
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ
น่าตกใจไม่น้อยเมื่อตรวจสอบพบว่าจนถึงปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากที่ประสบอุทกภัยระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม-28 ตุลาคม 2565 ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565อนุมัติกรอบวงเงิน 6,258.54 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 1,046,460 ครัวเรือน ในพื้นที่กรุงเทพฯ และ 66 จังหวัด
เงื่อนไขหลัก ๆ ต้องอยู่ในพื้นที่ประกาศ “เขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย” หรือประกาศ “เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน” แบ่งการช่วยเหลือเป็น 3 ระดับ 1.อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง 1-7 วัน หรือถูกน้ำท่วมขัง 7-30 วัน รับครัวเรือนละ 5,000 บาท 2.ถูกน้ำท่วมขังเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ช่วยเหลือครัวเรือนละ 7,000 บาท และ 3.อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกินกว่า 60 วันขึ้นไป ช่วยเหลือครัวเรือนละ 9,000 บาท
- เช็กเงื่อนไขกู้ “ออมสิน” ปลดหนี้นอกระบบ คุณสมบัติผู้กู้ต้องมีอะไรบ้าง ?
- ขั้นตอนลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ ออนไลน์ debt.dopa.go.th ทำอย่างไร
- เช็กเงื่อนไข แก้หนี้นอกระบบกับ ธ.ก.ส. ลงทะเบียนต้องเตรียมอะไรบ้าง
จากการตรวจสอบล่าสุดพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลตามมติ ครม. ซึ่งตามระเบียบจะจ่ายผ่านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ผ่านมาประชาชนได้เพียงเงินเยียวยาเบื้องต้นจากจังหวัดจ่ายให้เป็นการฉุกเฉินเท่านั้น ซึ่งจำนวนแทบไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในช่วงอุทกภัย
เมื่อทวงถามไปตามขั้นตอนได้คำตอบว่าอยู่ระหว่างตรวจสอบความถูกต้อง ทั้งที่ประชาชนที่เดือดร้อนจากอุทกภัย หลาย ๆ จังหวัด อาทิ อุบลราชธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ หรือพระนครศรีอยุธยา มีภาพชัดเจนทั้งข่าวที่สื่อมวลชนเสนอต่อเนื่องหลายเดือน และข้อมูลการจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นของจังหวัด
ไม่เพียงบ้านเรือนประชาชนทั่วไปเท่านั้น แม้แต่การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ในช่วงที่ผ่านมาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ล่าช้าอย่างน่าตกใจเช่นกัน โดยด้านพืช-ประมง และปศุสัตว์ ที่เกิดความเสียหายและรัฐต้องจ่ายชดเชยเกือบ ๆ 7 พันล้านบาท แต่พบว่าเพิ่งจ่ายเงินไปเพียงหลักร้อยล้านเท่านั้น
คาดกันว่ากว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประเมินความเสียหาย ส่งเอกสาร และเริ่มทยอยเบิกเงินจ่ายเงินชดเชยอย่างจริงจังให้เจ้าของบ้านเรือนและเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยจากปี 2565 ต่อให้ถึงหน้าฝนปี 2566 อาจยังจ่ายได้ไม่ครบถ้วนด้วยซ้ำ
แน่นอนว่าการตรวจสอบความถูกต้องสมควรกระทำอย่างเป็นระบบระเบียบเพื่อความรอบคอบ แต่การปล่อยให้ล่าช้าเนิ่นนานมาถึงปัจจุบันที่น้ำลดไปนานหลายเดือน ไม่ต่างจากซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน เพราะลำพังเงินชดเชยก็ไม่เพียงพอต่อความเสียหายอยู่แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรเร่งพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาให้รวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่
- จ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วมข้ามปี ขั้นตอนเยอะหวั่นต้องรอถึงท่วมรอบใหม่
- น้ำท่วมภาคใต้ 7 จังหวัด กระทบ 61,939 ครัวเรือน ระดับน้ำเริ่มลดลง