เจฟฟ์ เบซอส มอง มัสก์ซื้อทวิตเตอร์ อาจกระทบเทสลาในจีน

REUTERS/File Photo

เจ้าของแอมะซอน ตั้งคำถาม อีลอน มัสก์ เทกโอเวอร์ทวิตเตอร์ อาจสั่นคลอนธุรกิจเทสลาในจีนจากประเด็น Freedom of Speech

วันที่ 26 เมษายน 2565 นายเจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท แอมะซอน อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ได้ทวีตข้อความตั้งข้อสังเกตไม่นานหลังมีข่าวกรณีที่นายอีลอน มัสก์ ประกาศบรรลุข้อตกลงเพื่อซื้อกิจการด้วยวงเงินสูงถึง 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มหาเศรษฐีเจ้าของแอมะซอนได้ทวีตหลายข้อความที่สร้างกระแสให้ผู้คนที่ติดตามเขาตั้งข้อสังเกตและให้ความสนใจต่อการเข้าซื้อธุรกิจทวิตเตอร์ของนายมัสก์ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนแพลตฟอร์ม ซึ่งอาจกลายเป็นความซับซ้อนสำหรับมัสก์ในการขยายธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีน

เบซอสได้รีทวีตข้อความของนาย Mike Forsythe ผู้สื่อข่าวนิวยอร์กไทมส์ ซึ่งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับธุรกิจเทสลาในจีนโดยว่า ตลาดจีนเป็นตลาดใหญ่อันดับสองของเทสลา ซึ่งเป็นรองจากสหรัฐ ขณะที่จีนเองก็เป็นซัพพลายเออร์ผู้ผลิตแบตเตอร์รี่รายใหญ่สำหรับรถยนต์อีวี รวมถึงรถเทสลาด้วย

ขณะที่จีนสั่งแบนทวิตเตอร์มาตั้งแต่ปี 2009 โดยเป็นการใช้แพลตฟอร์มในลักษณะคล้ายกันอย่าง เว่อป๋อแทน ซึ่งรัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ของชาวจีน ทั้งหมดนี้อาจเปลี่ยนไปเมื่อมัสก์ซื้อทวิตเตอร์

นายเบซอส ได้รีทวีตข้อความของนาย Forsythe โดยระบุว่า “นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก รัฐบาลจีนจะได้ประโยชน์อะไรบ้างจากทวิตเตอร์ซึ่งเป็นเหมือนจัตุรัสแห่งการแสดงความเห็นสาธารณะ”

“ความเห็นผมตอบได้เลยว่าจีนจะไม่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ ผมมองว่าผลที่ตามมาไม่ใช่การที่จีนจะเซ็นเซอร์ทวิตเตอร์ แต่กลายเป็นว่าธุรกิจของเทสลาจะเผชิญกับความซับซ้อนในประเทศจีนในอนาคต” นายเบซอส ระบุ

ก่อนหน้าการเข้าเทกโอเวอร์ทวิตเตอร์ นายมัสก์ได้ชูแนวคิดเรื่องเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นในแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ ซึ่งเขาแสดงจุดยืนในประเด็นนี้มานาน ซึ่งเป็นจุดยืนที่สวนทางกับแนวทางของจีนในการควบคุมการแสดงความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดีย

สิ่งที่ซีอีโอแอมะซอนอาจต้องการสื่อนั่นหมายถึง รัฐบาลจีนอาจใช้โอกาสในฐานะที่อีลอน มัสก์ เป็นเจ้าของทวิตเตอร์ในการได้รับผลประโยชน์บางอย่างต่อการถือครองธุรกิจโซเชียลมีเดียของนายมัสก์ โดยเฉพาะธุรกิจโรงงานรถยนต์เทสลาในจีน ซึ่งบริษัทเทสลาได้รับอานิสสงส์จากจีนหลายประเทศ ทั้งการลดหย่อนภาษี เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการที่จีนอนุญาตให้เป็นต่างชาติอย่างเทสลาเป็นเจ้าของธุรกิจในจีนได้อย่างเต็มรูปแบบเป็นกรณีพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ช่วงก่อนหน้านี้ เทสลาในจีนได้เผชิญแรงกดดันจากการที่ทั้งสื่อและหน่วยงานจากรัฐบาลจีน โดยเฉพาะจากหน่วยงานรัฐบาลจีนที่สั่งห้ามเจ้าหน้าที่รัฐใช้รถยนต์ของเทสลา เนื่องจากหวั่นเกรงการรั่วไหลด้านข้อมูลความมั่นคงจากกล้องและเซนเซอร์หลายตัวที่ติดตั้งมากับรถยนต์ ครั้งหนึ่งเคยมีกรณีที่ศูนย์บัญชาการทหารแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่งสั่งห้ามรถยนต์ของเทสลา เข้ามาจอดในพื้นที่สำนักงาน เนื่องจากกังวลเรื่องการรั่วไหลข้อมูลความลับทางราชการดังกล่าว