เปิดประวัติ นุกูล ประจวบเหมาะ เก่ง-กล้า-ดี ชีวิตที่น่าเอาอย่าง

นุกูล ประจวบเหมาะ

ประวัติชีวิต นุกูล ประจวบเหมาะ ผู้ว่าแบงก์ชาติผู้มีชีวิตโลดโผน กู้วิกฤตสยามกลการ และการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 2 สมัย

เนื่องจากนายนุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เสียชีวิตเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ประชาชาติธุรกิจ จึงขอหยิบยกบทสัมภาษณ์อดีตรัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคมและอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ ซึ่งให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร “พระสยาม” ของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2556 มานำเสนอ

“พระสยาม” ฉบับพิเศษปี 2556 สัมภาษณ์พิเศษ นุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนที่ 13 พูดคุยถึงเรื่องราวชีวิตการทำงานของท่านที่เกี่ยวข้องกับผู้คน การเมือง และประวัติศาสตร์เสี้ยวหนึ่งของเศรษฐกิจไทยที่เต็มไปด้วยข้อคิดที่มีคุณค่าต่าง ๆ มากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่น่ายึดถือเป็นแบบอย่างทั้งสิ้น

หากจะหยิบยกตัวอย่างของคนที่ดำเนินชีวิตอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี และมุ่งมั่น ตั้งใจ ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติด้วยความเสียสละแล้ว ชื่อของคุณนุกูล ประจวบเหมาะ ย่อมปรากฏขึ้นอย่างโดดเด่น จากบทบาทของข้าราชการตงฉินที่คงความถูกต้องเที่ยงธรรมมาตลอดระยะเวลา 32 ปี

แม้จะต้องเผชิญหน้ากับภัยอันตรายและอำนาจมืดต่าง ๆ ทั้งยังเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีเส้นทางชีวิตที่โลดโผน แตกต่างจากผู้ว่าการคนอื่น ๆ มิหนำซ้ำยังเคยเป็นอัศวินขี่ม้าขาวกู้วิกฤตให้กับสยามกลการจนกลับมายืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งเช่นในปัจจุบัน ก่อนจะกลับมารับใช้ชาติอีกครั้งในบทบาทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมถึง 2 สมัย

นุกูล ประจวบเหมาะ
ภาพจากนิตยสาร “พระสยาม” โดยธนาคารแห่งประเทศไทย

ก่อนจะเป็นผู้ว่าการ ธปท.

คุณนุกูลเกิดในครอบครัวคหบดี ซึ่งเป็นที่รักใคร่และเคารพนับถือของคนในชุมชนบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เริ่มต้นเรียนระดับมัธยมที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ จากนั้นเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก่อนจะกลายเป็นนักเรียนไทยรุ่นแรกที่ประเทศออสเตรเลีย

หลังพกพาปริญญาบัตรด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น คุณนุกูลในวัย 23 ปี ได้เข้ารับราชการที่กองเศรษฐกิจการคลังกระทรวงการคลัง โดยคำชักชวนของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการคลัง กระทรวงการคลัง

หลังจากทำงานที่สำนักงานปลัดกระทรวงการคลังอยู่ 2 ปี ได้รับคัดเลือกให้ไปฝึกงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในระหว่างนั้นได้สมัครเข้าศึกษาปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยยอร์จ วอชิงตัน ในช่วงค่ำใช้เวลา 1 ปี 4 เดือน จึงจบการศึกษา และกลับมาทำงานที่กรมบัญชีกลาง

ในปลายปี พ.ศ. 2503 กระทรวงการคลังย้ายคุณนุกูลไปทำงานที่สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงวอชิงตัน ในตำแหน่งผู้ช่วยที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลังเป็นเวลา 4 ปี จึงกลับมาประเทศไทย

คุณนุกูลเดินทางกลับประเทศไทย พ.ศ. 2507 และได้รับแต่งตั้งให้ทำงานในตำแหน่งรองอธิบดีกรมทางหลวง มีหน้าที่บริหารงานด้านธุรการของกรม ในเวลาเดียวกันได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโครงการสำรวจออกแบบและก่อสร้างโครงการก่อสร้างถนนสายต่าง ๆ ในทุกภาคของประเทศที่กู้ยืมเงินมาจากธนาคารโลกมาใช้ในการก่อสร้าง

คุณนุกูลต้องทำงานกับวิศวกรและผู้รับเหมาต่างชาติ นับจำนวนกว่า 10 ราย และเป็นผู้บริหารคนเดียวที่ไม่ได้เรียนวิชาวิศวกรรม แต่มาควบคุมการก่อสร้างทางสายสำคัญ ๆ นับ 10 สายทาง

หลังจากนั้นย้ายกลับกระทรวงการคลังในปี พ.ศ. 2517 ยังไม่เคยปรากฏว่ามีผู้ใดที่ไม่ได้จบวิศวกรรมได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ดังกล่าวอีกเลย

พ.ศ. 2517 คุณนุกูลย้ายกลับมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา กระทรวงการคลัง และย้ายไปเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ เมื่อเดือนเมษายน 2518 เพื่อแก้ปัญหาพนักงานโรงกษาปณ์ประท้วงหยุดงาน และย้ายไปเป็นอธิบดีกรมสรรพากรในเดือนกันยายนปีเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหารัฐไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้า จากนั้นย้ายไปเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลางช่วงปลายปี 2521

เป็นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติในสถานการณ์วิกฤต

แม้ไม่ใช่ลูกหม้อ ธปท. แต่ด้วยความรู้ความสามารถที่โดดเด่นและเป็นที่ประจักษ์ คุณนุกูลจึงได้รับการเสนอชื่อโดยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อเดือนตุลาคม 2522 เพื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แทนคุณเสนาะ อูนากูล ที่ลาออกจากตำแหน่งด้วยปัญหาสุขภาพ

ต่อมาเมื่อเดือนกันยายน 2527 คุณนุกูลพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการ แบบถูกปลดกลางอากาศ เนื่องจากขัดแย้งกับคุณสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะกรณีที่ธนาคารเอเชียทรัสต์ล้มลงและ ธปท.เข้าไปถือหุ้นใหญ่ คุณนุกูลทำงานในตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.เป็นเวลา 5 ปี

คุณนุกูลย้อนรำลึกความหลังถึงบทบาทหน้าที่ที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิตว่า

“ผมเป็นผู้ว่าการในช่วงประเทศชาติยากจน ธปท.ก็ร่อแร่ ข้างในก็มีปัญหาบริษัทเงินทุน มีปัญหาเงินเฟ้อ เงินฝืด เกิดพร้อม ๆ กัน ทั้ง ๆ ที่ปกติไม่ค่อยเกิดแบบนี้ เพราะช่วงนั้นดอกเบี้ยต่างประเทศสูง ดอกเบี้ยในประเทศต่ำ เงินก็ไหลออกนอกประเทศหมด เงินหายาก และปัญหาใหญ่ประการหนึ่ง คือทุนสำรองระหว่างประเทศมีจำนวนจำกัด ไม่ได้อู้ฟู่เหมือนทุนสำรองระหว่างประเทศในปัจจุบัน

“ตอนนั้นมีอยู่เพียง 3,000 กว่าล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น และในนั้นเป็นเงินชำระสินค้าและค่าบริการได้แค่ 300-400 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกนั้นเป็นพันธบัตร ทองคำ และเงินตราต่างประเทศ ซึ่งไม่อาจใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการได้ ทำให้ ธปท.ต้องกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ และกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศเป็นครั้งแรก และรู้สึกว่าจะเป็นครั้งเดียวที่ต้องทำแบบนั้น

“นอกจากนี้ยังมีปัญหาของบริษัทเงินทุนธนาคารพาณิชย์ที่มีฐานะง่อนแง่น เช่น เอเชียทรัสต์ที่แบงก์ชาติต้องเข้าไปเทกโอเวอร์ บริษัทเงินทุนที่ต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ เวลาหาทุนต้องกระเบียดกระเสียร ดูให้รอบคอบ มีปัญหาตลอดเวลา หมดปัญหาเก่าก็มีปัญหาใหม่เข้ามา แก้ไขไปทีละขั้นตอน อย่างน้อยก็ทำให้เสถียรภาพทางการเงินดีขึ้น เงินเฟ้อที่สูงเกือบร้อยละ 20 ลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 1 เมื่อผมออกจากธนาคาร” คุณนุกูล กล่าว

บทบาทในภาคเอกชน

หลังโบกมือลาชีวิตข้าราชการในเดือนกันยายน 2527 คุณนุกูลเริ่มชีวิตการทำงานในภาคเอกชน ที่บริษัท สยามกลการ จำกัด โดยได้รับคำเชิญจากคุณถาวร พรประภา ให้มาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร เพื่อแก้ไขภาวะขาดทุนของบริษัท จนกระทั่งสามารถพลิกฟื้นสถานการณ์วิกฤตให้กลับมาสดใสได้ ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี 5 เดือน

“จะล้มมิล้มแหล่ หนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อตั้งใจจะทำอะไรแล้ว ก็ต้องทำให้ดี แค่ปีกว่า ๆ ก็เห็นผลแล้ว จากขาดทุนร่วมพันล้าน ในปีนั้นได้กำไรกว่า 200 ล้านบาท พนักงานมีขวัญและกำลังใจมากขึ้น ทุกคนดีใจที่ผมสามารถทำให้บริษัทที่กำลังร่อแร่กลับมามีกำไรและยืนหยัดอย่างมั่นคงอย่างไม่ได้คาดหมายมาก่อน”

ภารกิจครั้งสำคัญเพื่อชาติ

“เมื่อออกจาก ธปท.แล้ว ผมก็ไม่คิดว่าจะกลับมามีบทบาทในทางราชการอีก แต่สุดท้ายก็ได้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลคุณอานันท์ ปันยารชุน ระหว่าง พ.ศ. 2534-2535 และทำหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย สัญญาโครงการโฮปเวลล์ การก่อสร้างสายทางต่าง ๆ”

จากนั้นกราฟชีวิตของคุณนุกูลก็เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อกลับมาเป็นประธานกรรมการคณะกรรมการศึกษา และเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ กรณี ธปท.ที่นำประเทศเข้าสู่วิกฤตต้มยำกุ้ง ด้วยการใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหัฐ จนเกือบหมด ทำให้ค่าเงินต้องลดลงรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพื่อวิเคราะห์วิจัยถึงสาเหตุของปัญหา และจัดทำเป็นรายงานประกอบในการศึกษาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งบ้านเรานี่มีคนเขียนเรื่องนี้น้อย ก็เลยทำความผิดซ้ำ ๆ ซาก ๆ กันอยู่

“ผมก็ตั้งใจจะให้คนได้เรียนรู้ ทั้งนักศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกได้ศึกษาว่าครั้งหนึ่งเราเคยประสบปัญหาแบบนี้ ให้เขาระวัง ไม่ให้ประมาท เพราะเฮดจ์ฟันด์ต่างประเทศมีจำนวนมากเหลือเกิน เราควรจะประมาณกำลังของเรา”

ชีวิตที่โลดโผน

“ผมมีกราฟชีวิตที่ผาดโผนขนาดไหนลองคิดดูนะ ผมเป็นรองอธิบดีกรมทางหลวงและผู้อำนวยการโครงการ (Project Directon) สำรวจ ออกแบบและก่อสร้างโครงการทางหลวงที่ใช้เงินกู้จากธนาคารโลก ทั้ง ๆ ที่ผมไม่ได้จบวิศวกรรมใด ๆ มาเลย แต่ก็ทำงานที่กรมทางหลวงกว่า 10 ปี จนเพื่อน ๆ ที่เป็นผู้ว่าการธนาคารชาติประเทศต่าง ๆ เขาพากันเรียกผมเป็น Highway Man ในหนังฝรั่งก็คล้าย ๆ กับโจรที่คอยขี่ม้าตามปล้นผู้โดยสารในรถ

“นอกจากนี้ ยังทำงานที่กรมสรรพากร ซึ่งตำแหน่งหลังนี้เขาพากันเรียกว่าเป็น Tax Collector ใคร ๆ ก็รังเกียจไม่อยากจะคบหาด้วย ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นและเป็นไปด้วยความประจวบเหมาะทั้งสิ้น พอมาเป็นผู้ว่าการ ธปท.ก็เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติอยู่ไม่น้อย แต่ก็ต้องออกแบบไม่สวยนัก ทั้งยังช่วยฟื้นฟูสถานการณ์อันร่อแร่ของสยามกลการเมื่อปี พ.ศ. 2529-2531 ได้กลับมามีกำไรได้ภายในปีเศษ

“จากนั้นคุณอานันท์ก็ขอตัวให้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลอานันท์ทั้ง 2 ครั้ง ผมลองสังเกตดูว่าแต่ละครั้งที่ผมต้องเปลี่ยนงานใหม่ คือการเข้าไปรับงานในหน่วยงานที่มีปัญหา แม้จะเป็นการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งแต่ก็จัดว่าเป็นทุกขลาภโดยแท้”

มุมมอง ธปท.ของอดีตผู้ว่าการฯ

ในฐานะอดีตผู้ว่าการ คุณนุกูลมีมุมมองเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ ธปท.ในยุคปัจจุบันพร้อมคำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่คน ธปท.ดังนี้

“ผมเป็นผู้ว่าการมา 30 กว่าปีแล้ว ก็นานมากแล้ว ก็กลายเป็นคนต่างยุคต่างสมัย ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด ปัญหาเปลี่ยนไป ผู้คนเปลี่ยนไป การเงินในประเทศ การเงินระหว่างประเทศก็เปลี่ยนแปลงไป จากอดีตที่ ธปท.มีฐานะยากจน เดี๋ยวนี้ก็มีฐานะร่ำรวยแล้ว ใคร ๆ ก็จ้องจะเอาเงินจาก ธปท.

“เมื่อก่อนนี้ก็ไม่มีจะไปหาที่ไหนมาค้ำจุน เดี๋ยวนี้มันตรงกันข้าม จะไปแนะนำเรื่องนั้นก็คงไม่เหมาะสมนัก แต่คงพอแนะนำได้ว่า ธปท.ก็ต้องคงความเป็นตัวของตัวเอง จะทำอะไรก็อย่าทำเพราะถูกสั่งมาให้ทำ หรือทำเพราะรักษาเก้าอี้ ซึ่งคงจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ต้องทำเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ ทำในสิ่งที่ควรจะทำ และควรจะกล้าทำ

“ผมเห็นว่าผู้ว่าการคนปัจจุบันเป็นคนดีที่เก่งและฉลาด เห็นเขียนจดหมายถึงคุณป๋วยบ่อย ๆ แต่คุณป๋วยยังไม่เห็นตอบสักที” คุณนุกูลกล่าว อย่างอารมณ์ดี ตามประสาคนที่สนิทชิดเชื้อกับอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และในอดีตก็ร่วมวงเล่นไพ่บริดจ์ด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ

ยืนหยัด ซื่อตรง มั่นคงในคุณธรรม

หากเป็นคนทั่วไปที่มีจิตใจหวั่นไหวต่ออำนาจ และความเย้ายวนของผลประโยชน์แล้ว คงไม่สามารถกระทำการใด ๆ ที่หาญกล้าและเที่ยงตรงได้เช่นเดียวกับที่คุณนุกูลได้ทำหน้าที่ในบทบาทต่าง ๆ ที่กล่าวมาอย่างน่าชื่นชมและเอาเยี่ยงอย่าง แม้จะต้องเผชิญกับความกดดันและอุปสรรคนานัปการ แต่คุณนุกูลยึดหลักความถูกต้องและประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ จึงทำให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้ประสบความสำเร็จ และเกียรติภูมิที่สง่างามเช่นนี้

“ผมเจอหลายเหตุการณ์ แต่ละเหตุการณ์ก็หนักหนาสาหัส ตั้งแต่ทำงานมา มันก็สุด ๆ หลายตอน ตอนคัดค้านการสร้างทางสระบุรี-หล่มสัก เป็นการหักดิบความเห็นของผู้บังคับบัญชาในกรมทางหลวง ทำให้ต้องยกเลิกการประมูลที่มีราคางานที่สูงกว่าความเป็นจริง แต่แม้จะไปขัดผลประโยชน์ใครหลายคน แต่สุดท้ายแล้วประเทศชาติได้รับประโยชน์ในการประหยัดค่าใช้จ่าย

“ผมคิดว่าข้าราชการประจำโดยทั่วไป คงไม่มีใครกล้าทำขนาดนั้น เจอปัญหาก็ต้องหาทางแก้ ผมถือว่าผมบริสุทธิ์ทำตามหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ยึดหลักความถูกต้อง ความชอบธรรม เพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมือง แต่ทุกวันนี้ประเทศชาติขาดแคลนบุคลากรที่เป็นคนดี คนมีความรู้ส่วนใหญ่ก็เอาตัวรอดทั้งนั้น ใครมีอำนาจก็เข้าไปประจบประแจง ไปขอตำแหน่ง จะหาคนที่เป็นตัวของตัวเองไม่คำนึงถึงผลประโยชน์หาได้ยาก”

ทุกวันนี้ คุณนุกูลในวัย 84 ปี (พ.ศ.2556) ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขท่ามกลางบรรดาลูกหลานและบ้านสวนกลางเมืองแถบสุขุมวิท 39 และยังคงออกรอบตีกอล์ฟบ้าง รวมถึงยังคงเดินทางไปดูแลสวนมะพร้าว สวนยาง และสวนปาล์มที่บางสะพาน ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมานาน ขณะเดียวกันก็ยังชื่นชอบการไปเที่ยวต่างประเทศกับครอบครัว

นี่จึงเป็น “ชีวิตที่คุ้มค่า” ดังชื่อหนังสืออัตชีวประวัติที่คุณนุกูล ประจวบเหมาะ ได้ร้อยเรียงขึ้นมาด้วยการถ่ายทอดด้วยสำนวนภาษาที่เรียบง่าย อ่านสนุกและน่าติดตาม

ทั้งนี้ คุณนุกูล ประจวบเหมาะ เกิดวันที่ 25 กรกฎาคม 2472 จบการศึกษาปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยยอร์จ วอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย มัธยมศึกษา โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

ประวัติการทำงาน

1 พ.ย. 2522-13 ก.ย. 2522 ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ประวัติการทำงานที่อื่น

  • ข้าราชการกระทรวงการคลัง
  • รองอธิบดีกรมทางหลวง
  • ที่ปรึกษากระทรวงการคลัง
  • อธิบดีกรมธนารักษ์
  • อธิบดีกรมสรรพากรอธิบดีกรมบัญชีกลางและประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  • ประธานกรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท สยามกลการ จำกัด
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
  • ประธานกรรมการคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.)