่ายต้องการจีน” มากกว่าจีนเป็นฝ่ายต้องการรัสเซีย เพราะมูลค่าการค้ากับรัสเซียคิดเป็นเพียง 2% ของมูลค่าการค้าต่างประเทศทั้งหมดของจีน

ขณะที่มูลค่าการค้าของจีนกับยุโรปและสหรัฐมีมากกว่า ดังนั้น จีนจึงไม่เห็นว่าการฝ่าฝืนมาตรการแซงก์ชั่นของตะวันตกเพื่อช่วยรัสเซียจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่า

บรรดาธนาคารจีนก็กลัวจะถูกแซงก์ชั่นไปด้วยถ้าหากทำธุรกรรมกับรัสเซีย เพราะไม่เช่นนั้นจะสูญเสียการเข้าถึงเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงอุตสาหกรรมจีนจะไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีของสหรัฐ

มีรายงานว่าธนาคารขนาดใหญ่ของจีนสองแห่ง คือ “ไอซีบีซี” และ “แบงก์ออฟไชน่า”ได้จำกัดวงเงินในการซื้อโภคภัณฑ์จากรัสเซียเพราะเกรงว่าจะเป็นการฝ่าฝืนการแซงก์ชั่นของฝ่ายตะวันตก

ด้วยเหตุนี้ทางการจีนจึงพยายามรักษาสมดุลอันบอบบางนี้ด้วยการสนับสนุนรัสเซียทางวาจา แต่ก็ไม่ทำอะไรที่เป็นปฏิปักษ์กับตะวันตก