ฟุตบอลโลก 2022 : นักวิชาการด้านสื่อกังขา หาก กสทช. จ่าย 1.6 พันล้านบาทให้คนไทยชมฟุตบอลโลก คุ้มค่าหรือไม่

 

ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

ที่มาของภาพ, KIRILL KUDRYAVTSEV/Getty Images

การประชุมของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วาระด่วน เรื่องการขอสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาสื่อในการซื้อลิขสิทธิถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในวันพรุ่งนี้ (9 พ.ย.) กำลังถูกจับตาจากสังคมอย่างใกล้ชิด

ด้วยระยะเวลากระชั้นชิดที่เหลือไม่ถึงสองสัปดาห์ การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่กาตาร์จะเริ่มต้นขึ้นระหว่างวันที่ 20 พ.ย. – 18 ธ.ค. นี้

ทว่า ไทยเป็นชาติสุดท้ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาตินี้ แม้ฝ่ายการเมืองอย่าง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ลั่นวาจาว่าคนไทยจะต้องได้ดูฟรีและเป็นของขวัญจากรัฐบาล

การพิจารณาวาระด่วนที่กำลังจะมีขึ้นโดยคณะกรรมการ กสทช. ( บอร์ด กสทช.) ครั้งนี้ เป็นผลมาจากการกีฬาแห่งประเทศไทยได้ทำหนังสือขอให้บอร์ด กสทช. พิจารณาสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาเป็นมูลค่ากว่า 42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,600 ล้านบาท โดยจะครอบคลุมในส่วนการซื้อลิขสิทธิ์และภาษี รวมทั้งส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้ได้รับชมการแข่งขันผ่านฟรีทีวีทั้ง 64 แมตช์

ด้านนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ยอมรับกับเว็บไซต์ข่าวสดว่า รู้สึกหนักใจกับตัวเลขที่ กกท. ได้นำเสนอมา รวมถึงเอกสารที่ กกท. ส่งมาไม่มีรายละเอียดมากนัก ส่วน บอร์ด กสทช. จะอนุมัติหรือไม่อย่างไรขึ้นอยู่ที่ผู้ว่าการ กกท. จะชี้แจงในที่ประชุมอย่างไร อาจจะให้ทั้งหมด หรือให้บางส่วน หรือไม่ให้เลย ก็เป็นไปได้เช่นกัน

นักวิชาการด้านสื่อคัดค้านการใช้กองทุน กทปส.

ความเคลื่อนไหวล่าสุดในวันนี้ (8 พ.ย.) นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนอิสระนำโดยคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์ในฐานะภาควิชาการและประชาสังคม แสดงเจตจำนงคัดค้านการที่ กสทช. จะนำเงินกองทุนพัฒนาสื่อของ กสทช. ไปใช้สนับสนุนการซื้อลิขสิทธิถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เพราะไม่เข้าข่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุนและยังส่งผลต่อสภาพคล่องของเงินทุนในการทำประโยชน์ในกิจการที่เกี่ยวข้องในอนาคตอีกด้วย

"นับเป็นการสูญเสียเงินจำนวนมากที่ควรใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะไปกับการถ่ายทอดสดเฉพาะฟุตบอลโลก 2022 ในระยะเวลา 1 เดือนเท่านั้น" รศ. ดร. ปรีดา

ที่มาของภาพ, Watchiranont Thongtep/BBC Thai

ในแถลงการณ์ของคณะนักวิชาการระบุถึงเหตุผลที่คัดค้านการนำเงินกองทุนดังกล่าว 6 ประการ แต่นี่คือสาระสำคัญ

  • หาก กสทช. พิจารณาอนุมัติเงินสนับสนุนดังกล่าว จะเป็นการนำเงินจากบัญชีของ กทปส. ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ การเข้าถึงบริการกระจายเสียง บริการโทรทัศน์ บริการโทรคมนาคมสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้มีความต้องการหลากหลายในสังคม การพัฒนาบุคลากรและองค์กรวิชาชีพ ตลอดจนสนับสนุนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
  • แหล่งของเงินที่ กสทช. จะนำมาใช้ในกรณีนี้ได้ คือ เงินจากบัญชีที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ นั่นคือ บัญชีที่ 1 ที่เป็นบัญชีหลักของกองทุน และบัญชีที่ 2 ที่เป็นเงินสำหรับแผนงาน USO (Universal Service Obligation) มีวัตถุประสงค์หลักคือการสนับสนุนให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีความต้องการหลากหลายในสังคมได้เข้าถึงบริการด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่างทั่วถึงและเสมอภาค
  • ที่ผ่านมา กสทช. เคยให้การสนับสนุนเงินจากกองทุน กทปส. จำนวน 240 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้การกีฬาแห่งประเทศไทยซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการกีฬาโอลิมปิก จำนวน 5 รายการ ได้แก่ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น การแข่งขันโอลิมปิกเยาวชนฤดูหนาว 2020 ณ เมืองโลซาน สมาพันธ์รัฐสวิส การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน การแข่งขันโอลิมปิกเยาวชนฤดูร้อน 2022 ณ กรุงดาการ์ สาธารณรัฐเซเนกัล และเอเชียนเกมส์ 2022 ณ เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยให้เหตุผลและหลักการสนับสนุนว่าเป็นรายการที่มีความหลากหลายของชนิดกีฬา และมีหลายชนิดกีฬาที่คนไทยเข้าร่วมแข่งขัน เข้าข่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. บัญชีที่ 1 และ 2 ได้
  • ส่วนกรณีการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่แม้จะมีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกระจายเสียงและโทรทัศน์ ที่มุ่งหมายให้ประชาชนคนไทยได้รับชมรายการกีฬาฟุตบอล แต่ก็เป็นประเภทกีฬาเฉพาะกลุ่มที่มีคนไทยให้ความสนใจจำนวนกลุ่มหนึ่ง และคนไทยไม่ได้มีส่วนร่วมแข่งขันในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งนี้ด้วย จึงมิได้มีลักษณะที่เข้าข่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. บัญชีที่ 1 และ 2

หวั่นกระทบต่อแผนงานที่ กสทช. วางแผนไว้ก่อน

รศ.ดร. ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ผู้แถลงข่าว ยังอ้างถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากสภาพคล่องของกองทุนดังกล่าว ที่มีวัตถุประสงค์หลักคือ การพัฒนาสื่อมวลชน ส่งเสริมการเข้าถึงบริการสาธารณะทางกิจการโทรทัศน์และวิทยุ โดยอ้างอิงถึงข้อมูลจากเว็บไซต์ของกองทุน กทปส. ได้เผยแพร่มติที่ประชุมคณะกรรมการบริการกองทุน กทปส. ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2565 ได้ระบุสถานะเงินคงเหลือของกองทุน กทปส. บัญชีที่ 1 (รวมเงินประมูลคลื่นทีวีดิจิทัลและเงินทั่วไป) คงเหลือ 3,435.07 ล้านบาท ส่วนบัญชีที่ 2 คงเหลือ 804.27 ล้านบาท

แต่จากการรายงานข่าวของสำนักข่าวอิศรา เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ระบุข้อมูลจากแหล่งข่าวใน กสทช.ว่า ปัจจุบัน สถานะเงินคงเหลือของกองทุน กทปส. ที่สามารถนำมาใช้กับกรณีนี้ได้ คงเหลือประมาณ 2,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น

นักวิชาการรายนี้จึงตั้งข้อสังเกตว่า การพิจารณานำเงินจากกองทุน กทปส. ซึ่งเป็นเงินส่วนกลางเพื่อประโยชน์สาธารณะไปใช้สนับสนุนการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย จึงขัดต่อวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. และมีโอกาสอย่างยิ่งที่จะกระทบต่อสภาพคล่องของเงินทุน ส่งผลกระทบสำคัญต่อโอกาสในการเข้าถึงบริการที่เกี่ยวข้อง เกิดการหยุดชะงักของการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรสื่อสารของประเทศ และจะส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อการขาดโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมของคนไทยทั้งประเทศในภาพรวมได้

“นับเป็นการสูญเสียเงินจำนวนมากที่ควรใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะไปกับการถ่ายทอดสดเฉพาะฟุตบอลโลก 2022 ในระยะเวลา 1 เดือนเท่านั้น” รศ. ดร. ปรีดา กล่าว

ผลการพิจารณาจะเป็นอย่างไร กสทช. ต้องชี้แจงสังคม

คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยตั้งคำถามว่า กสทช. ควรจะสนับสนุนหรือไม่ เพราะการเป็นองค์กรอิสระจะเข้าไปแทรกแซงกลไกการแข่งขันได้หรือไม่ ขณะเดียวกัน อาจจำเป็นจะต้องทบทวนการใช้กฎระเบียบของ กสทช. อย่าง ประกาศ กสทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์รายการ โทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป หรือ กฎมัสต์แฮฟ (Must Have) ซึ่งกำหนดให้รายการแข่งขันกีฬา 7 ประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะจะต้องออกอากาศผ่านฟรีทีวีเพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับชมเท่านั้น โดยประกอบด้วย รายการแข่งขันกีฬาซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชียนเกมส์, เอเชียนพาราเกมส์, โอลิมปิก, พาราลิมปิก, และ ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย และ กฎมัสต์แครี่ (Must Carry) ที่กำหนดให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตกิจการทีวีทุกประเภทของ กสทช.ต้องออกอากาศช่องทีวีดิจิตอลเท่านั้น

ทีวีดิจิทัล

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/DIGITAL TV (NBTC)

“ทางแก้ไขระยะสั้นจะต้องมีการเจรจาทางกองทุนและเอกชนที่เกี่ยวข้องมาสนับสนุนงบประมาณ และทบทวนการใช้กฎระเบียบของ กสทช. มีวิธีการผ่อนปรนเป็นกรณีพิเศษหรือไม่” เขาระบุ

ผศ.ดร. มรรยาท อัครจันทโชติ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ไม่ว่าผลการตัดสินจะเป็นอย่างไร อยากให้สังคมจับตาคำอธิบายขององค์กรอิสระนี้ว่าเป็นอย่างไร

ผศ.ดร. มรรยาท อัครจันทโชติ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มาของภาพ, Watchiranont Thongtep/BBC Thai

“เงินงบประมาณสูงมาก และจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุน สิ่งที่กระทบตามมาคือ สิ่งที่สูญไปจะนำไปใช้อะไร และกระทบต่อแผนงานต่าง ๆ กสทช. จะต้องออกมาชี้แจงว่าแผนงานอะไรจะได้รับผลกระทบ” ผศ.ดร. มรรยาท กล่าว และว่า สถานีโทรทัศน์ช่องใดที่จะได้รับสิทธิในการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬานี้ด้วย คุ้มค่ากับการนำเงินของประชาชนไปลงทุนเพื่อเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่

ที่มาของกองทุน กทปส.

จากข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของ กองทุน กทปส. ได้อธิบายถึงที่มาของเงินทุนดังนี้

  • ทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้
  • เงินที่ได้รับการจัดสรรจากรายได้ สำนักงาน กสทช.
  • เงินค่าปรับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม
  • เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้เพื่อสมทบกองทุน
  • เงินที่ส่งเข้ากองทุนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ไม่เกิน 2% ของรายได้ผู้ได้รับใบอนุญาต
  • เงินที่ส่งเข้ากองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคม 2.5% ของรายได้ผู้ได้รับใบอนุญาต
  • เงินรายได้จากการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ได้รับคืนภายหลังหักค่าใช้จ่ายในการจัดสรรคลื่นความถี่
  • ดอกผลและรายได้ของกองทุน รวมทั้งผลประโยชน์จากการวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม
  • เงินและทรัพย์สินอื่นที่ตกเป็นของกองทุน

คนไทยชื่นชอบกีฬามากน้อยเพียงใด

ข้อมูลผลการสำรวจ Nielsen Fan Insights ของบริษัทวิจัยต่างชาติ นีลเส็น ที่เผยแพร่เมื่อเดือน มิ.ย. 2564 เกี่ยวกับความนิยมกีฬาของคนไทยบ่งขี้ว่า คนไทยมีความสนใจการแข่งขันกีฬาในรายการต่าง ๆ อย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการสำรวจ ผู้ชมกีฬาชาวไทย ระหว่างเดือน ก.พ. 2564 ถึงช่วงกลางปี

นักฟุตบอล

ที่มาของภาพ, Getty Images

รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า คนไทยยังดูกีฬาจำนวน 43 ล้านคน หรือคิดเป็น 84% ของประชากร และช่องทางหลักในการรับชมกีฬาของคนไทยยังคงเป็นฟรีทีวี 74% ตามมาด้วยโซเชียลมีเดีย 69% บริการสตรีมมิ่ง 46% และเปย์ทีวีหรือระบบบอกรับสมาชิก 37% เป็นต้น

สำหรับรายการกีฬาและทัวร์นาเม้นต์คนไทยชื่นชอบมากสุด ประกอบด้วย อันดับที่หนึ่งคือ ฟุตบอลโลก 61% ตามมาด้วย เอเชียนเกมส์ 55% ซีเกมส์ 54% และเอเชียน วอลเลย์บอล คัพ 53%

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว