คลื่นความร้อนสูง สะเทือนอเมริกันชนกว่า 100 ล้านคน

คลื่นความร้อน ดาลัส
REUTERS/Shelby Tauber

คลื่นความร้อนสูง ทุบสถิติ สหรัฐเตือนชาวอเมริกันกว่า 100 ล้านคนรับผลกระทบ ยูเอ็นชี้สถานการณ์นี้จะพบบ่อยขึ้นนานถึงทศวรรษ 2060 หรือ อีก 38 ปีหลังจากนี้  

วันที่ 22 กรกฎาคม 2565  ยูเอสเอ ทูเดย์ รายงานว่า ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนในช่วงฤดูร้อนกำลังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างหนัก ถึงขั้นที่นักพยากรณ์อากาศต่างพากันยกระดับการเตือนภัยคลื่นความร้อนที่สูงเกินกว่ากำหนด จะส่งผลกระทบชาวอเมริกันมากกว่า 100 ล้านคน

สำนักพยากรณ์อากาศสหรัฐ (NWS) เปิดเผยว่า คลื่นความร้อนที่อันตราย นี้จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยรัฐต่าง ๆ ตั้งเเต่รัฐเทกซัส หลุยเซียนา ไปจนถึงแคนซัส มิสซูรี ซึ่งอยู่บริเวณตอนกลางและตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเเห่งอยู่ในรายชื่อคำเตือนเกี่ยวกับคลื่นความร้อนสูง โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ถูกคาดการณ์ว่าดัชนีการวัดค่าความร้อนจะสูงขึ้นจนเเตะอย่างน้อย 90 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 32 องศาเซลเซียส และในพื้นที่อื่น ๆ ทั้งในพื้นที่อุทยานเเห่งชาติ แกรนด์แคนยอน ของรัฐแอริโซนา (Phantom Ranch, Grand Canyon) ก็กำลังจะมีดัชนีค่าความร้อนสูงถึงระดับ 114 องศาฟาเรนไฮต์ (45 องศาเซลเซียส)

ขณะที่เมืองอะมาริลโล ในรัฐเทกซัส ก็ได้ถูกคาดการณ์คล้ายกันว่าจะสูงถึง 113 องศาฟาเรนไฮต์ รวมถึงที่เมืองชรีฟพอร์ต ในรัฐหลุยเซียนา (Shreveport, Louisiana) ก็จะมีค่าความร้อนพุ่งสูงถึง 108 องศา (42 องศาเซลเซียส)

นักพยากรณ์กล่าวว่รัฐอาร์คันซัส หลุยเซียนา โอกลาโฮมา เทนเนสซี และเทกซัส ต่างก็ถูกคาดการณ์ว่าจะสัมผัสได้ถึงความร้อนเเรงของอุณหภูมิที่แตะไปจนถึงระดับสูงสุด

“การเตือนครั้งนี้จำกัดไว้เพียงแค่วันที่ร้อนที่สุดของปีและถูกนำมาใช้เฉพาะตอนที่อุณหภูมิถูกคาดการณ์ว่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับที่เป็นอันตราย” สำนักพยากรณ์อากาศเขียนไว้ในประกาศคำเตือนคลื่นความร้อนสูงเกินกว่ากำหนด

โดยทางสำนักพยากรณ์จะกำหนดพื้นที่แต่ละแห่งไว้ภายใต้ประกาศเตือนคลื่นความร้อนที่สูงเกินกว่ากำหนดก็ต่อเมื่อค่าอุณหภูมิดัชนีความร้อนสูงสุดของพื้นที่นั้น ๆ ถูกพยากรณ์ว่าจะสูงขึ้นมากกว่า 105 องศาฟาเรนไฮต์ (เทียบเท่ากับ 40 องศาเซลเซียส) เป็นเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 วัน

และเมื่ออุณหภูมิไม่ลดลงไปต่ำกว่า 75 องศาฟาเรนไฮต์ (23 องศาเซลเซียส) คำเเนะนำด้านคลื่นความร้อนจะถูกประกาศออกมาก็ต่อเมื่ออุณหภูมิ ณ พื้นที่นั้น ๆ ถูกพยากรณ์ว่าจะแตะ 100 องศาฟาเรนไฮต์ (37 องศาเซลเซียส) เป็นอย่างน้อย 2 วัน

คลื่นความร้อนส่งผลกระทบกว้างขวาง

อ้างอิงจากสำนักพยากรณ์อากาศ ดัชนีความร้อนนั้นถูกคำนวณผ่านความรู้สึกที่สัมผัสได้ถึงอากาศร้อนจริง ๆ เมื่อความชื้นนั้นถูกรวมเข้ากับอุณหภูมิของอากาศที่แท้จริง เช่น หากค่าความชื้นสัมพัทธ์ (อัตราส่วนของไอน้ำที่มีอยู่ในอากาศ) อยู่ที่ 70% และมีอุณหภูมิอยู่ที่ 90 องศาฟาเรนไฮต์ ค่าดัชนีความร้อนจะอยู่ที่ 105 องศา

รายงานเผยว่า “สภาพคลื่นความร้อนจัด” นี้จะยังคงมีต่อเนื่องไปตลอดสัปดาห์และแผ่ขยายปกคลุมพื้นที่บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา คำเตือนคลื่นความร้อนสูงกว่ากำหนดโดยส่วนมากนั้นจะครอบคลุมบริเวณพื้นที่ราบลุ่มทางตอนใต้และบริเวณหุบเขาตอนล่างของแม่น้ำมิสซิสซิปปี

นอกจากนี้ยังมีคำเตือนมากมายที่ถูกประกาศในบริเวณพื้นที่บางส่วนทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ เริ่มตั้งแต่ที่ฟิลาเดเฟีย ไปจนถึงบอสตัน ซึ่งในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวนั้น ดัชนีคลื่นความร้อนถูกพยากรณ์ว่าจะสูงขึ้นถึง 100 องศาฟาเรนไฮต์ หรือเทียบเท่ากับ 37 องศาเซลเซียส

ความเสี่ยงไฟป่ากำลังมีมากขึ้นในหลายรัฐ

นอกจากอุณหภูมิความร้อนที่สูงขึ้นแเล้ว รัฐหลายรัฐกำลังเผชิญกับการแจ้งเตือนอันตรายไฟป่าในระดับที่สูงขึ้น

สำนักพยากรณ์ได้ระบุพื้นที่บางส่วนของหลุยเซียนา เนบราสก้า โอกลาโฮมา และเทกซัส ไว้ภายใต้การเเจ้งเตือนระดับธงเเดง (Red Flag Warnings) หรือระดับที่ส่งผลอันตรายซึ่งอาจเกิดไฟป่าขึ้นได้

การแจ้งเตือนเหล่านี้หมายถึงสภาพอากาศที่รวมถึงคลื่นความร้อนสูง ค่าความชื้นต่ำ และลมที่พัดรุนเเรงตลอดจนพืชพันธุ์ที่แห้งแล้ง กำลังเป็นส่วนผสมสำคัญที่จะก่อให้เกิดไฟป่าที่อาจลุกลามอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้

ศูนย์เฝ้าระวังไฟป่าแห่งสหรัฐ (National Interagency Fire Center) เปิดเผยว่า ไฟป่าขนาดใหญ่กว่า 90 แห่ง กำลังลุกไหม้ต่อเนื่องบนพื้นที่กว่า 13 รัฐ ซึ่งสูงถึง 58 แห่งในรัฐอลาสกาเพียงรัฐเดียว

โดยจนถึงวันอังคารที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีพื้นที่กว่า 3 ล้านเอเคอร์ หรือเทียบเท่ากับ 7.5 ล้านไร่ ในสหรัฐ กำลังถูกปกคลุมด้วยไฟป่าขนาดใหญ่ ซึ่งไฟป่าขนาดใหญ่ที่สุดที่กำลังลุกไหม้ในขณะนี้ครอบคลุมพื้นที่กว้างถึง 865,620 เอเคอร์ ที่บริเวณเมืองแมคกราธ (McGrath) ในรัฐอลาสกา โดยทางการเข้าควบคุมได้แล้วกว่า 56% ของพื้นที่ และคาดว่าจะสามารถควบคุมได้ทั้งหมดภายในวันที่ 1 สิงหาคมนี้

จะอยู่ให้ปลอดภัยอย่างไรในคลื่นความร้อน

สำนักพยากรณ์อากาศสหรัฐแนะนำให้ผู้คนระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่ออยู่นอกที่พักอาศัยและทำสิ่งต่าง ๆ เช่น ดื่มน้ำให้มาก ๆ อยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ และหลีกเลี่ยงแดดจัด

“พยายามใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษหากคุณทำงานหรือใช้เวลาอยู่ข้างนอก เมื่อเป็นไปได้ให้เปลี่ยนตารางกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังมากในช่วงเช้าหรือเย็น และศึกษาสัญญาณหรืออาการอ่อนเพลียจากความร้อนและภาวะฉุกเฉินจากความร้อน หรือโรคลมแดด (Heat Stroke)” เป็นข้อความที่สำนักพยากรณ์ระบุไว้ในคำเเจ้งเตือน

เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องรู้จักอาการอ่อนเพลียจากความร้อนและโรคลมเเดด โดยอาการอ่อนเพลียจากความร้อนนั้น ได้แก่ การวิงเวียนศีรษะ เหงื่อออกมาก ผิวซีด คลื่นไส้ ชีพจรเต้นต่ำ และการปวดกล้ามเนื้อ

สำหรับผู้ที่เจอกับโรคลมแดด อาจมีอาการอาการปวดหัวเป็นจังหวะ ผิวแห้ง คลื่นไส้ และอาจถึงขั้นหมดสติ

ยูเอ็นเตือน คลื่นความร้อนจะถี่ขึ้นอีกจนถึงทศวรรษที่ 2060

ขณะเดียวกัน เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ได้รายงานว่า องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) และสหประชาชาติ (UN) เตือนว่าคลื่นความร้อนเช่นเดียวกับแบบที่กำลังปกคลุมยุโรปอยู่นั้นจะมีมากขึ้นและกลายเป็นเรื่องปกติในช่วงเดือนฤดูร้อน โดยปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงทศวรรษที่ 2060

องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลกระบุด้วยว่า คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันควรเป็นเสียงปลุกเตือนให้กับประเทศต่าง ๆ ที่กำลังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ

“มันกำลังจะเกิดมากขึ้นและปรากฎการณ์เชิงลบนี้จะยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง อย่างน้อยจนถึงช่วงทศวรรษที่ 2060 เลขาธิการองค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก” กล่าว