เงิน “รูเบิล” แข็งค่ารอบ 7 ปี ถูกเปรียบเป็น “โปเทมคิน”

เงิน รูเบิล
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

 

รัสเซียรุกรานยูเครนด้วย “สงครามจริง” ทางกายภาพ แต่รัสเซียถูกสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรถล่มด้วย “ระเบิดนิวเคลียร์ทางการเงิน” ซึ่งยิงออกมาแล้วหลายลูกอย่างต่อเนื่อง

ลูกท้าย ๆ คือการแซงก์ชั่นศูนย์รับฝากแห่งชาติของรัสเซีย (NSD) เป็นผลให้รัสเซียถูกตีตราว่า “ผิดนัดชำระหนี้” เป็นครั้งแรกในรอบ 100 กว่าปี เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากไม่สามารถหาช่องทางชำระดอกเบี้ยพันธบัตรยูโรของรัฐบาลรัสเซียให้กับนักลงทุนได้

แต่รัสเซียปฏิเสธว่า “ไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้” เพราะมีเงินจ่าย เพียงแต่ถูกชาติตะวันตกปิดกั้นช่องทางในการจ่ายให้กับนักลงทุน เนื่องจาก NSD ถูกแซงก์ชั่น

ประธานาธิบดี “วลาดิมีร์ ปูติน” กล่าวหลายครั้งว่า การเล่นงานรัสเซียด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจและการเงินของชาติตะวันตกไม่ได้ผล ซึ่งหนึ่งในหลักฐานที่คนในรัฐบาลรัสเซียและฝ่ายสนับสนุนรัสเซียนำมากล่าวอ้างก็คือค่าเงินรูเบิลที่แข็งค่า

โดยเมื่อปลายเดือนที่แล้วเงินรูเบิลดีดกลับมาแข็งค่าที่สุดนับจากปี 2015 ที่ระดับ 52.3 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐ ต่างจากต้นเดือนมีนาคมที่ดิ่งลงอย่างหนักที่ระดับ 139 รูเบิลต่อดอลลาร์หลังจากถูกตะวันตกแซงก์ชั่นระลอกแรก

ในบางครั้งค่าเงินที่แข็งค่าถูกมองว่า เป็นตัวชี้วัดสุขภาพที่ดีของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ในกรณีของรัสเซีย ผู้เชี่ยวชาญมองว่าน่าจะส่งผลเสียในระยะยาวมากกว่า เพราะการแข็งค่าไม่ได้เกิดจาก “พื้นฐานแท้จริง” ของเศรษฐกิจ แต่เกิดจาก 1.ราคาพลังงานที่พุ่งสูงอย่างมาก สร้างรายได้ให้กับรัสเซียมาก 2.รัสเซียควบคุมการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ 3.ผลจากการแซงก์ชั่นของชาติตะวันตก

ตามข้อมูลของศูนย์วิจัยพลังงานของฟินแลนด์ ระบุว่า ใน 100 วันแรกหลังจากรัสเซียบุกยูเครน รัสเซียโกยรายได้จากการส่งออกพลังงาน 9.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้กว่าครึ่ง หรือประมาณ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นรายได้จากสหภาพยุโรป เนื่องจากยุโรปยังต้องซื้อพลังงานจากรัสเซีย

“แมกซ์ เฮสส์” นักวิชาการสถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศในฟิลาเดลเฟีย ชี้ว่า รายได้จากการขายพลังงานทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของรัสเซียเกินดุลอย่างมาก โดยระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคมปีนี้เกินดุล 1.1 แสนล้านดอลลาร์ มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 3.5 เท่า ทำให้ค่าเงินรูเบิลแข็ง

แต่เนื่องจากรัสเซียถูกตัดขาดจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ หรือ SWIFT และถูกบล็อกไม่ให้ค้าขายระหว่างประเทศด้วยเงินดอลลาร์และยูโร ทำให้เท่ากับว่ารัสเซียต้องค้าขายกับตัวเอง จึงมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมหาศาลจากการขายพลังงาน

แต่ทว่าไม่สามารถใช้เงินนั้นเพื่อซื้อสินค้าจากต่างประเทศเพราะถูกแซงก์ชั่น ในที่สุดก็ทำให้เงินรูเบิลแข็งค่า

เฮสส์กล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนของเงินรูเบิลที่แข็งค่าที่จริงแล้วเป็น “โปเทมคิน” (Potemkin) คือ “แข็งค่าแค่บนกระดาษ” เพราะเป็นผลจากการนำเข้าลดฮวบ เนื่องจากไม่สามารถซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้

“จุดประสงค์ของการมีทุนสำรองต่างประเทศเยอะ ๆ ก็เพื่อใช้สำหรับซื้อสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจของคุณ แต่รัสเซียไม่สามารถซื้อสิ่งจำเป็นนั้นได้ สุดท้ายแล้วจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจรัสเซีย รวมถึงความเป็นอยู่ของประชาชน”

แม้แต่สำนักงานสถิติของรัสเซียก็ยอมรับว่า ไตรมาสแรกปีนี้จำนวนชาวรัสเซียที่ยากจนก็เพิ่มจาก 12 ล้านคน เป็น 21 ล้านคน ดังนั้น ค่าเงินรูเบิลจึงไม่ใช่ตัวชี้วัดสุขภาพเศรษฐกิจรัสเซีย

สำหรับ “โปเทมคิน” หมายถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของรัสเซียช่วงปี ค.ศ. 1783 ที่นาย Grigory Potemkin รัฐมนตรีและคนรักของจักรพรรดินีแคเธอรีนที่ 2 แห่งจักรวรรดิรัสเซีย ต้องการเอาใจจักรพรรดินี จึงสร้างหมู่บ้านปลอมตามริมฝั่งแม่น้ำที่พระนางเสด็จผ่าน โดยหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านเคลื่อนที่ที่สามารถถอดประกอบและเคลื่อนย้ายไปติดตั้งในทุกสถานที่ที่พระนางเสด็จไป

ปัจจุบันคำว่าโปเทมคินกลายมาเป็นศัพท์การเมืองและเศรษฐกิจที่ใช้เปรียบเปรยสิ่งลวงตา

เธมอส ฟิโอทาคิส หัวหน้าฝ่ายวิจัยอัตราแลกเปลี่ยนของบาร์เคลย์ ระบุว่า การแข็งค่าของเงินรูเบิลเกิดจากปัจจัยภายนอก ทั้งการถูกแซงก์ชั่นและราคาพลังงานในตลาดโลกที่สูงขึ้น มากกว่าจะเกิดจากพื้นฐานระยะยาวของเศรษฐกิจมหภาค อีกทั้งการแข็งค่าไม่ได้หมายถึงว่ารัสเซียรอดพ้นจากพิษแซงก์ชั่น