รัชกาลที่ 7 พระราชมรดก พระราชพินัยกรรม หลัง 2475 ตำหนัก-ที่ดิน

ร.7 หม่อมมณี
ภาพจากหนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน” คุณหญิงมณี สิริวรสาร

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชพินัยกรรม การแบ่งมรดก ที่เป็นตำหนัก ในอังกฤษ และทรัพย์สิน ที่ดิน ในเมืองไทย ใช้เวลาแบ่ง 3 วัน

ศึกษาประวัติศาสตร์การแบ่งพระราชพินัยกรรม และพระราชมรดก ของรัชกาลที่ 7 ผ่านคำบันทึกของคุณหญิงมณี สิริวรสาร อดีตสะใภ้หลวง หรือ “หม่อมมณี” ที่เขียนไว้เป็นหนังสือ ชื่อ “ชีวิตเหมือนฝัน” คุณหญิงมณี สิริวรสาร

“หม่อมมณี” เล่าถึงขั้นตอนหนึ่งของการแบ่งพระราชมรดกในพระราชพินัยกรรม ที่อังกฤษ ไว้ว่า

“การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระปกเกล้าฯ โดยกะทันหันเช่นนี้ ทำให้ทุกคนที่อยู่ที่พระตำหนักคอมตันเฮาส์งงงวยและอลเวงอยู่พักหนึ่ง เสมือนขาดผู้นำซึ่งเป็นดวงประทีปที่คอยส่องแสงให้ความสว่างกับพวกเราทุกคน ได้ดับวูบลงอย่างทันทีทันใด ถึงแม้ทุก ๆ คนทราบดีว่าพระชนมายุทูลกระหม่อมอาจไม่ทรงยืนยาว แต่ก็ไม่มีใครคาดฝันว่าจะทรงเสด็จละทิ้งพวกเราไปอย่างรวดเร็วและน่าใจหายเช่นนั้น”

เราต่างมีความรู้สึกว่าส่วนสำคัญที่สุดในชีวิตของเราได้สูญสิ้นไปด้วย และนับแต่วาระนี้เป็นต้นไป ชีวิตของทุก ๆ คนต้องเริ่มใหม่และเปลี่ยนแปลงไปโดยฉับพลัน

คำบันทึกของอดีตสะใภ้หลวง “หม่อมมณี” เล่าว่า เมื่องานถวายพระเพลิงเสร็จสิ้นไปแล้ว มิสเตอร์เครกทนายความที่ปรึกษาของสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ได้เรียกประชุมทายาทในห้องรับแขกของพระตำหนักคอมตันเฮาส์เพื่ออ่านพระราชพินัยกรรมซึ่งทรงทำไว้ที่ประเทศอังกฤษ และมิสเตอร์เครกเป็นคนร่างถวายและได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกด้วย มิสเตอร์เครกบอกว่า…

พระราชพินัยกรรมฉบับนี้เกี่ยวกับทรัพย์สินของสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่อยู่ที่ประเทศอังกฤษเท่านั้น เพราะทรัพย์สมบัติทั้งหมดของสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่มีที่เมืองไทยนั้นได้ทรงทำพินัยกรรมไว้ที่เมืองไทยเรียบร้อยแล้ว แต่เวลานี้เนื่องจากรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ฟ้องสมเด็จพระปกเกล้าฯ และศาลได้พิพากษาให้สมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นฝ่ายแพ้ความ บัดนี้รัฐบาลได้ยึดทรัพย์สมบัติทั้งหมดของพระองค์รวมทั้งวังศุโขทัยไว้ด้วย

ดังนั้น ทรัพย์สินที่เมืองไทยของสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ถูกรัฐบาลยึดอายัดไว้จนหมดสิ้นแล้ว พระราชพินัยกรรมที่ทำที่ประเทศอังกฤษฉบับนี้ ทรงทำขึ้นหลังจากที่พระองค์จิรศักดิ์ได้ทำการสมรสกับข้าพเจ้า (หม่อมมณี) และเกี่ยวข้องเฉพาะผลประโยชน์ของสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่ประเทศอังกฤษเท่านั้น

“ผู้ที่มาร่วมฟังด้วยก็มีสมเด็จพระองค์จิรศักดิ์ ข้าพเจ้า ม.จ.ศุภสวัสดิ์ พระเชษฐาของสมเด็จ และพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช มิสเตอร์เครกได้เปิดผนึกพระราชพินัยกรรมและอ่านให้ฟัง มีใจความว่า สมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงยกทรัพย์สินที่เป็นผลประโยชน์ทั้งหมดให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีและพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ได้ส่วนแบ่งคนละครึ่งเท่า ๆ กัน”

มิสเตอร์เครกอธิบายว่า เงินผลประโยชน์ทั้งหมดนี้ได้ทรงตั้งเป็นทรัสต์ฟันด์ (Trust Fund) ให้ทายาททั้งสองพระองค์แบ่งรายได้จากเงินต้นคนละเท่า ๆ กัน แต่ให้เก็บได้เพียงดอกเบี้ย มิให้ทายาทมีสิทธิแตะต้องเงินต้นได้ แต่เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีสิ้นพระชนม์เมื่อใด ให้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งหมดตกเป็นของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ หรือทายาทของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์แต่ผู้เดียว

ส่วนตำหนักเวนคอร์ตนั้นทรงยกให้พระองค์เจ้าจิรศักดิ์หรือทายาทของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ และสิทธิการเช่าระยะยาวของตำหนักคอมตันเฮาส์นั้นทรงยกให้พระองค์เจ้าวรานนท์ รวมทั้งเครื่องเรือนเครื่องใช้ทั้งหมดในตำหนักก็ให้ตกเป็นของพระองค์เจ้าวรานนท์ด้วย

มิสเตอร์เครกอธิบายว่า ที่สมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงยกตำหนักเวนคอร์ตให้พระองค์เจ้าจิรศักดิ์นั้นก็เพื่อหวังจะได้หลบภาษีมรดกเมื่อสิ้นพระชนม์ คือ ตามกฎหมายอังกฤษ ผู้ใดที่ยังมีชิวิตอยู่ถ้าได้มอบทรัพย์สินให้แก่ทายาทไว้ก่อนสิ้นชีวิตเจ็ดปีก็รอดพ้นจากการเสียภาษีมรดกได้

แต่ในกรณีของสมเด็จพระปกเกล้าฯ นั้น ทรงทำพินัยกรรมนี้เพียง 3 ปีเท่านั้นก่อนสิ้นพระชนม์ ดังนั้น ทายาทจึงต้องเสียภาษีมรดกให้แก่รัฐบาลอังกฤษเต็มตามอัตราซึ่งรุนแรงมาก มิสเตอร์เครกแจ้งว่าเงินรายได้ที่ได้รับจากทรัสต์นั้นไม่เพียงพอที่จะจ่ายเงินก้อนใหญ่ให้รัฐบาลได้

มิสเตอร์เครกจึงแนะนำว่ามีวิธีเดียวคือต้องขายพระตำหนักเวนคอร์ต รวมทั้งเครื่องเรือนเครื่องใช้ทั้งหมด และต้องขายรถโรลส์รอยซ์อีกหนึ่งคันที่ทรงใช้อยู่ เพื่อรวบรวมเงินให้พอเพียงไปจ่ายภาษีมรดกให้เสร็จสิ้นไปได้ ส่วนตำหนักคอมตันเฮาส์นั้น สมเด็จก็ทรงประทับต่อไปได้โดยทรงต้องจ่ายค่าเช่าให้พระองค์วรานนท์ เพราะเหตุว่าพระองค์วรานนท์ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ และมิสเตอร์เครกก็เป็นผู้จัดการผลประโยชน์ให้แก่พระองค์วรานนท์อยู่ ดังนั้น การเก็บค่าเช่าจึงจำเป็นต้องเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายของประเทศอังกฤษที่เกี่ยวข้องแก่ผู้เยาว์ให้ถูกต้องทุกประการด้วย

“มิสเตอร์เครกได้อธิบายเกี่ยวแก่พระราชพินัยกรรมเสร็จสิ้นแล้ว ข้าพเจ้าสังเกตว่า เจ้านายพระองค์หนึ่งที่ทรงประทับด้วยพระพักตร์บึ้งตึงและไม่ทรงรับสั่งอะไรเลย คือ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ ก่อนเปิดพระราชพินัยกรรมนั้น ท่านชึ้นทรงแสดงความทุกข์โศก ฟูมฟาย และคร่ำครวญ ได้ข่าวการสิ้นพระชนม์ของทูลกระหม่อมมากมาย แต่หลังจากที่ได้รับทราบพินัยกรรมของกระหม่อมแล้ว ท่านชึ้นก็มิได้ทรงรับสั่งถึงสมเด็จพระปกเกล้าฯ อีกต่อไป”

ส่วนการแบ่งพระราชมรดกของรัชกาลที่ 7 ในเมืองไทย ใช้เวลา 3 วัน เฉพาะที่ดินหลังวังศุโขทัย กับใจกลางเมือง 22 แปลงใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงก็จบสิ้น

คือคำบันทึกของคุณหญิงมณี สิริวรสาร ซึ่งเป็นหม่อมในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต องค์ต้นราชสกุล “ศักดิ์เดช ภานุพันธ์” พระราชโอรสบุญธรรมในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และเป็นหม่อมใน พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภัสสรวงศ์ พระโอรสในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

“หม่อมมณี”  เล่าตอนหนึ่งว่า (การแบ่งพระราชมรดก) เป็นไปตามกฎหมายไทย คือแบ่งกันคนละครึ่ง ภาคลูกและภาคเมีย ซึ่งผู้ที่ได้รับ 2 ราย คือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 กับหม่อมมณี ผู้แทนของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ ในฐานะที่เป็นหม่อมในพระราชโอรสบุญธรรม ของรัชกาลที่ 7

การจับสลากส่วนแบ่งที่ดิน เกิดขึ้นที่วังศุโขทัย โดยมีการนำสลากโฉนดที่ดิน ใส่ไว้ในพานทอง และสลับกันจับระหว่างพระนางเจ้ารำไพพรรณี กับหม่อมมณี ที่ดินที่ต้องจับสลากมี 22 แปลง แต่เหลือ 20 แปลง เพราะ 2 แปลงที่อยู่ด้านหลังวังศุโขทัย พระนางเจ้ารำไพพรรณี ไม่ประสงค์ให้จับฉลาก จึงมีการแลกเปลี่ยนกับหม่อมมณี เป็นที่ดิน 10 ไร่ ที่ถนนเพลินจิต

ส่วนที่ดินอีก 20 แปลง ม.จ.อุปลีสาน ชุมพล ผู้จัดการผลประโยชน์และผู้จัดการพระราชพินัยกรรมของรัชกาลที่ 7 นำสลากที่เตรียมไว้ ถวายให้พระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงจับก่อน 10 ครั้ง เมื่อทรงจับแล้วสลากที่เหลือเป็นของหม่อมมณี

พระนางเจ้ารำไพพรรณี
พระนางเจ้ารำไพพรรณี

ส่วนของพระนางเจ้ารำไพพรรณี เช่น โฉนดที่ดินที่ราคาแพงที่สุด เป็นโฉนดที่ดินที่ถนนทรงวาด ตำบลราชวงศ์ ประมาณ 3 ไร่, ที่ดินที่คลองหลอด 10 ไร่ ติดกับโรงเรียนราชินี, ตึกใหญ่ที่ถนนเพชรบุรี

ส่วนของหม่อมมณี ได้ที่ดินคู่กับถนนทรงวาด 7 ไร่ ด้านที่เป็นโรงสีและตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา, ตึกแถวที่คลองหลอด 10 ไร่ ด้านที่ติดกับบ้านหม้อ, ตึกใหญ่ที่ถนนพญาไท (บ้านพระยาคธาธร) 1 ไร่ครึ่ง (ซึ่งมีผู้มาจำนองไว้กับพระปกเกล้าฯ)

และที่เหลือเป็นที่ดินในพระนคร ก็ถูกจัดแบ่ง ในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน

ส่วนสังหาริมทรัพย์เครื่องเรือน ถ้วยชาม เครื่องแก้ว พระพุทธรูป เครื่องประดับในวัง เช่น กระถางต้นไม้ จิปาถะ ถูกพ่อค้าจีนจากบ้านหม้อตีราคาประมูล และนำเงินสดแบ่งให้สัดส่วนที่เท่า ๆ กัน ในส่วนหลังนี้ใช้เวลา 3 วัน

ที่ดินส่วนของ “หม่อมมณี” ปัจจุบันส่วนหนึ่งคือ อาคารมณียาเซ็นเตอร์ และโรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ย่านราชประสงค์ บริหารโดย ม.ร.ว.ทินศักดิ์ ศักดิ์เดช ภานุพันธ์ ทายาทของหม่อมมณี และพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ

****ข้อมูลจากหนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน” คุณหญิงมณี สิริวรสาร

หนังสือ "ชีวิตเหมือนฝัน"
หนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน”