มันนิกซ์ ปักหมุดปี’68 ผู้นำสินเชื่อดิจิทัล ลุยปล่อยกู้สินเชื่อ 2.5 หมื่นล้าน

มันนิกซ์ ปักหมุดปี 68 ผู้นำสินเชื่อดิจิทัล ลุยปล่อยกู้สินเชื่อ 2.5 หมื่นล้าน
มันนิกซ์ ปักหมุดปี 68 ผู้นำสินเชื่อดิจิทัล

มันนิกซ์ กางแผนลุยธุรกิจสินเชื่อดิจิทัลผ่านแอปฯ “FINNIX” ตั้งเป้าปี 2566 ปล่อยกู้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ 2.5 หมื่นล้านบาท ยอดลูกค้าแตะ 1 ล้านราย พร้อมตั้งเป้าปี 2568 จ่อทำ IPO เข้าตลาดฯ หลังยอดสินเชื่อแตะ 3 หมื่นล้าน ลูกค้าเพิ่มเป็น 2 ล้านราย ขึ้นแท่นอันดับ 1 ด้าน Digital Lending คาดสิ้นปี 2565 ยอดสินเชื่อจบ 1.5 หมื่นล้านบาท คาดยอดอนุมัติทั้งระบบเหลืออยู่ที่ 10%

วันที่ 7 ธันวาคม 2565 นางสาวถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท มันนิกซ์ จำกัด เปิดเผยว่า แผนธุรกิจในปี 2566 บริษัทยังคงเดินหน้าปล่อยสินเชื่อดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชั่น “ฟินนิกซ์” หรือ FINNIX ภายใต้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เนื่องจากยังคงมีความต้องการสินเชื่อจำนวนมาก สะท้อนจากตัวเลขธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภาพรวมสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ณ เดิอนกันยายน 2565

มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 3.1 หมื่นล้านบาท เติบโต 46% จำนวนบัญชี 1.8 ล้านบัญชี เติบโต 58% และผู้ประกอบการ 52 ราย จากเดิมในปี 2551 ที่เริ่มธุรกิจมีผู้ปนะกอบการเพียง 30 ราย

ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ในปี 2566 แม้ว่าจะยังมีความต้องการสินเชื่อ แต่จะเห็นผู้ประกอบการมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากต้องยอมรับว่ากลุ่มลูกค้าสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องมีเครื่องมือในการประเมินความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ

โดยแนวโน้มจะเห็นยอดการอนุมัติสินเชื่อ (Approval Rate) ภาพรวมลดลง เพราะรับความเสี่ยงได้น้อยลง เช่น เดิมปล่อยสินเชื่อ 100 คน ผ่านการอนุมัติสินเชื่อ 50 คน จะเหลือเพียง 40 คน เช่นเดียวกับ FINNIX ยอดการอนุมัติปรับลดลงจาก 25% เหลือเพียง 20% แม้จะลดลง แต่ยังสูงกว่าภาพรวมอุตสาหกรรม 2 เท่า โดยเฉลี่ยยอดการอนุมัติของตลาดจะอยู่ที่ราว 10%

มันนิกซ์ ปักหมุดปี 68 ผู้นำสินเชื่อดิจิทัล
FINNIX

“เศรษฐกิจในปี 66 เรามองว่าจะโตกว่าปีนี้ แต่คงไม่ได้โตไปใกล้เคียงหรือเทียบเท่าช่วงโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการยังคงหยั่งเชิงก่อน และคงความเสี่ยงได้น้อยลง เพราะยอมรับว่าทุกคนยังคงให้ความกังวลในเรื่องของหนี้เสียอยู่”

สำหรับเป้าหมายการเติบโตในปี 2566 บริษัทตั้งเป้าปล่อยยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นอยู่ที่ 12 ล้านครั้ง จากสิ้นปี 2565 คาดว่าจะจบอยู่ที่ 8 ล้านครั้ง จำนวนฐานลูกค้าเพิ่มเป็น 1 ล้านราย จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.5 แสนราย ยอดสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าสิ้นปี 2565 จะจบอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท

คิดเป็นการเติบโต 117% ภายใต้อัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ตัวเลขหลักเดียว

โดยกลยุทธ์ในปี 2566 จะอยู่ภายใต้การส้ราง “อีโคซิสเต็ม F.I.R.E.” ซึ่งประกอบด้วย

1.Finance จะพฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ รวมถึงการเข้าไปเจาะฐานลูกค้าต่างจังหวัดมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันฐานลูกค้าส่วนใหญ่ประมาณ 70% จะอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และ 30% จะเป็นลูกค้าต่างจังหวัด คาดว่าภายหลังมีการทำแคมเปญการตลาดเพื่อรุกต่างจังหวัดมากขึ้น

สัดส่วนลูกค้าต่างจังหวัดจะเพิ่มเป็น 50% และหากดูฐานลูกค้าปัจจุบันประมาณ 60% จะเป็นกลุ่มพนักงานประจำ และอีก 40% กลุ่มพ่อค้าและแม่ค้า

2.Intel เข้าใจตัวเองมากขึ้นโดยบริษัทจะมีการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าผ่านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และช่วยลูกค้าวิเคราะห์เครดิตตัวเอง

3.Reward จะเป็นการต่อยอดเกมที่ให้รางวัล ซึ่งจะช่วยลูกค้ามีวินัยในการชำระหนี้ จากข้อมูลพบว่ากลุ่มที่เล่นเกมจะชำระตรงกว่าคนไม่เล่นเกม 3 เท่า

4.Empowerment ขยายพันธมิตร (Partner) จากธุรกิจต่างๆ เพื่อช่วยลูกค้าสร้างอาชีพและรายได้ ตั้งเป้าสร้างอาชีพลูกค้าเป็น 3 หมื่นคน จากที่ช่วยไปแล้ว 1.5 หมื่นราย

มันนิกซ์ ปักหมุดปี 68 ผู้นำสินเชื่อดิจิทัล
สินเชื่อนาโน FINNIX

“เราจะเห็นว่า ธปท.ออกไลเซ่นส์มาตั้งแต่ 51 แต่ผู้ประกอบการเข้า ๆ ออก ๆ เพราะเล่นกับกลุ่มความเสี่ยง ซึ่งในส่วนของเราเองหนี้เสียถือว่าควบคุมได้ค่อนข้างดี ซึ่งเราก็จะยังคงทำสินเชื่อเกาะไปกับนาโนไฟแนนซ์เป็นหลัก ส่วนสินเชื่อบุคคลเป็นเพียงออฟชั่นให้ลูกค้าอัพเกรด หากมีรายได้เพิ่มขึ้น และประวัติชำระดีก็อาจจะได้ดอกเบี้ยต่ำสุด 4.99% ต่อปี

ส่วนนาโนไฟแนนซ์ยังคงอิงเพดานตามธปท.ที่ระดับ 33% ต่อปี โดยรายได้ขั้นต่ำ 8,000 บาท แต่เฉลี่ยทั้งพอร์ตจะอยู่ที่ 1 หมื่นบาทต่อเดือน”

นางสาวถิรนันท์ กล่าวต่อไปอีกว่า ภายในปี 2568 บริษัทตั้งเป้าเป็นผู้นำอันดับ 1 ของสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) ในแง่ที่มีผู้ใช้บริการสม่ำเสมอ (Active User) และในแง่ Top of Mind ส่วนในแง่ธุรกิจตั้งเป้ายอดสินเชื่อรวมจะอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท ฐานลูกค้าเพิ่มเป็น 2 ล้านราย ภายใต้การบริหารจัดการเอ็นพีแอลตัวเลขหลักเดียว

รวมถึงการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ IPO จากปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ติดอยู่ 1 ใน 3


“ในตัวเลขการเงินเราสามารถทำ IPO ได้อยู่แล้ว เพราะเรามีกำไรสะสมมาเรื่อยๆ นับคั้งแต่กลางปี 64 ซึ่งการทำ IPO เพราะเราต้องการขยายธุรกิจไประดับภูมิภาค ดังนั้น จะไปเราต้องมีความแข็งแรงและฐานเงินทุน ซึ่งหากจะไป Regional ก็คงฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นต้น”