ภัยเงียบ “ฟอร์มาลิน” หมึกกรอบ-ผ้าขี้ริ้ว

หมู ฟอร์มาลิน
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กฤษณา ไพฑูรย์

วงการสาวก “หมูกระทะ” ต้องช็อกไปตามกัน เมื่อมีข่าวด่านกักกันสัตว์ชลบุรี บุกยึดอายัด “เครื่องในหมูและวัวเถื่อน” ! ประมาณ 25,000 กก. มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท ได้ในแหล่งผลิตใหญ่ในพื้นที่ ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

โดยเฉพาะการตรวจพบ “ชิ้นส่วนสไบนาง” หรือ “ผ้าขี้ริ้ว” ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของเครื่องในวัว แช่อยู่ในถังน้ำผสม “สารฟอร์มาลิน” เพื่อเตรียมส่งขายร้านหมูกระทะ ! และร้านอาหารอีสาน ! ในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและจังหวัดใกล้เคียง

นอกจากนี้ ยังพบสารเคมีและแกลลอนบรรจุสารฟอร์มาลิน ขนาด 25 ลิตร กว่า 50 แกลลอน รวมถึงได้ยึดใบเสร็จกว่า 2,300 ใบ ที่มีหลักฐานการขายให้กับลูกค้าร้านหมูกระทะ และร้านอาหารอีสาน จำนวนกว่า 66 ราย

ผลการเข้าตรวจสอบพบว่าสถานประกอบการดังกล่าว เป็นสถานประกอบการ “เถื่อน” ! เพราะไม่มีใบอนุญาตค้าซากสัตว์ ไม่มีใบเคลื่อนย้ายซากสัตว์

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา หลายหน่วยงานภาครัฐมีการสุ่มตรวจพบการปนเปื้อนของ “ฟอร์มาลิน” หรือเรียกกันในทางวิชาการว่า “ฟอร์มาลดีไฮด์” มาตลอด

หนังสือ “เรื่องฟอร์มาลดีไฮด์ในอาหาร” ของสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตีพิมพ์เมื่อเดือนมกราคม ปี 2561 ระบุว่า ปี 2559 ได้สุ่มตรวจอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดสด ตลาดค้าส่ง แผงลอย ร้านอาหารในโรงเรียน โรงพยาบาล

พบว่ามีการใช้ฟอร์มาลดีไฮด์มากที่สุด อันดับที่ 1 คือ ปลาหมึกกรอบ พบร้อยละ 48 และอันดับที่ 2 คือ สไบนางขาว พบร้อยละ 42 สไบนางดำ พบเพียงร้อยละ 8 และปลาหมึกสด พบเพียงร้อยละ 10

ขณะที่สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ได้สุ่มเก็บสไบนาง 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงวันที่ 25 มีนาคม-19 กรกฎาคม 2564 พบฟอร์มาลดีไฮด์ใน “สไบนาง” ถึง 4 ตัวอย่าง

ที่สำคัญ “ฟอร์มาลิน” ถ้าได้รับเข้าสู่ร่างกายปริมาณสูงจะเกิดความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารเฉียบพลัน ทำให้ปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน ท้องเสีย แต่หากได้รับปริมาณน้อย ๆ เป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดผลเสียกับระบบต่าง ๆ ของร่างกาย หรือก่อให้เกิดมะเร็ง

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขของไทยจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 หากผลิต นำเข้า หรือมีไว้ครอบครองต้องขึ้นทะเบียน และเป็นสารห้ามใช้ในอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ. 2536) เรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร

สถาบันอาหารให้สังเกตเวลาไปซื้ออาหาร เช่น เนื้อสัตว์ หากถูกแสงแดด ลมเป็นเวลานาน แล้วยังสดอยู่ไม่ควรซื้อ อาหารทะเลที่มีเนื้อแข็งบางส่วน เปื่อยยุ่ยบางส่วนไม่ควรซื้อ ผักผลไม้ที่มีลักษณะแข็ง เขียว กรอบ หรือสดผิดปกติ ให้ดมที่ใบ ผล หรือหักก้านดมถ้ามีกลิ่นแสบจมูกแสดงว่ามีฟอร์มาลินปนเปื้อน และก่อนนำมาปรุงควรแช่ สารละลายด่างทับทิมเจือจาง (อัตราส่วน ด่างทับทิม 20 เกล็ด ผสมน้ำ 4-5 ลิตร) นาน 5-10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด เพื่อความปลอดภัย

ส่วนบรรดาผู้ประกอบการร้านอาหารหมูกระทะ และร้านอาหารอีสาน ที่ใช้วัตถุดิบดีได้มาตรฐาน ต้องออกมาติดประกาศการันตีเรียกลูกค้ากันหน่อยจะได้ไม่ถูกเหมาเข่ง !