เจ้าสัวธนินท์ เจ้าสัวเจริญ ขึ้นเวทีร่วมถกนักธุรกิจจีนทั่วโลก

2 เจ้าสัวใหญ่เมืองไทย ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์-เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริษัทไทยเบฟเวอเรจ ขึ้นเวทีร่วมนักธุรกิจชั้นนำชาวจีนจากทั่วโลก กลางปีนี้

วันที่ 12 มกราคม 2566 มติชน รายงานคำให้สัมภาษณ์ของนายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน ถึงความคืบหน้าการจัดประชุมนักธุรกิจชั้นนำชาวจีนทั่วโลก ในประเทศไทยกว่า 3,000 คน ครั้งที่ 16 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน 2566 ว่า ในวันเปิดงาน 25 มิถุนายน จะมีผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐและเอกชนเชื้อสายจีน กล่าวปาฐกถาและบรรยายพิเศษถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน

สำหรับบุคคลที่ยืนยันมาขึ้นเวทีดังกล่าว อาทิ ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกงกล่าวเปิดงาน รวมถึงการบรรยายพิเศษจากซีอีโอระดับประเทศ อาทิ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริษัทไทยเบฟเวอเรจ ผู้ก่อตั้งกลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น หรือกลุ่มทีซีซี

นอกจากนี้ ได้ประสานงานกับหน่วยงานรัฐและเอกชนเพื่อร่วมขึ้นเวที อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) สมาคมการค้าต่าง ๆ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และจะมีการจัดสัมมนากลุ่มย่อยในประเด็นการค้า การลงทุน และอื่น ๆ

ทั้งนี้ การจัดงานของหอค้าไทย-จีน มีนักลงทุนจีนในไทยและนักลงทุนจีนในต่างประเทศ สอบถามและแสดงความจำนงจะเข้าประชุม หลังจากช่วงตรุษจีน ทางหอการค้าไทย-จีน จะออกหนังสือเชิญไปยังสมาคมต่าง ๆ จากจีนและทั่วโลก เฉพาะในจีนจะเชิญเจาะราย มณฑลทั่ว 22 มณฑล แต่ละมณฑลมีนักลงทุนสนใจเข้าร่วมงาน 20-30 ราย จำนวนก็เกิน 1,000 รายแล้ว

“ยังไม่รวมกับนักลงทุนชาวจีนทั่วไปในทุกอุตสาหกรรมก็อีก 1,500 ราย ชาวจีนที่ลงทุนในประเทศอื่นอีกประเทศละ 50-100 ราย รวมกับผู้ติดตามหรือพาครอบครัวมาด้วยจำนวนน่าจะเกิน 3,000 ราย อาจถึง 4,000-5,000 รายได้ ซึ่งศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นสถานที่จัดประชุมรองรับได้เพียงพอ” นายณรงค์ศักดิ์กล่าว

นายณรงค์ศักดิ์กล่าวต่อว่า แนวคิดการจัดงานครั้งนี้ เพราะต้องการเร่งการฟื้นตัวทุกมิติหลังโควิดคลี่คลาย และเพื่อให้นักธุรกิจชาวจีนโลกมารู้จักไทยมากขึ้น หลังจากจีนประกาศเปิดประเทศเริ่มมีนักธุรกิจจีนติดต่อผ่านหอการค้าไทย-จีน เพื่อมาเจรจาลงทุนในอนาคต เช่น บริษัทผลิตรถอีวี 2-3 ราย

“ในความตั้งใจเราอยากให้มีรัฐวิสาหกิจจีนมาลงทุนในไทยอย่างน้อย 2 ราย หากได้จริงน่าจะเกิดมูลค่าการลงทุนเป็นแสนล้านบาท เราเชื่อว่าจากปัจจัยเสี่ยงจากความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ไทยจะเป็นประเทศฐานการผลิตของจีนที่สำคัญประเทศหนึ่ง” นายณรงค์ศักดิ์กล่าว