กฎหมายยกเว้นภาษี VAT กับธุรกรรมซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

คริปโต
คอลัมน์ : นอกรอบ
ผู้เขียน : ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา facebook : Narun on Fintech Law

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการ พระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและ VAT จากการขายโทเค็นดิจิทัลเพื่อการลงทุน

กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นจิกซอว์อีกตัวที่จะทำให้ภาพของระบบเศรษฐกิจคริปโตของไทยก้าวไปข้างหน้าได้อีกก้าวครับ แต่หนทางยังอีกยาวไกล โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายภาษี บทความนี้ผมเสนอบทวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจจากการบังคับใช้กฎหมาย

ก่อนอื่นต้องขอชมเชยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กรมสรรพากร และสำนักงาน ก.ล.ต.) ที่ร่วมกันปรับปรุงกฎหมายภาษีให้สะท้อน business reality ของการออกเสนอขายดิจิทัลโทเค็นและการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่วงการคริปโตประสบปัญหาความไม่แน่นอนทางกฎหมายอยู่นาน

ทั้งนี้ “สินทรัพย์ดิจิทัล” (ทั้ง cryptocurrency และ digital token) ถือเป็นทรัพย์สินไม่มีรูปร่างตามมาตรา 138 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แปลว่า ถ้ามีการซื้อขาย (ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยเงินบาท) หรือแลกเปลี่ยน (แลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง กับสินทรัพย์ดิจิทัลอีกประเภท) ถือว่าอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือเป็น การขายสินค้าหรือการให้บริการโดยผู้ประกอบการตามกฎหมาย

ดังนั้น ก่อนจะมีการออกพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ กิจกรรมเสนอขายดิจิทัลโทเค็นในตลาดแรก (ICO-initial coin offering) มีลักษณะคล้ายกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะมีการแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลกับเงินบาท หรือมีการแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลต่างประเภทกัน

ดังนั้น ที่ผ่านมากฎหมายจึงถือว่าการทำ ICO เป็นกิจกรรมที่อยู่ภายใต้บังคับตามมาตรา 77/2 ข้างต้นทั้งสิ้น (ผู้เสนอขายต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT จากนักลงทุนที่มาซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล) ทั้ง ๆ ที่ในทางธุรกิจ การออกเสนอขายดิจิทัลโทเค็นเป็นการระดม “ทุน” (fund raising) ซึ่งไม่ใช่ “การหารายได้”

นอกจากนั้น การซื้อขายดิจิทัลโทเค็นในตลาดรอง เช่น ผ่านศูนย์ซื้อขายหรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น ก็เข้าข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น เพราะถือเป็นการซื้อขายสินค้าชนิดหนึ่งตามมาตรา 77/2 ข้างต้น (กฎหมายไทย สินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็นสิ่งของไม่มีรูปร่าง

จึงถูกปฏิบัติในทางกฎหมายภาษีไม่ต่างจากการซื้อสินค้าอื่น ๆ ทั่วไป เช่น การซื้อเสื้อผ้า ซื้อเพลงออนไลน์ เป็นต้น) แต่ในความเป็นจริง การโอนดิจิทัลโทเค็นในตลาดรองมีความคล้ายคลึงกับการลงทุน (investment) มากกว่าการพาณิชย์ (commerce)

จึงเป็นเรื่องที่แปลกมากที่จะมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทดิจิทัลโทเค็นทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง

ด้วยความผิดฝาผิดตัวดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลยมีการผลักดัน พ.ร.ฎ.ฉบับนี้เพื่อให้ economic reality กับกฎหมายภาษีสอดคล้องกัน โดยต่อไปนี้ ทั้งการเสนอขายโทเค็นดิจิทัลในตลาดแรก และตลาดรองได้รับยกเว้นภาษี และให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับในวันที่ 14 พฤษภาคม 2561

อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นให้ต้องผลักดันกันต่อไปในเรื่องภาษีและสินทรัพย์ดิจิทัล

เรื่องสำคัญที่ยังเป็นช่องว่างทางกฎหมายและยังไม่ได้รับการแก้ไขคือ แนวทางการเก็บภาษี VAT กับธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทคริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency) ครับ

ในปัจจุบันการซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทคริปโตเคอร์เรนซี ได้รับยกเว้นภาษี VAT เฉพาะธุรกรรมที่เกิดขึ้นในกระดานศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น ถ้าไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกันผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้จัดการกองทุน หรือผ่านนายหน้า นอกศูนย์ซื้อขายที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจจากกระทรวงการคลัง ยังต้องเสีย VAT อยู่ !!

ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงหรือ nature ของธุรกรรมไม่ได้ต่างอะไรกับการซื้อขายดิจิทัลโทเค็นในตลาดรองที่ได้รับการยกเว้น VAT เลย

ผลลัพธ์ของช่องว่างทางกฎหมายนี้ ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายได้รับประโยชน์ทางภาษี และมีต้นทุนการประกอบธุรกิจที่ได้เปรียบกว่าธุรกิจประเภทอื่นถึงอย่างน้อย 7% ของมูลค่าคริปโตที่มีการซื้อขายกัน (ถ้าเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างคริปโต 2 ประเภท จะได้เปรียบกว่าธุรกิจประเภทอื่นถึง 14%)

ท่านผู้อ่านอาจจะงงว่าทำไมกฎหมายปัจจุบันถึงมี gap ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเยอะขนาดนี้ ผมก็งงครับ อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริง ตามความเข้าใจส่วนตัว ทราบว่าสรรพากรยังอยู่ในช่วงการกำหนดแนวทางการนำส่งภาษี VAT จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล จึงยังไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจและนักลงทุนมากเท่าใดนัก

แต่ก็ต้องยอมรับว่าทุกท่านที่ทำธุรกรรมซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีนอกตลาดศูนย์ซื้อขายมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษี VAT

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม การไม่ยกเว้นบังคับของกฎหมายภาษีเกี่ยวกับ VAT ให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับความเป็นจริงทางธุรกิจ และสอดคล้องกับแนวทางสากลของหลาย ๆ ประเทศ เป็นเรื่องที่อธิบายไม่ได้เลยทางวิชาการกฎหมาย

ผมขอยกตัวอย่างคำตัดสินของศาลสูงสุดในสหภาพยุโรป ในคดีหมายเลข C-264/14 ที่ศาลพิพากษาว่า การซื้อขาย bitcoin ได้รับการยกเว้นจากการเสียภาษี VAT เนื่องจากมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการนำ bitcoin มาใช้เพื่อชำระราคา (private means of payment) แม้ว่า bitcoin จะไม่ใช่เงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายก็ตาม ทั้งนี้ ตามมาตรา 135 แห่ง VAT directive

ศาลสูงแห่งสหภาพยุโรปตัดสินเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งสอดคล้องกับ business reality ที่เกิดขึ้นจริงในระบบเศรษฐกิจ และคำตัดสินดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ระบบเศรษฐกิจล่มสลายลงแต่อย่างใด สักวันหนึ่งบ้านเราคงไปถึงจุดนั้นบ้าง