ที่ประชุมผู้นำ G-7 ลั่นคำมั่น เดินหน้ามาตรการห้ามนำเข้าน้ำมันรัสเซีย

ประชุม G7 วันที่ 8 พ.ค. 2565
ภาพการประชุมทางไกลของผู้นำประเทศกลุ่ม G7 จากห้องประชุมของประธานาธิบดีฝรั่งเศสในพระราชวังเอลิเซ่ เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2565 Photo by Thibault Camus / POOL / AFP)

ผู้นำ G-7 ประชุมร่วมเซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน พร้อมให้คำมั่นเดินหน้ามาตรการห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย

วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 บลูมเบิร์ก รายงานระบุว่า ในการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ G-7 ซึ่งประกอบด้วย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 8 พ.ค. (ตามเวลาท้องถิ่น) เป็นอีกความเคลื่อนไหวของชาติตะวันตกและมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่ต้องการแสดงจุดยืนต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

โดยการประชุมครั้งล่าสุดนี้ ผู้นำ G-7 ให้คำมั่นเรื่องห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย เพื่อตอบโต้สงครามที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กระทำในสมรภูมิยูเครน

สำหรับคำมั่นดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำที่ครอบครองขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าครึ่งของโลก ได้ประชุมหารือกันผ่านการประชุมทางไกลกับโวลาดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันก่อนวัน Victory Day (วันที่ 9 พ.ค.) ของรัสเซีย

ซึ่งเป็นการฉลองชัยชนะของรัสเซียเหนือกองทัพนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และในเวลาต่อมาเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของรัสเซีย ที่รัสเซียใช้รณรงค์เพื่อสนับสนุนการรุกรานผู้อื่น เป็นมาตรฐานของการรณรงค์ของเครมลินเพื่อสนับสนุนการบุกรุกของสาธารณชน

โดยผลการประชุม พบว่า สหรัฐและสหราชอาณาจักร ประกาศห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียแล้ว ส่วนเยอรมนีสนับสนุนข้อเสนอของสหภาพยุโรป (อียู) ให้กำจัดการนำเข้าน้ำมันรัสเซียภายในเดือน ม.ค. ปีหน้า

ส่วนนายฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นให้คำมั่นว่า ญี่ปุ่นจะยุติการซื้อน้ำมันของรัสเซียเช่นกัน

ในแถลงการณ์ ประชุมกลุ่ม G-7 มีข้อความระบุว่า บรรดาผู้นำจะ “มุ่งมั่นยุติการพึ่งพาพลังงานของรัสเซีย รวมถึงการยุติหรือห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย”

“เราจะทำให้แน่ใจว่าเราจะทำเช่นนั้นในเวลาที่เหมาะสมและเป็นระเบียบ พร้อมกับจะให้เวลากับโลกสำหรับการจัดหาแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นๆ”

ผู้นำ G-7 ยังกล่าวด้วยว่าพวกเขาจะใช้มาตรการห้ามหรือป้องกันการให้บริการหลักที่รัสเซียต้องพึ่งพา ซึ่ง “สิ่งนี้จะตอกย้ำการแยกตัวของรัสเซียในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ”

พร้อมการทำงานร่วมกับพันธมิตร “เพื่อให้แน่ใจว่ามีอุปทานพลังงานทั่วโลกที่มั่นคง ยั่งยืน และมีราคาที่ไม่แพงสำหรับผู้บริโภค รวมถึงการเร่งลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยรวม การเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดตามวัตถุประสงค์ด้านสภาพอากาศของเรา”

คำแถลงดังกล่าวยังรวมถึงคำมั่นด้านการคว่ำบาตรทางการเงินที่จะเกิดขึ้นในระยะถัดไป

โดยมุ่งไปที่ “การต่อต้านธนาคารรัสเซียที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกและมีความสำคัญต่อระบบการเงินของรัสเซียอย่างเป็นระบบ” โดย “ความพยายามต่อสู้กับการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลมอสโก และ การยกระดับการรณรงค์ต่อต้านชนชั้นนำทางการเงินและครอบครัวที่ยังสนับสนุนปูตินอยู่”

แหล่งข่าวของบลูมเบิร์ก ระบุด้วยว่า การประชุมดังกล่าวมีขึ้น ในขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) พยายามอย่างมากเพื่อหาข้อตกลงห้ามการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย โดยฮังการีชะลอข้อเสนอเลิกใช้น้ำมันดิบในช่วง 6 เดือนข้างหน้าและน้ำมันกลั่นภายในเดือน ม.ค. และการห้ามขนส่งน้ำมันรัสเซียไปยังประเทศที่ 3 อาจล่าช้าออกไปจนกว่าประเทศ G-7 จะใช้มาตรการที่คล้ายคลึงกัน