กทม. รื้อป้ายชื่อสะพานท่าราบ กลับเป็น สะพานพิบูลสงคราม ตามเดิม

สะพานท่าราบ สะพานพิบูลสงคราม
ภาพจากข่าวสด

ผอ.สำนักการโยธา กทม. สั่งเจ้าหน้าที่รื้อป้าย สะพานท่าราบทิ้ง หลังพบมือดีนำป้ายอะคริลิกมาติดทับป้ายของเดิม พร้อมมอบเจ้าหน้าที่แจ้งความดำเนินคดี

วันที่ 2 กรกฎาคม 2565  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการแชร์ภาพ สะพานพิบูลสงคราม ใกล้แยกเกียกกาย (รัฐสภา) ถูกป้ายปิดทับของเดิมเป็นชื่อ สะพานท่าราบ ทำให้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ อย่างกว้างขวาง

ต่อมาเวลา 12.30 น. นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ให้สัมภาษณ์ข่าวสดออนไลน์ ว่า จากการตรวจสอบพบว่าเป็นป้ายอะคริลิกข้อความ สะพานท่าราบ มาติดทับชื่อ สะพานพิบูลสงคราม  เชื่อว่าเป็นการกลั่นแกล้ง จึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าศูนย์ก่อสร้างและบูรณะ ไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.บางโพ รวมทั้งรื้อป้ายดังกล่าวออกทันที

ด้าน นายธานินทร์ เนียมหอม ผอ.เขตดุสิต พร้อมเจ้าหน้าที่เทศกิจ และตำรวจสายตรวจ สน.บางโพ ร่วมตรวจสอบสะพานพิบูลสงคราม เมื่อเวลา 13.20 น.

จากการตรวจสอบพบว่าป้ายชื่อสะพานใหม่นั้นถูกปิดทับทั้ง 2 ฝั่งคลองของตัวสะพาน เจ้าหน้าที่ศูนย์ก่อสร้างและบูรณะ สำนักการโยธาของ กทม.ได้นำค้อนมางัดแงะออก ทำให้ตัวสะพานเดิมได้รับความเสียหาย เศษปูนหลุดลอกตามป้ายออกมาเป็นจุดๆ

credit : khaosod

นายธานินทร์ กล่าวว่า เมื่อช่วงเที่ยงได้รับแจ้งจากแอพลิเคชั่นทราฟฟี่ฟองดูร์ ของ กทม.จึงมาตรวจสอบพร้อมตำรวจ สน.บางโพ เพื่อเร่งปรับแก้ให้คืนสู่สภาพเดิม ซึ่งสะพานแห่งนี้อยู่ในเขตของสำนักงานเขตดุสิต แต่เป็นความรับผิดชอบของสำนักการโยธา กทม.

ขณะนี้ยังไม่สามรรถตอบได้ว่าใครมาติดตั้ง ต้องไปไล่ดูกล้องวงจรปิดว่ามีใครทำผิดสังเกตบ้าง ซึ่งดูจากลักษณะกาวที่นำมาติดทับป้ายนั้นยังผ่านเวลามาไม่นาน ตำรวจ สน.บางโพ จะนำเป็นหลักฐานไปสืบหาบุคคลต่อไป สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้น มีทั้ง พ.ร.บ.ความสะอาด และกฎหมายเกี่ยวกับที่สาธารณะที่ตำรวจจะดำเนินการต่อไป

สำหรับ สะพานพิบูลสงคราม เป็นสะพานข้ามคลองบางซื่อ ตัดกับถนนประชาราษฎร์ 1 อยู่ระหว่างแยกเกียกกาย กับ แยกบางโพ ชื่อสะพานมาจากชื่อ จอม พล.ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 3 ของไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เว็บไซต์ รัฐบาลไทย ระบุข้อมูลว่า จอมพล ป.เคยสังกัด อยู่ กรมทหารบกปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากสะพานไปประมาณ 2 กิโลเมตร