ขาดดุลการค้าทะยานสู่ 500,000 ล้าน

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

การขาดดุลทางการค้าในระดับสูงจะเป็น 1 ในปัจจัยหลักที่ “กดดัน” ต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ต่อเนื่องไปถึงปี 2566 โดยตัวเลขล่าสุดภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ปรากฏว่าการส่งออกมีมูลค่า 23,629.3 ล้านเหรียญสหรัฐหรือขยายตัว 4.3% แต่ถ้าคิดเป็นเงินบาทเท่ากับ 829,029 ล้านบาทหรือขยายตัว 17% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 27,289.8 ล้านเหรียญหรือขยายตัว 23.9% ส่วนมูลค่าในรูปของเงินบาทเท่ากับ 968,940 ล้านบาทหรือขยายตัว 38.7%

ส่งผลให้ประเทศไทยขาดดุลการค้าในเดือนกรกฎาคม 2565 เท่ากับ 3,660.5 ล้านเหรียญหรือเท่ากับ 139,911 ล้านบาท

แต่หากติดตามภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จะพบว่าไทยสามารถส่งออกคิดเป็นมูลค่ารวม 172,814.1 ล้านเหรียญสหรัฐหรือขยายตัว 11.5% ในรูปของค่าเงินบาทเท่ากับ 5,774,277 ล้านบาทหรือขยายตัว 22.2% (เมื่อหักทองคำ-น้ำมัน-อาวุธออกไปแล้ว

จะพบว่าการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกขยายตัว 8.3%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 182,730.4 ล้านเหรียญหรือขยายตัว 21.4% ส่วนในรูปของเงินบาทเท่ากับ 6,192,216 ล้านบาทหรือขยายตัว 33%

เท่ากับในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ประเทศไทยขาดดุลการค้าไปแล้ว 9,916.3 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็นเงินบาทเท่ากับ 417,939 ล้านบาท

การขาดดุลทางการค้า (trade deficit) อธิบายได้ว่า มูลค่าการนำเข้า (import) “มีมากกว่า” มูลค่าการส่งออก (export) หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ “เราซื้อมากกว่าขาย” แต่ปัญหาขณะนี้ก็คือ “เงินบาทที่อ่อนค่าลงมีผลต่อการซื้อ และไทยต้องนำอะไรเข้ามามาก และจะต้องซื้อในราคาและปริมาณนี้ไปถึงเมื่อไหร่”

จากตัวเลขการนำเข้าในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้าในกลุ่มเชื้อเพลิง คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 20.7% ของการนำเข้าทั้งหมด ส่งผลให้ยอดการนำเข้าโดยรวมเพิ่มขึ้น 89% มูลค่า 37,845 ล้านเหรียญ โดยสินค้าในกลุ่มเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้ามามาก

ได้แก่ น้ำมันดิบ มูลค่า 24,095 ล้านเหรียญหรือประมาณ 843,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 81.4%, น้ำมันสำเร็จรูป 3,521 ล้านเหรียญ คิดเป็นเงินบาท 123,000 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 18.2% และก๊าซธรรมชาติ 7,258 ล้านเหรียญ คิดเป็นเงิน 254,000 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 190.2%

สอดคล้องกับความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ที่ว่า การขาดดุลทางการค้าที่เพิ่มขึ้นของไทยมาจาก 3 สาเหตุสำคัญคือ การส่งออกสินค้าเริ่มชะลอตัวลง โดยตัวเลขเป้าส่งออกล่าสุดอยู่ระหว่าง 6-8% หรือ 293,000 ล้านเหรียญ, ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 ทำให้มียอดการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น

และสำคัญที่สุดก็คือ การนำเข้าสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ โดยอย่างหลังนั้นจะสังเกตได้ว่า ช่วง 7 เดือนแรกมีการนำเข้าก๊าซ (ส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในการผลิตไฟฟ้า) มีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 190% ทีเดียว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางด้านพลังงานของโลกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ยิ่งน่าเป็นห่วงมาก จากปัจจัยหลัก 2 ประการ ที่ทำให้ความต้องการใช้พลังงานมากยิ่งขึ้นคือ สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง ส่งผลให้รัสเซียยิ่ง “กดดัน” การขายก๊าซให้กับยุโรป

หลังบริษัทก๊าซพรอม ประกาศยุติการส่งก๊าซผ่านท่อนอร์ทสตรีม 1 จนยุโรปหลายประเทศเกิดวิกฤตพลังงาน ราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 1 ใน 3 หรือเกือบ 400% กับกลุ่มโอเปก มีมติล่าสุดให้ปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลง 100,000 บาร์เรล/วัน เพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกให้คงอยู่ในเกณฑ์ที่ “สูงมาก” ต่อไป

สัญญาณวิกฤตทางด้านพลังงานโลกที่เกิดขึ้นนี้ จะมีผลโดยตรงต่อการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซของประเทศไทยแน่นอน ด้วยปริมาณการใช้น้ำมันสำเร็จรูปที่ไม่ลดลง (ไม่มีการประหยัด) ความต้องการก๊าซในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง แต่ยอดการส่งออกกลับคงที่หรือชะลอตัวลง จึงมีความเป็นไปได้ว่า ณ สิ้นปี 2565 ประเทศไทยจะขาดดุลการค้าไปสู่ระดับ 500,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน