กรมชลฯโต้โซเชียลแห่แชร์ “หายนะมาเยือนภาคอีสานใต้แล้ว” ยันอ่างเก็บน้ำแข็งแรง

เขื่อนอีสานใต้
ภาพจาก สวท.นครราชสีมา กรมประชาสัมพันธ์

กรมชลประทานโต้โซเชียลแห่แชร์ข้อความ “หายนะมาเยือนภาคอีสานใต้แล้ว อ่างเก็บน้ำล้นทุกอ่างแล้ว” ยันอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคอีสานใต้ ยังมั่นคงแข็งแรง สทนช.พร้อมรับมือพายุโนรู เตรียมถกแผนระบายน้ำ 10 ทุ่งรับน้ำ ที่เทศบาลเมืองผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา วันนี้ (27 ก.ย. 65) ล่าสุดพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้ง 10 ทุ่ง เก็บเกี่ยวข้าวแล้วคิดเป็น 96.66%

วันที่ 27 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่มีการแชร์ข้อความบนโลกออนไลน์ (Facebook) ว่า “หายนะมาเยือนภาคอีสานใต้แล้ว อ่างเก็บน้ำล้นทุกอ่างแล้ว ณ เวลานี้ จะระบายท้ายอ่างก็อ่วม แต่ถ้าไม่ระบายอ่างก็จะได้รับความเสียหายจากปริมาตรน้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว” นั้น

นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน ได้ชี้ว่าปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่จังหวัดภาคอีสานใต้ ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ ตลอดระยะเวลาในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ณ วันที่ 26 กันยายน 2565 จำนวน 76 แห่ง มีดังนี้

1. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่
  • อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 248 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 79% ของความจุอ่าง มีน้ำไหลลงอ่าง ประมาณวันละ 2.30 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำวันละ 1.21 ล้าน ลบ.ม.
  • อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 118 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 76% ของความจุอ่าง มีน้ำไหลลงอ่างประมาณวันละ 4.62 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำวันละ 1.97 ล้าน ลบ.ม.
  • อ่างเก็บน้ำมูลบน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 106 ล้าน ลบ.ม. หรือ 75% ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างวันละ 0.80 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำวันละ 0.70 ล้าน ลบ.ม.
  • อ่างเก็บน้ำลำแชะ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 207 ล้าน ลบ.ม. หรือ 75% ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างประมาณวันละ 2.63 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำวันละ 1.24 ล้าน ลบ.ม.
  • อ่างเก็บน้ำลำนางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 88 ล้าน ลบ.ม. หรือ 73% ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างประมาณวันละ 1.54 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำวันละ 0.44 ล้าน ลบ.ม.
2. อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 71 แห่ง มีรายละเอียดดังนี้
  • อ่างที่มีปริมาตรน้ำในอ่าง น้อยกว่า 30% ของความจุ มีจำนวน 1 แห่ง
  • อ่างที่มีปริมาตรน้ำในอ่าง ระหว่าง 30-50% ของความจุ มีจำนวน 2 แห่ง
  • อ่างที่มีปริมาตรน้ำในอ่าง ระหว่าง 51-80% ของความจุ มีจำนวน 12 แห่ง
  • อ่างที่มีปริมาตรน้ำในอ่าง ระหว่าง 81-100% ของความจุ มีจำนวน 13 แห่ง
  • อ่างที่มีปริมาตรน้ำในอ่าง มากกว่า 100% ของความจุ มีจำนวน 43 แห่ง
เขื่อนอีสานใต้

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าอ่างเก็บน้ำทุกแห่งยังมีความมั่นคงแข็งแรง สำหรับการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำได้พิจารณาควบคุมให้มีความสอดคล้องกับปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่าง และไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ท้าย ส่วนอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำมากกว่า 100% ของความจุนั้น

น้ำจะระบายไหลผ่านอาคารระบายน้ำล้น ซึ่งเป็นอาคารที่ทำหน้าที่เพื่อให้น้ำล้นผ่าน ในปริมาณที่สัมพันธ์กับปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่าง พื้นที่ด้านท้ายบางแห่งอาจมีน้ำท่วมขังในบริเวณที่เป็นที่ลุ่มต่ำบ้าง เนื่องจากมีปริมาณน้ำจากฝนที่ตกในพื้นที่มาเสริมด้วย

สำนักงานชลประทานที่ 8 ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหากมีกรณีฝนตกหนัก หรือลมกระโซกแรงจนส่งผลกระทบต่ออาคารชลประทาน และทรัพย์สินของทางราชการให้เข้าไปดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว

รวมทั้งกำชับให้คอยติดตาม ตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งาน และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมทั้งปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ ที่สำคัญให้ปฏิบัติตาม 13 มาตรการ รับมือฤดูฝนปี 2565 ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด

ตลอดจนทำการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ถึงสถานการณ์น้ำและแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนรับรู้ รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ไว้ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ส่วนการระบายน้ำจะคำนึงถึงผลกระทบด้านท้าย เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจ

ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ได้สั่งการให้ สทนช.ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์เพื่อรับมือและพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนตัวของพายุ “โนรู” (NORU) อย่างใกล้ชิด

โดย กอนช. จะมีการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในวันนี้ (27 ก.ย. 65) ที่สำนักงานชลประทานที่ 7 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เพื่อระดมแผนการรับมือและติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย เพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุดและสามารถเข้าเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ ในพื้นที่ภาคกลาง ศูนย์การบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง ยังได้เตรียมเดินหน้าจัดเวทีสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในแต่ละทุ่งรับน้ำ เพื่อชี้แจงสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ ตามมติของคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง ที่เห็นชอบแผนรับน้ำเข้าทุ่งรับน้ำต่าง ๆ ทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

รวมทั้งชี้แจงสถานการณ์น้ำในปัจจุบันและการคาดการณ์ ตลอดจนเกณฑ์การรับน้ำเข้าทุ่ง ระบบการปลูกข้าวเหลื่อมเวลา มาตรการส่งเสริมการดำรงชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่รับน้ำ และการให้ความช่วยเหลือและการชดเชยเยียวยาผู้ประสบภัย

พร้อมทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ด้วย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วน

โดยในช่วงเดือน ก.ย. มีกำหนดจัดจำนวน 4 ครั้ง โดยจะเริ่มครั้งแรก (27 กันยายน 2565) ณ ห้องประชุมเทศบาลเมืองผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 วันที่ 28 กันยายน 2565 ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ จ.นนทบุรี ครั้งที่ 3 วันที่ 29 ก.ย. 65 ณ ห้องประชุมอำเภอลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา และครั้งที่ 4 วันที่ 30 กันยายน 2565 ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา จ.สุพรรณบุรี

สำหรับทุ่งรับน้ำทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ประกอบด้วย ทุ่งผักไห่-ทุ่งป่าโมก ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบันลือ-พระพิมล ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งบางกุ่ม และทุ่งบางกุ้ง ซึ่งมีศักยภาพรองรับน้ำได้สูงสุดรวมกันประมาณ 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร

โดยก่อนที่จะรับน้ำเข้าทุ่งจะดำเนินกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ และทางจังหวัดจะเป็นผู้ประกาศเกณฑ์การรับน้ำเข้าทุ่งให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้า ในปริมาณที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือสร้างความเสียหายแก่ประชาชน ซึ่งล่าสุดพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้ง 10 ทุ่ง ได้เก็บเกี่ยวข้าวไปแล้วคิดเป็น 96.66% คาดว่าเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมดภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ปล่อยน้ำเข้าทุ่ง กอนช.ได้มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาสนับสนุนการปล่อยปลา เพื่อใช้เป็นอาหารและสร้างรายได้เสริมให้แก่ประชาชนในช่วงระหว่างการรับน้ำเข้าทุ่ง และจะมีการเร่งระบายน้ำออกจากทุ่งเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว


แต่จะคงเหลือปริมาณน้ำไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อใช้สำหรับเพาะปลูกพืชฤดูแล้งนี้ด้วย ตามนโยบายของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช.