มาครง-เลอแปน ชิงผู้นำฝรั่งเศส เลือกตั้งสะเทือน ‘อียู-นาโต้’

ประหนึ่งดาวฤกษ์สองดวงที่โคจรมาเป็นคู่แข่งกันอีกครั้ง สำหรับ “เอ็มมานูเอล มาครง” จากพรรคสายกลาง La Republique en Marche กับ “มารี เลอแปน” ผู้สมัครจากพรรคฝ่ายขวา Le Rassemblement National หรือเนชั่นแนล ฟรอนต์ (FN) ในฐานะผู้สมัครท้าชิงประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยผลการลงคะแนนรอบ (10 เม.ย.) นายเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศสคนปัจจุบัน คว้าคะแนนเสียงสนับสนุน 28.2% ขณะที่นางมารี เลอแปน มีคะแนน 23.4%

ในการลงคะแนนรอบสอง ในวันที่ 24 เมษายนนี้ ซึ่งจะเป็นรอบชี้ชะตาว่า นายมาครงจะรั้งเก้าอี้ผู้นำฝรั่งเศสสมัยที่สองไว้ได้หรือไม่ หรือฝรั่งเศสจะได้ผู้นำคนใหม่ที่เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ ผู้สมัครฝ่ายขวาจัด ที่ชูนโยบายประชานิยม ซึ่งไม่เพียงจะสะเทือนการเมืองในประเทศเท่านั้น แต่ยังเขย่าไปทั้งสหภาพยุโรป และองค์สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นเวลานานกว่า 2 ทศวรรษแล้วที่ไม่มีประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนใดสามารถรั้งตำแหน่งสมัยที่ 2 ไว้ได้

“มาครง-เลอแปน” เสมือนสองดาวฤกษ์ที่โคจรมาเป็นคู่แข่งคู่ชิงทางการเมืองอีกครั้ง หลังจากศึกเลือกตั้งฝรั่งเศสเมื่อปี 2560 ที่เคยเป็นคู่แข่งกันมา ซึ่งมาครงคว้าชัยชนะด้วยผลคะแนนโหวต 66.1% จากการลงคะแนนทั้งสองรอบ ส่วนการเลือกตั้งปี 2020 จากผลสำรวจของสำนักโพล Ifop ชี้ว่า ในการลงคะแนนรอบสองวันที่ 24 เมษายนนี้ คะแนนนิยมของทั้งคู่สูสี มาครงได้แรงหนุน 51% ส่วนเลอแปนมีคะแนนนิยม 49% และด้วยขอบเขตความคลาดเคลื่อนบวกลบ 7%

หมายความว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้สามารถออกไปทั้ง 2 ทาง ทั้งยังเป็นการเผชิญหน้าอีกครั้งระหว่างพรรคมาครง ซึ่งเป็นฝ่ายเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ กับพรรคของเลอแปน ซึ่งมีจุดยืนขวาจัดและมีท่าทีต่อต้านหลายแนวทางของทั้งอียูและนาโต้

ปัจจัยสำคัญของการเลือกตั้งรอบนี้คือ มีขึ้นท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงขึ้น อันเป็นผลกระทบจากสงครามยูเครน ไม่แค่นั้นฝรั่งเศสยังนับว่ามีบทบาทสำคัญบนเวทีโลกโดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย

ในการหาเสียงของนางเลอแปน มุ่งใช้ประเด็นเรื่องค่าครองชีพที่ชาวฝรั่งเศสต้องแบกรับ โดยเฉพาะเรื่องเงินเฟ้อ สินค้าอุปโภคบริโภค และราคาพลังงานที่สูงขึ้น ทั้งยังวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่เธอบอกว่าชาวฝรั่งเศสหลายรายต่างเหนื่อยหน่ายกับผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองทั้งหลาย ส่งผลให้ช่องว่างคะแนนนิยมระหว่างเลอแปนกับมาครงแคบลง เธอสามารถตีตื้นขึ้นมามีคะแนนใกล้กับมาครงเรื่อย ๆ

ช่วงก่อนที่ปูตินจะเปิดศึกรุกรานยูเครน เลอแปนมักแสดงท่าทีสนับสนุนผู้นำรัสเซียอย่างเปิดเผย กระทั่งปูตินสั่งบุกยูเครน ในระหว่างการหาเสียงเธอได้เบี่ยงประเด็นไปมุ่งเรื่องค่าครองชีพที่ชาวฝรั่งเศสได้รับผลกระทบจากสงคราม ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในหมู่ชาวฝรั่งเศสหลายล้านคน

หนึ่งในคนรุ่นใหม่วัย 23 ปี ที่สนับสนุนนางเลอแปน ยอมรับว่า แม้เลอแปนจะมีแนวคิดขวาจัด และชูประชานิยม แต่ต้องยอมรับว่าเธอรู้จักวิธีพูดคุยกับประชาชนมากกว่าโดยเฉพาะปัญหาที่เป็นรูปธรรมชัดเจน มากกว่าพูดเรื่องปัญหาเชิงนโยบาย

ส่วนมาครงควรคำนึงถึงสิ่งที่คนฝรั่งเศสกำลังได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้ และหยุดเรื่องการทูตระหว่างประเทศไว้สักพัก ขณะที่ในการปราศรัยหาเสียงหลายครั้ง นางเลอแปนประกาศขอบคุณกลุ่มผู้สนับสนุนที่ทำให้เธอเข้ารอบสุดท้ายเพื่อชิงประธานาธิบดีฝรั่งเศสอีกครั้ง พร้อมประกาศลั่นว่า รอบนี้พรรคของเธอต้องชนะเท่านั้น

อดประเมินไม่ได้ว่า หากนางเลอแปน วัย 53 ปี คว้าชัยชนะจะส่งผลสะเทือนต่อทั้งฝรั่งเศสและยุโรปภาคพื้นทวีป ไม่ต่างกับคราวที่ชาวสหราชอาณาจักรลงมติ “เบร็กซิต” ถอนตัวจากสหภาพยุโรป หรือตอนกรณี โดนัลด์ ทรัมป์ ครองทำเนียบขาว เพราะผู้ที่เคยเสนอแนวคิด “เฟร็กซิต” (Frexit) หรือถอนฝรั่งเศสจากอียู ไม่ใช่ใครที่ไหน ซึ่งก็คือนางเลอแปน ซึ่งเธอมองว่าเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ฝรั่งเศสควรออกจากเงินสกุลเดียวของยูโรโซน

ไม่เพียงแค่ประเด็นเศรษฐกิจ นางเลอแปนยังมีท่าทีแข็งกร้าวเรื่องผู้อพยพและอัตลักษณ์ของชาติไปในแนวทางชาตินิยมสุดโต่ง ฝรั่งเศสเป็นชาติหนึ่งในยุโรปที่มีชาวมุสลิมอาศัยจำนวนมาก แต่เลอแปนเสนอให้แบนการสวมผ้าคลุมศีรษะของสตรีมุสลิมในที่สาธารณะ

ไม่เท่านั้นเธอยังเสนอให้จัดทำประชามติ เรื่องการควบคุมการเข้าเมืองอย่างเข้มงวด รวมถึงการกำหนดให้ต้องยื่นใบสมัครพำนักระยะยาวจากต่างประเทศเท่านั้น ยกเลิกการได้สัญชาติอัตโนมัติหากเด็กเกิดในแผ่นดินฝรั่งเศสแม้มีพ่อแม่ต่างชาติ และจะเพิ่มกฎการได้สัญชาติผ่านการสมรสให้ยากขึ้น ชูความสำคัญกับคนฝรั่งเศสมีสิทธิก่อน อาทิ ให้สิทธิในการซื้อบ้านและเข้าถึงบริการสังคมต่าง ๆ แก่คนฝรั่งเศส ก่อนชาวต่างชาติ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ในมุมของผู้เขียนมองว่า เหมือนจะขัดกับอัตลักษณ์พื้นฐานของชาติฝรั่งเศสที่ว่า “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ”

ในแง่นโยบายต่างประเทศ หากเลอแปนชนะมาครง ถือว่าจะเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพของสหภาพยุโรปอย่างมาก จากการที่เธอแสดงจุดยืน “ไม่เห็นด้วย” ต่อการเคลื่อนไหวเสรีภายใต้วีซ่าเชงเก้น ซึ่งปลายทางของจุดยืนนี้คือการนำฝรั่งเศสออกจากยุโรป “เฟร็กซิต”

ขณะที่หากพูดถึงพันธมิตรชาตินาโต้ ซึ่งกำลังเผชิญความท้าทายจากรัสเซีย เลอแปนส่งสัญญาณชัดเจนว่า จะดึงฝรั่งเศสซึ่งเป็นชาติผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เพียงแห่งเดียวของยุโรป ออกจากความร่วมมือนาโต้ เธอฉวยโอกาสจากสงครามยูเครนชี้ว่า “เพื่อไม่ให้ฝรั่งเศสติดกับดักบนความขัดแย้งที่ไม่ใช่เรื่องของชาติเราอีกต่อไป”

ขณะเดียวกัน เลอแปนยังประกาศลดการให้เงินสนับสนุนชาติพันธมิตรในยุโรป อย่างฮังการี และโปแลนด์ ซึ่งบริหารโดยรัฐบาลชุดที่มีแนวคิดเดียวกับพรรค en Marche อย่างไรก็ตาม แม้เธอจะประณามการรุกรานยูเครน แต่เลอแปนก็มีสัมพันธ์ใกล้ชิดเครมลินไม่น้อย ทั้งพรรค FN ของเธอยังเคยได้รับเงินกู้จากธนาคารรัสเซีย

ท่าทีดังกล่าวส่งผลให้พรรคการเมืองหลายฝ่ายแสดงความกังวลเป็นพิเศษโดยเฉพาะพรรคฝ่ายกลาง และพรรรคฝ่ายซ้ายที่ผู้สมัครซึ่งตกรอบไปก่อนหน้านี้ ผนึกกำลังประกาศหนุนมาครงอย่างเต็มที่

24 เมษายน 2022 จึงไม่เพียงแค่การชี้ชะตาการเมืองภายในฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ยังชี้ชะตาอนาคตนาโต้และสหภาพยุโรปเช่นกันว่า “สาธารณรัฐฝรั่งเศส” ชาติเศรษฐกิจใหญ่เบอร์ 2 ของอียู จะเซถลาจากการเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างบูรณภาพของยุโรป ไปสู่แนวคิดการโดดเดี่ยวของประธานาธิบดีที่มีความเคลือบแคลงต่อทั้งอียู และนาโต้ ภายใต้การนำของ “มารี เลอแปน” หรือไม่