มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ เมื่อไหร่คนจะเริ่มเที่ยวอีกครั้ง

REUTERS/Remo Casilli
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย นงนุช สิงหเดชะ

อุตสาหกรรมการบินและท่องเที่ยวได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะอุตสาหกรรมการบินและท่องเที่ยวเกี่ยวพันกันอย่างมาก ต่างส่งเสริมการเติบโตของกันและกัน แต่เมื่อโรคนี้ทวีความรุนแรงขึ้นถึงขนาดที่เกือบทุกประเทศต้องสั่งปิดประเทศเพื่อสกัดเชื้อ จึงทำให้สายการบินเกือบทั่วโลกต้องจอดเครื่องบินอยู่เฉย ๆ พร้อม ๆ กับที่นักท่องเที่ยวอันตรธานไปจากแหล่งท่องเที่ยวทุกพื้นที่ของโลก

ด้วยลักษณะการแพร่ของไวรัสร้ายตัวนี้ ทำให้ผู้คนหวาดกลัวการอยู่ในที่มีคนแออัด อากาศไม่ถ่ายเท อย่างบนเครื่องบิน ประกอบกับไวรัสได้สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ ทั้งระบบ ซึ่งกระทบต่อรายได้ของผู้คน ทำให้ถูกคาดหมายว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะฟื้นตัวทีหลังภาคอื่นเพราะไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต

เดือนเมษายนปีที่แล้ว เฉพาะในสหรัฐอเมริกามีผู้โดยสารใช้บริการเครื่องบินมากกว่า 2 ล้านคนต่อวัน แต่พอถึงเดือนเมษายนปีนี้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อหยุดเชื้อไวรัส ทำให้จำนวนผู้โดยสารทางอากาศลดลงกว่า 95% เหลือเพียงไม่ถึง 1 แสนคนต่อวัน จึงเกิดคำถามว่านี่เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการลดลงอย่างถาวรของการเดินทางทางอากาศ หรือว่ามันจะสามารถกลับไปเป็นปกติได้อย่างเดิม

บรรดาผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ถึงแม้จะไม่มีญาณวิเศษที่จะบอกได้ชัด ๆ เกี่ยวกับอนาคตของธุรกิจท่องเที่ยว แต่พวกเขาเชื่อว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 18-24 เดือนก่อนที่จะกลับสู่ระดับปกติ แต่ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็จะต้องพบกับอุปสรรคจากการที่สนามบินต่าง ๆ ต้องใช้มาตรการเข้มงวดในการคัดกรองผู้โดยสาร ส่วนผู้โดยสารที่ยังหวาดกลัวการติดเชื้อก็จะเลือกเที่ยวพักผ่อนใกล้บ้านมากกว่าจะบินไปเที่ยวไกล ๆ

ผลการสำรวจของบริษัทวิจัยการตลาด ลองวู้ด อินเตอร์เนชั่นแนล ตีพิมพ์ช่วงปลายเดือนเมษายนระบุว่า หลังเกิดปัญหาไวรัสระบาดชาวอเมริกัน 82% เปลี่ยนแผนการเดินทางในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ส่วนอีก 50% บอกว่าได้ยกเลิกการเดินทาง อีก 45% บอกว่าลดการเดินทางในช่วงเวลาดังกล่าว

บางสายการบินพยายามหาวิธีสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร เช่น เดลต้า แอร์ไลน์ ของสหรัฐพิจารณาที่จะออก “พาสปอร์ตภูมิคุ้มกัน” ให้กับผู้โดยสารที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าพวกเขาติดเชื้อเรียบร้อยแล้วและหายแล้ว แต่ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญอย่าง อาชิช เจฮา อาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเห็นว่า การออกพาสปอร์ตในลักษณะดังกล่าวอาจไม่ใช่หลักประกัน เพราะคนที่เคยติดเชื้อแล้วก็อาจติดเชื้อได้อีก

ส่วนมาตรการอื่น ๆ ของสายการบิน เช่น การตรวจอุณหภูมิ แต่ก็ไม่สามารถสร้างความมั่นใจเต็มร้อยเพราะบางคนที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการก็อาจไม่มีอุณหภูมิผิดปกติ นอกจากนี้ ผู้โดยสารก็จะถูกขอร้องให้สวมหน้ากาก ส่วนการจัดที่นั่งบนเครื่องบินก็ต้องปล่อยที่นั่งตรงกลางให้ว่างลงเพื่อเว้นระยะห่าง ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนสร้างความไม่สะดวกกับทั้งสายการบินและผู้โดยสารเอง ด้วยเหตุนั้นหลายสายการบินจึงเลือกที่จะงดบินไปจนถึงฤดูร้อนหรือฤดูใบไม้ร่วง

อาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดผู้นี้บอกว่า การจะกลับมาเปิดการบิน-ท่องเที่ยวอีกครั้งได้เมื่อไหร่ ไม่มีสูตรมหัศจรรย์ แต่ขึ้นอยู่กับว่าผู้โดยสารรับความเสี่ยงได้แค่ไหน เพราะถึงแม้สายการบินและเจ้าหน้าที่รัฐจะวางมาตรการความปลอดภัยไว้เพียงใด แต่ประชาชนก็จะต้องรู้สึกปลอดภัยเสียก่อนจึงจะมีความมั่นใจ การจะรู้สึกปลอดภัยได้ก็ต่อเมื่อค้นพบวัคซีนหรือวิธีรักษา ซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีหรือนานกว่านั้น

ดังนั้น ชาวอเมริกันที่มีความเสี่ยงสูงต่อเชื้อไวรัสนี้ ซึ่งมีประมาณ 1 ใน 3 ก็จะเลือกอยู่บ้านจนกว่าจะค้นพบวัคซีน ส่วนชาวอเมริกันทั่วไปก็จะรอความมั่นใจจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือนักวิทยาศาสตร์ระดับสูงว่าเวลาไหนที่มีความปลอดภัยแล้วเป็นหลัก ไม่ใช่แค่ฟังจากสายการบินหรือผู้เชี่ยวชาญการเดินทาง

โรเบิร์ต ริช อาจารย์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แอต เบิร์กลีย์ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ประชาชนจำนวนมากจะไม่รู้สึกปลอดภัยในการนั่งเครื่องบินที่แออัดจนกว่าจะเห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสลดลงมากหรือไม่มีเลยในภูมิภาคของพวกเขา หรือจนกว่าจะมีการค้นพบวัคซีน