เมื่อจีนเปิดประเทศ ข่าวดีหรือร้ายของเศรษฐกิจโลก

จีนเปิดประเทศ
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ภาพนักเดินทาง นักท่องเที่ยวจำนวนมากแห่แหนข้ามพรมแดนจีนเข้าไปยังฮ่องกง ในทันทีที่ถึงกำหนด “เปิดประเทศ” ของจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งซึ่งไม่ค่อยพบเห็นกันบ่อยครั้งนัก

จีนปิดประเทศเพื่อรับมือกับโควิด-19 ตามแนวนโยบาย “ซีโร่-โควิด” มานานร่วม 3 ปี เป็นการโดดเดี่ยวตัวเองออกจากโลกโดยพฤตินัย เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว จีนปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นักเรียนนักศึกษาต่างชาติเดินทางกลับประเทศ นักธุรกิจแม้ในระดับผู้บริหารก็ไม่สามารถเดินทางกลับเข้าจีนได้

คนจีนทั้งประเทศตกอยู่ในสภาพ “อัดอั้น” เมื่อจีนเปิดพรมแดน ทั้งทางพาณิชย์ ทางวัฒนธรรม และกิจกรรมอื่น ๆ อีกครั้ง จึงกลายเป็น “ปรากฏการณ์” สำคัญที่หลายคนเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องขนานใหญ่ออกไปทั่วโลก

ผู้สันทัดกรณีบางคนถึงกับยกให้การเปิดประเทศของจีนเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของปี 2023 เลยทีเดียว

ขณะที่ความคาดหวังต่อผลจากการเปิดประเทศครั้งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นไปในทางที่ดี แต่ก็ไม่ทั้งหมด ผลสะเทือนบางด้านเป็นไปในเชิงลบ และเป็นไปได้ว่าอาจก่อให้เกิดวิกฤตครั้งใหม่ขึ้นตามมา

ประการแรกสุดที่ใครต้องการเดินทางเข้า-ออกจีนต้องคำนึงถึงก็คือ ขณะนี้โควิด-19 ยังแพร่ระบาดอย่างหนักถึงขนาดมีผู้ติดเชื้อใหม่วันละ 10 ล้านราย ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น จนเริ่มเกินเลยขีดความสามารถของโรงพยาบาล สถานการณ์รุนแรงถึงกับคาดการณ์กันว่า จะมีคนจีนเสียชีวิตจากโควิดอีกมากถึง 1.5 ล้านคน ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าในไตรมาสแรกของปีนี้ เศรษฐกิจจีนจะยังไม่ฟื้น ดีไม่ดีจะติดลบเอาด้วย

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจีนจะพลิกฟื้นขึ้นมาอย่างรวดเร็วและเป็นการฟื้นตัวค่อนข้างแรงแน่นอน สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือความต้องการสินค้า บริการและโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ก็จะพุ่งขึ้นเร็วและแรงตามไปด้วย

นักท่องเที่ยวที่อัดอั้นอยู่นานจะหลั่งไหลออกไปยังแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมต่าง ๆ รวมทั้งในประเทศไทย บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ยอดนิยม ไม่ว่า แอปเปิล หรือ เทสลา ก็จะได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย ยิ่งเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี บรรดานักท่องเที่ยวจะยิ่งจับจ่ายใช้สอยได้โดยเสรีมากยิ่งขึ้น

“การเปิดประเทศ” เปิดพรมแดนของจีนครั้งนี้ จึงถือเป็นข่าวดีสำหรับหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมหรือแหล่งช็อปปิ้งยอดนิยมของชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมในภูเก็ต หรือห้างสรรพสินค้าในฮ่องกง ที่เคยสลบซบเซาเพราะ “ซีโร่-โควิด” ก็จะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง

ตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีก็คือ ข้อมูลของเว็บไซต์เพื่อการท่องเที่ยวอย่าง Trip.comระบุว่า ยอดจองตั๋วและที่พักผ่านเว็บไซต์ เมื่อ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา พุ่งขึ้นถึง 250% เมื่อเทียบกับ 1 วันก่อนหน้านั้น

การเปิดประเทศของจีนครั้งนี้ยังถือเป็น “ข่าวดี” สำหรับประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ไปยังประเทศจีน โดยจีนเป็นประเทศผู้บริโภคที่สำคัญ นำเข้าน้ำมันดิบมากถึง 1 ใน 5 ของปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลก เป็นผู้ซื้อ ทองแดง, นิกเกิล และซิงก์ สัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งโลก และยังนำเข้าแร่เหล็กมากกว่า 3 ใน 5 ของทั้งโลก

ในเวลาเดียวกัน มีอีกหลายประเทศที่การเปิดประเทศของจีนกลับเป็นข่าว “ไม่ดีนัก” เพราะผลข้างเคียงของเหตุการณ์นี้จะไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศเหล่านั้น เพราะอาจหมายถึงอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นไปอีก หรืออัตราดอกเบี้ยที่สูงอยู่แล้ว อาจต้องปรับให้สูงยิ่งขึ้น เพราะประเทศเหล่านี้คือผู้ที่นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์เช่นเดียวกับจีน โดยเฉพาะประเทศตะวันตกทั้งหลาย

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุดก็คือ “ตลาดน้ำมันดิบโลก” การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนจะส่งผลให้ความต้องการน้ำมันในประเทศเพิ่มมากขึ้น ในระดับมากเกินพอที่จะชดเชยการบริโภคน้ำมันที่ลดลงทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือ เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวลง

นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไม “โกลด์แมน แซกส์” ถึงพยากรณ์ว่า การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของจีนจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก พุ่งขึ้นสู่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นราว 1 ใน 4 ของราคาในปัจจุบันอีกครั้ง ซึ่งจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความพยายามในการต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ

ในทำนองเดียวกัน ความต้องการก๊าซธรรมชาติในจีนจะเพิ่มขึ้นเพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวแข็งแกร่ง กลายเป็นคู่แข่งในการนำเข้าก๊าซที่สำคัญของชาติในยุโรป องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ถึงกับทำนายไว้ว่า ถ้าเศรษฐกิจจีนฟื้นตัว และหน้าหนาวในยุโรปหนาวรุนแรงในปี 2023 ประจวบกับการตัดขาดการส่งก๊าซธรรมชาติ ของรัสเซียไปทั้งหมด ยุโรปจะขาดแคลนก๊าซธรรมชาติถึง 7% จากปริมาณที่ต้องการใช้ต่อปี

กลายเป็นการบังคับกลาย ๆ ให้ต้องมีการปันส่วนก๊าซกันเกิดขึ้นตามมานั่นเอง