Thailand Taxonomy มาตรฐานเพื่อความยั่งยืน

Thailand Taxonomy
คอลัมน์ : Smart SMEs
ผู้เขียน : ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ขณะที่ดิฉันกำลังนั่งเขียนบทความนี้ อุณหภูมิประเทศไทยนั้นร้อนอบอ้าว ซึ่งถือว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุดกว่าในหลายปีที่ผ่านมาก็ว่าได้ และเป็นที่ทราบกันดีว่าเกิดจากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นทุกปี ซึ่งทำให้ปัจจุบันนี้ในทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญและใส่ใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น จนเกิดแนวคิดเกี่ยวกับ ESG หรือการพัฒนาองค์กรเพื่อความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลักคือ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทุกภาคส่วนจะได้ให้ความสำคัญและสนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลต่อธุรกิจและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง กลับปรากฏว่าแต่ละภาคส่วนมีความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันไป ทำให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม หรือที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดสรรเงินทุนอาจยังไม่ตรงจุด ซึ่งนำไปสู่การกล่าวอ้างเกินจริง ว่ามีการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว (greenwashing) รวมทั้งการจัดสรรเงินทุนให้ภาคธุรกิจที่ต้องการปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่าน (transitional activities) ยังไม่เกิดประสิทธิภาพอย่างเพียงพอ

จึงเกิดแนวคิดเรื่อง Thailand Taxonomy ขึ้นที่ขับเคลื่อนโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้คณะทำงานเฉพาะด้านนี้ เพื่อเป็นมาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทยอย่างแท้จริง โดยจะมีการกำหนดคำนิยาม คำอธิบาย เงื่อนไข และตัวชี้วัดที่ชัดเจนเป็นรายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นคู่มือให้ทุกภาคส่วนเข้าใจและประเมินตรงกัน ว่ากิจกรรมนั้น ๆ มีการดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมหรือไม่ และอยู่ในระดับใด สอดคล้องกับบริบทของประเทศและมาตรฐานต่างประเทศหรือไม่ อย่างไร

ซึ่งจะทำให้ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน มีความเข้าใจตรงกัน และมีจุดยึดโยงนำไปใช้อ้างอิงในการกำหนดนโยบาย วางแผนกลยุทธ์ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของภาคธุรกิจได้อย่างมีมาตรฐานและสอดคล้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะช่วยให้แต่ละภาคส่วนสามารถประเมินสถานะการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมของตนเองและวางแผนรองรับการปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านให้สอดคล้องกับบริบทของไทยได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์

กล่าวโดยสรุปแล้ว Thailand Taxonomy ก็คือมาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย โดยการนำไปใช้ยังเป็นไปตามความสมัครใจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน

อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำ Thailand Taxonomy นั้นจะมีการจัดทำเป็นระยะ ๆ ไป โดยระยะแรกสำหรับภาคพลังงานและภาคขนส่งก่อน ภาคผลิต ภาคเกษตร และภาคอื่น ๆ จะเป็นระยะต่อไป ทั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรธุรกิจในทุกระดับ รวมถึง SMEs ก็ควรติดตามและทำความเข้าใจเพื่อสามารถนำมาใช้วางแผนการปรับตัว โดยนำมาอ้างอิงในการประเมินความเสี่ยง สถานะ และความพร้อมของตนเองในด้านการลดก๊าซเรือนกระจก

ตลอดจนมีความพร้อมในการเปิดเผยข้อมูลด้านการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีต้นทุนต่ำและวงเงินที่เพียงพอ โดยเฉพาะเครื่องมือทางการเงินเพื่อความยั่งยืนต่าง ๆ จากสถาบันการเงิน

รวมถึงโอกาสในการดึงดูดเงินทุนทั้งในและต่างประเทศที่จะสนับสนุนและให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน