
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ ผู้เขียน : วุฒิณี ประชาชาติ
เป็นที่ทราบกันดีว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่น และรถยนต์ญี่ปุ่นอยู่คู่กับประเทศไทยมายาวนานกว่า 60 ปี พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนคือการเข้ามาลงทุน ทั้งจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ยกกันมาทั้งซัพพลายเชนญี่ปุ่น ไหลบ่ามาลงหลักปักฐานใช้ “ไทย” เป็นฐานการผลิตรถยนต์ ทั้งแบรนด์เล็กและแบรนด์ใหญ่
ประกาศให้ชาวโลกรู้ว่า ประเทศไทยคือ “ฮับ” การผลิตใหญ่ มีปริมาณผลิตต่อปี ปริ่ม ๆ 2 ล้านคัน แบ่งกันไปคนละครึ่งสำหรับรองรับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและส่งออก
แต่ถึงมาก่อน อยู่นานกว่า ก็ใช่ว่าจะไม่ถูก “ท้าทาย”
ความก้าวหน้าและการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี จากเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) มาเป็นโลกของยานยนต์ไฟฟ้า (BEV)
ทำให้รถญี่ปุ่นกำลังถูกรุกไล่
และการรุกไล่เที่ยวนี้ ไม่ได้มาจากฝั่งยุโรป หรืออเมริกา แต่กลับเป็นประเทศในทวีปเดียวกัน
การที่ค่ายรถยนต์จากจีน เริ่มเข้ามาบุกเบิกทำตลาดในบ้านเราอย่างจริงจังเมื่อ 10 ปีก่อน ต้องยกเครดิตให้กับ “SAIC MOTOR” ที่พยายามนำเสนอแบรนด์ MG ที่เคยสร้างชื่อเสียงในอดีตให้กับตลาดบ้านเรามาก่อนหน้านี้
MG เป็นผู้เล่นที่ “กล้า” เปิดตลาดรถอีวี (EV) สร้างการเรียนรู้ เพิ่มความเข้าใจ และความคุ้นเคย ให้กับลูกค้าชาวไทยและที่สำคัญคือ “ราคา จับต้องได้”
การกรุยทางของ MG ส่งผลให้มีอีกหลายค่ายทยอยกันเข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้น ทั้งแบรนด์ ORA จากเกรท วอลล์ มอเตอร์, แบรนด์ NETA จากเนต้าออโตโมบิล รวมถึงยักษ์ใหญ่อย่าง BYD
ภาพสะท้อนที่ช่วยย้ำการรุกไล่ของรถจีน เด่นชัดขึ้นหลังจากที่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ออกมาเปิดเผยว่า กำลังมีค่ายรถจีนอีกหลายรายพิจารณาเลือกประเทศไทยตั้งโรงงานผลิตรถ EV
และที่ดูจะเป็นรูปเป็นร่าง ได้แก่ ค่าย GAC AION หรือกวางโจว ออโต หนึ่งในหลาย ๆ รายที่เตรียมลงทุนในไทยอีกกว่า 6,400 ล้าน
เท่ากับสะท้อน ให้เห็นว่า จากนี้ไปรถแบรนด์จีน พร้อมกรีธาทัพเข้ามาในตลาดไทยเพิ่มขึ้น ภายใต้กลยุทธ์ blue ocean ด้วยการสร้างดีมานด์ใหม่ ๆ มาใช้แข่งขันกับเจ้าตลาดกลุ่มรถยนต์ ICE จากค่ายญี่ปุ่นแล้ว
และกำลังทำให้ประเทศไทยกลายเป็นสมรภูมิตลาดที่มีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรงและพร้อมจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เพราะผู้เล่นหน้าเดิม คือค่ายรถญี่ปุ่น ที่ครองพื้นที่ตลาดไว้ค่อนสูง
วันนี้เริ่มสูญเสียพื้นที่โดยตัวเองยังไม่มีรถอีวีออกมาแข่งขันได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ทั้งด้านเทคโนโลยี ราคา และการเข้าถึงความต่างและความได้เปรียบ ทำให้สเต็ปการก้าวเข้าไปยังพื้นตลาดเก่า ด้วยสินค้าใหม่ ของค่ายรถจีนมีเหนือกว่า…
เราจะได้เห็นสัดส่วนยอดขายรถอีวี และรถแบรนด์จีนมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
วันนี้พฤติกรรมลูกค้าเริ่มเปลี่ยนจาก ICE มาสู่ EV ภาพสะท้อนที่มีนัยสำคัญ ถอดรหัสจากตัวเลขยอดขายรถยนต์ในอีเวนต์ใหญ่มอเตอร์โชว์ 2023 มียอดจองอีวีทั้งสิ้น 9,234 คัน หรือคิดเป็น 20% จากยอดรวม 45,983 คัน
และยอดจองรถ top 5 ปรากฏว่าแบรนด์จีน 2 ยี่ห้อ ทั้ง MG และ BYD ปาดหน้าแซงค่ายรถญี่ปุ่นขึ้นมาได้สบาย ๆ ส่วนค่ายเกรท วอลล์ มอเตอร์ ยังมียอดขายติด top 10 อีกด้วย
สนุกแน่…กับสมรภูมิ ที่ค่ายรถจีน กำลังรุกไล่…ค่ายรถญี่ปุ่น