เมืองไทยแคปปิตอล-เงินติดล้อ ใช้อาวุธอะไรโกยรายได้หมื่นล้านปี’64

ภาพจาก pexels.com

เปิดรายได้ 2 บริษัทใหญ่ธุรกิจลีสซิ่ง “เมืองไทยแคปปิตอล-เงินติดล้อ” ปี 2564 โกยรายได้ทะลุหมื่นล้าน พร้อมเผยอาวุธลับตัวช่วยยุคโควิด  

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงนี้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ทยอยแจ้งผลประกอบการปี 2564 กันอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในธุรกิจที่ทำรายได้น่าพอใจท่ามกลางการระบาดของโควิดคือ “ธุรกิจลีสซิ่ง”

“ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบข้อมูลของ 2 บริษัทในธุรกิจลีสซิ่ง ได้แก่ บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) และ บมจ. เงินติดล้อ (TIDLOR) พบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

MTC โกยรายได้ 1.6 หมื่นล้าน

เริ่มกันที่ บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) ธุรกิจเรือธงของ 2 สามีภรรยา “ชูชาติ-ดาวนภา เพ็ชรอำไพ” ที่เริ่มต้นจากชีวิตนายแบงก์ธนาคารกสิกรไทย ก่อนจะลาออกมาลุยธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ในต่างจังหวัดในทศวรรษ 2530 ซุ่มเงียบทำธุรกิจจนโตขยายกิจการโตรุกคืบเข้าเมืองหลวง กระทั่งติดอันดับท็อปเทนมหาเศรษฐีเมืองไทยจากนิตยสาร Forbes 2 ปีซ้อน (2562-2563)

ในปี 2564  MTC ทำรายได้รวมไปทั้งสิ้น 16,019 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.73% จากปี 2563 ที่ทำรายได้รวม 14,733 ล้านบาท รายได้ส่วนใหญ่มาจากดอกเบี้ยในการให้บริการสินเชื่อและสัญญาเช่าซื้อถึง 15,196 ล้านบาท รองลงมาเป็นรายได้จากค่าธรรมเนียมและการบริการ 769 ล้านบาท และจากอื่น ๆ 55 ล้านบาท

ตามรายงานของบริษัทไม่ได้ระบุชัดเจนถึงเหตุผลที่รายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.73% มีเพียงการชี้แจงในส่วนของส่วนงานดำเนินงานและการจำแนกรายได้ว่า บริษัททำธุรกิจหลักตามที่รายงานเพียงส่วนงานเดียว คือธุรกิจการให้สินเชื่อ ส่วนบริษัทย่อยแต่ละบริษัทดำเนินธุรกิจหลักเพียงส่วนงานเดียว คือธุรกิจนายหน้าประกันภัย และธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ และไม่มีรายได้จากลูกค้ารายใหญ่รายใดที่มีมูลค่าเท่ากับหรือมากกว่า 10% ของรายได้ของกิจการ

ขณะที่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตลอดปี 2564 MTC ก็ไม่ระบุชัดเจนเช่นกันว่า ได้รับผลกระทบด้านบวกหรือลบ เพียงแต่ระบุว่าในช่วงดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในรูปแบบการให้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 เดือนแก่ลูกค้าสินเชื่อที่เป็นไปตามเงื่อนไขถึง 31 ธ.ค. 2564 เท่านั้น

ขณะที่ผลกำไรสุทธิปี 2564 MTC ทำกำไรไป 4,945 ล้านบาท ลดลง 5.16% จากปี 2563 ไม่ได้ระบุเหตุผลที่แน่ชัดเช่นกัน

รายได้-กำไร บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) ปี 2564 ภาพจาก: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

“บัตรติดล้อ” อาวุธลับ เงินติดล้อ

ขณะที่บริษัทคู่แข่งอย่าง บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) อีกเซ็กเตอร์ธุรกิจใต้เงาธนาคารกรุงศรีอยุธยา ปี 2564 มีรายได้รวม 12,047.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.1% จากปี 2563 ปัจจัยสำคัญมาจากความสำเร็จของสินเชื่อ “บัตรติดล้อ” ที่เพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยส่งมอบบัตรให้แก่ลูกค้าแล้ว 285,000 ราย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564

ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น 22.6% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยสัดส่วนหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่านายหน้าจากธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัยที่เติบโตขึ้นอย่าง
ต่อเนื่องจากการขยายตัวของธุรกิจประกัน

ผลิตภัณฑ์บัตรกดเงินสด “บัตรติดล้อ” ตัวทำรายได้ปี’64 ของ บมจ.เงินติดล้อ ภาพจากเว็บไซต์ tidlor.com

ส่วนผลกำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 3,168.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.2% จากปี 2563 เป็นผลมาจากอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญในปีนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมปรับตัวลดลงจาก 1.7% ในปี 2563 เหลือเพียง 1.2% ในปี 2564 เป็นผลให้อัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับที่สูงขึ้นแตะระดับที่ร้อยละ 356.6 จากสิ้นปี 2563 ที่ร้อยละ 325.1 สอดคล้องกับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายด้านเครดิตที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน

รายได้-กำไร บมจ.เงินติดล้อ ปี’64 ภาพจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

อย่างไรก็ตาม การที่ 2 บริษัทมีแนวโน้มทางธุรกิจที่ดี นอกจากจะสะท้อนความสามารถในการดำเนินธุรกิจ อีกด้านหนึ่งยังสะท้อนภาวะค่าครองชีพในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพราะหากรัฐบาลไม่ขับเคลื่อนนโยบายสร้างรายได้และลดรายจ่ายประชาชนได้ชัดเจน “ธุรกิจลuสซิ่ง-สินเชื่อ” ต่าง ๆ คงเป็นที่พึ่งในยามยากของประชาชนตาดำ ๆ ต่อไป