การเมือง 3 เสา

รูปสามัญสำนึกพี่สวน
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : อิศรินทร์ หนูเมือง

ก่อนและหลังเลือกตั้ง 2566 การเมืองยังแบ่งเป็น 3 เสา

เสาแรก-การเมืองแบบสืบทอดอำนาจ “ประยุทธ์-ประวิตร” ที่เข้าสู่อำนาจด้วยการยึดอำนาจ ทลายระบบพรรคการเมือง ตั้งแต่ปี 2557 ต่อเนื่องด้วยการตั้งพรรคการเมือง แล้วสานต่ออำนาจมานานกว่า 8 ปี

บัดนี้ฝ่ายอนุรักษนิยม สับเปลี่ยนกำลัง เปลี่ยนตัวเล่น ด้วยการแยกพรรค ด้วยแนบรบคู่ขนาน พลังประชารัฐ (พปชร.) รวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่นอกจากจะทำให้คะแนนนิยมหายไป ยังทำให้ทั้ง 2 พรรคเสื่อมลง

ทั้งพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ สร้างเนื้อสร้างตัว ด้วยฐาน ส.ส.เดิม หาร 2 พรรค แล้วดึงสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เข้ามาสมทบ กับเครือข่ายของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ”

ลงสู่สนามเลือกตั้ง แบบทุบหม้อข้าว หวังคืนทำเนียบ ด้วยเสียง 250 ส.ว.อีกครั้ง

เสาที่สอง-เล่นจริงเจ็บจริง พูดแล้วทำทันที เป็นกลุ่ม ส.ส.นักเลือกตั้ง ที่หวัง ส.ส.ตัวเป็น ๆ ในสมัยหน้า ภายใต้ทีม+พวก พรรคภูมิใจไทย (ภท.)

ทำเกมการเมืองย้อนยุคสไตล์ “บรรหาร+ทักษิณ” รวบรวม ส.ส.ในสภา กลุ่มนักการเมือง นักธุรกิจ บ้านใหญ่ภูธร เข้าสังกัด วางตัวระดับเขต แบบจับตัววางตาย ด้วยการให้ทั้งผลตอบแทนเฉพาะหน้า และผลที่คาดว่าจะได้ในอนาคต มีโครงการเป็นรูปธรรม อย่างน้อยตอบโจทย์ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีสถานีอนามัย” เก็บเกี่ยวดอกผลได้จนครบวาระ แบบไร้ร้อยต่อ-แนบเนียน

จึงเป็นเหตุให้เกิด มหกรรมการลาออก ของ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลก่อนการเลือกตั้งเกือบครึ่งร้อย เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนุญ คือต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วันนับจนถึงวันเลือกตั้ง กรณีครบวาระสภา หรือ 30 วัน กรณียุบสภา

การเมืองย้อนยุคไปเหมือนเมื่อ 30 ปีก่อนจึงปรากฏชัดขึ้น ณ ที่ทำการพรรคภูมิใจไทย

นักการเมืองที่ย้ายเข้าสู่การเมืองเสาที่สอง บอกสูตรการคัดตัวนักเลือกตั้ง ตีตั๋วเป็นฝ่ายรัฐบาลล่วงหน้า ต้องมีคุณสมบัติ 3 ข้อ 1. ฐานเสียงพื้นที่แข็งแรงนับหัวได้จริง คะแนนดิบระดับมีสิทธิชนะ 2. คนรุ่นใหม่ใจถึงมีฐานะด้านการเงิน 3. เป็นเจ้าของธุรกิจหรือทายาท เทียบชั้นเจ้าของสโมสรฟุตบอล

คาดว่าในเดือนมกราคม 2566 จะมีมหกรรมการย้ายพรรค ครั้งใหญ่อีกระลอก เพื่อหนีล็อกเส้นตาย เป็นสมาชิกพรรคใหม่ภายใน 30 วัน กรณีการยุบสภาเกิดขึ้น ก่อนหมดวาระ 24 มีนาคม 2566 เพียงไม่กี่วัน

ไม่ควรลืมว่า พรรคภูมิใจไทย มีเส้นทางจากการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ลากนักเลือกตั้งเข้าสภาได้ 34 คน ตกที่นั่งฝ่ายค้าน

การเลือกตั้งครั้งล่าสุด  24 มีนาคม 2562 ภูมิใจไทย ได้ ส.ส.เพิ่มเป็น 51 คน ด้วยคณิตศาสตร์การเมือง เป็นพรรคอันดับ 3 ที่เป็นตัวแปร-ตัวหลัก กำลังสำคัญของฝ่ายรัฐบาล

แต่ก่อนลงสู่สนามเลือกตั้ง 2566 ภูมิใจไทย รวบรวมกำลังพลนักเลือกตั้งไว้ในมือ ใน-นอกสภา กว่า 90 คน ตั้งหลักเป็นพรรคอันดับ 2 เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และการจัดรัฐบาลขั้วไดขั้วหนึ่งจะไม่สำเร็จ ถ้าไม่มีสมการของภูมิใจไทยเข้าร่วมผสมโรง

เสาที่สาม ขั้วที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย แบ่งเป็น 2 พรรค หลัก คือ เพื่อไทย (พท.)  และก้าวไกล (กก.) ที่พยายามขายไอเดีย เรื่องนโยบายประชานิยม ขั้นกว่า

เพื่อไทย เปิดทั้งหัวหลอก-หัวจริง ขึ้นชิงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่ที่เห็นอาจจะไม่ใช่ ที่ใช่อาจจะยังไม่เห็น แม้แต่คนในพรรค อาจได้เห็นชื่อ แบบนาทีสุดท้าย คล้ายเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

น่าติดตามว่า “ทักษิณสไตล์” จะเปิดหัวใหม่ แก้โจทย์ฝ่ายปฏิปักษ์อนุรักษนิยม ได้มากน้อยเพียงใด

ส่วนพรรคก้าวไกล-ก้าวหน้า ยังเปิดหน้าสู้เรื่องตรงไปตรงมา ว่าด้วยการปฏิรูปทั่วด้าน ตั้งแต่ระบบราชการ-การเมือง-การปกครอง ไปถึงจนถึงสถาบันสูงสุด

เมื่อประชาชนต้องการทางออกจากกับดักปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง ตั้งความหวังหลังการเลือกตั้งจะได้รัฐบาลแบบใหม่

แต่การเมืองเสาที่หนึ่ง อ่อนแรง-เสื่อมทรุด เสาที่สองปักหมุดเรื่องจำนวน ส.ส.เข้าเส้นชัย เสาที่สามต้องเบียดแข่งกันเอง ลูกหาบ+นางแบกเปิดหน้าต่อสู้ในสงครามตัวแทน แบบเอาเป็นเอาตาย


ผลการเลือกตั้ง จึงนับว่าท้าทาย…ทุกมิติ