ณัฐพล ใจจริง เปิดประวัติ “สโมสรคณะราษฎร” คลับของพลเมือง

วาระครบ 90 ปี อภิวัฒน์สยาม นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ณัฐพล ใจจริง เปิดข้อมูล “สโมสรคณะราษฎร” : จากพรรคการเมือง สู่สโมสรพลเมืองสังสรรค์

ณัฐพล ใจจริง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่มีงานวิจัยศึกษาด้านประวัติศาสตร์การเมืองของไทย เขียนบทความเนื่องในโอกาสครบ 90 ปี อภิวัฒน์สยาม เรื่อง “สโมสรคณะราษฎร” : จากพรรคการเมือง (Political party) สู่สโมสรพลเมืองสังสรรค์ (Public sphere) เผยแพร่ในมติชนสุดสัปดาห์ คอลัมน์ My Country Thailand ฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม-3 มิถุนายน 2564 มีใจความสำคัญดังนี้

จากปฐมบทการรวบรวมเหล่านักปฏิวัติจากคณะราษฎร ข้าราชการ พ่อค้าและประชาชนเข้าต่อสู้ทางการเมืองด้วยการจัดตั้ง “สมาคมคณะราษฎร” ให้เป็นพรรคการเมือง เพื่อชิงชัยทางการเมืองและการแสวงหาการสนับสนุนจากพลเมืองอย่างกว้างขวางเพื่อสร้างสังคมแห่งอุดมคติขึ้น

โดยมีนโยบายหลัก คือหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ประกอบด้วย 1.หลักเอกราช 2.หลักความปลอดภัย 3.หลักเศรษฐกิจ 4.หลักเสมอภาค 5.หลักเสรีภาพ 6.หลักการศึกษา

ในขณะที่กลุ่มอนุรักษนิยมกังวลว่า สมาคมคณะราษฎรเป็นฐานทางการเมือง อีกทั้งมีการจัดตั้งสาขาสมาคมฝ่ายปฏิวัติอย่างกว้างขวางจะเป็นอันตรายต่อพวกตนจึงนำไปสู่การหาหนทางยุบสมาคมลง ในราวเดือนเมษายน 2476 สมัยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ

ต่อมาเมื่อคณะราษฎรสามารถคุมสถานการณ์ทางการเมืองจากฝ่ายต่อต้านภายหลังรัฐประหารล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ และปราบปรามกบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม 2476 ได้แล้ว จึงจัดตั้ง “สโมสรคณะราษฎร” เมื่อ 23 มิถุนายน 2477 ที่พระราชวังสราญรมย์ขึ้นแทนสมาคมคณะราษฎรที่ถูกทำลายลงจากกลุ่มอนุรักษนิยม

ด้วยเหตุนี้ สโมสรจึงเปลี่ยนวัตถุประสงค์การต่อสู้ทางการเมืองทางตรงมาเป็นเสมือนพื้นที่แห่งการปรึกษาหารือทางการเมืองระหว่างสมาชิก เพื่อรวบรวมกำลังของคนไทยให้มีความเป็นปึกแผ่น จะได้ช่วยกันทำนุบำรุงการปกครองภายในระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงตลอดรอดฝั่งไปได้

โดยทุกเย็นจะมีการมาสโมสรแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติของผู้ที่มีอุดมคติอันเดียวกัน กลุ่มสมาชิกอาวุโสกับกลุ่มสมาชิกผู้เยาว์มีความใกล้ชิดกัน สมาชิกทุกคนย่อมเท่ากันหมดเมื่ออยู่ที่สโมสร ทำให้สมาชิกรุ่นเยาว์กล้าแสดงความคิดเห็นของตัวออกมาให้ผู้ใหญ่ทราบความต้องการว่า สิ่งใดควรเปลี่ยนแปลงบ้างในวงราชการและบ้านเมืองให้เกิดความเจริญ เพื่อเป็นส่วนรวมของประเทศชาติตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

กล่าวโดยสรุป ภายหลังสมาคมคณะราษฎรในฐานะพรรคการเมือง (Political party) ถูกยุบลง มีการจัดตั้งขึ้นใหม่เป็นสโมสรคณะราษฎร พร้อมเปลี่ยนวัตถุประสงค์การต่อสู้ทางการเมืองด้วยการเลือกตั้งเป็นสโมสรสังสรรค์ มุ่งปรึกษาหารือและให้ความรู้แก่สมาชิกสโมสรแทน โดยสมาชิกล้วนยึดมั่น สนับสนุนให้พลเมืองอยู่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย และยึดถือหลัก 6 ประการของคณะราษฎรอย่างมั่นคง