
เศรษฐกิจไทยค่อย ๆ ฟื้นตัว หลังผ่านวิกฤตโควิด-19 มา ปัจจุบันได้ภาคการท่องเที่ยวเข้ามาหนุนการเติบโต แต่ก็มีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่เป็นปัจจัยท้าทายเพิ่มเข้ามา และที่สำคัญ ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากรัฐบาลหนึ่งไปสู่อีกรัฐบาลหนึ่ง ซึ่งในช่วงของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่นี้ยังมีความไม่แน่นอนอยู่พอสมควร
โดยจะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าอย่างไรนั้น นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหญ่ อย่าง ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีต รมว.พลังงาน-รมว.พาณิชย์ ได้อภิปรายหัวข้อ “ปัญหาเศรษฐกิจที่รอรัฐบาลใหม่” จัดโดย “มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ซึ่งมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานมูลนิธิ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้ดำเนินรายการ เมื่อเร็ว ๆ นี้
- วิกฤตหรือไม่วิกฤต คำตอบผู้ว่าการ ธปท.
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- พระราชินี ทรงนำทีมแข่งขันเรือใบนานาชาติ เข้าเส้นชัยอันดับ 1
ห่วงตั้งรัฐบาลล่าช้ากระทบประชาชน
โดย ดร.ณรงค์ชัยกล่าวว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าไปจากตามไทม์ไลน์ที่จะคาดว่าตั้งได้ภายในเดือน ส.ค.นี้ จะกระทบต่อมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นการช่วยเหลือประชาชน เพราะจะต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัดสินใจก่อน ซึ่งโจทย์ของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาผลักดันเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จะค่อนข้างต่างกับอดีต ทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ที่ 1.75% และคาดว่าจะขยับขึ้นเป็น 2% ต่อปี ในวันที่ 31 พ.ค.นี้ ราคาน้ำมันที่ปัจจุบันทยอยลดลงมาอยู่ระดับ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ไตรมาส 1/2566 กลับมาแล้ว 6.5 ล้านคน ซึ่งคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้จะกลับมาเป็นบวกได้
“ย้อนไปในช่วงรัฐบาล คสช. ช่วงปี 2557 พบว่า agenda หลายอย่างได้ทำไปบ้างแล้ว และก็มีบางส่วนที่เดินต่อ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) แต่ก็มีบางอย่าง ยังทำไม่เสร็จและต้องดำเนินการต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งที่แตกต่างกันระหว่างตอนนั้นและขณะนี้ คือ เงินเฟ้อ ซึ่งตอนนั้นไม่มีเงินเฟ้อ โดยปัญหาสำคัญขณะนี้คือ ค่าครองชีพแพง ส่วนดอกเบี้ยขึ้นแต่ไม่ได้โหด แม้จะขึ้นอีก 0.25% ซึ่งประชาชนจะเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขโดยการคุมราคาสินค้า แต่สิ่งเหล่านี้ ถ้ายิ่งทำจะยิ่งพัง เพราะฐานะการเงินการคลังของรัฐบาลมีน้อย ภาระภาครัฐมีสูง”
หนุนแจกเงินดิจิทัลวอลเลต
ดร.ณรงค์ชัยกล่าวอีกว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจบางอย่างของบางพรรค หากทำให้เกิดได้จะช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น เช่น นโยบายแจก 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเลต หรือบล็อกเชน เป็นเรื่องที่ดี เพราะในระยะข้างหน้า ทุกครัวเรือนต้องใช้บล็อกเชนเป็นหมด แต่มีข้อแม้ว่าอินเทอร์เน็ตจะต้องเข้าถึงทุกบ้าน
“การเร่งให้ประชาชนเข้าสู่ดิจิทัล การเข้าสู่ไอที เปรียบเหมือนการแจกอาวุธให้ประชาชน ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งทำก่อน เช่น การสนับสนุนให้เกิดการใช้ไอทีมากขึ้น การเร่งโครงสร้างพื้นฐาน โครงการรถไฟฟ้าที่ล่าช้า ปฏิรูประบบการศึกษา ลดปัญหาคอร์รัปชั่น และสนับสนุนให้ประชาชนทำมาหากินได้สะดวกขึ้น”
ห่วงรีดภาษีฉุดการลงทุนไม่ฟื้น
ขณะที่ ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ภาพการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนว่า ที่ผ่านมา เศรษฐกิจขยายตัวไม่ดี รวยกระจุก จนกระจาย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้พรรคก้าวไกลได้คะแนนนำ โดยหากดูนโยบายพรรคก้าวไกล จะชู 2 นโยบายหลัก คือ 1.ทลายทุนผูกขาด และ 2.รัฐสวัสดิการ ซึ่งจำเป็นต้องมีการเก็บภาษี และเน้นหนักไปที่ภาษีความมั่งคั่ง ทั้งภาษีที่ดิน ภาษีมรดก และ ภาษี financial tax
“ในภาวะเศรษฐกิจที่กำลังต้องการการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หากมีการเก็บภาษี จะมีผลต่อการลงทุน เพราะบริษัทขนาดใหญ่จะทบทวนว่า หากลงทุนใหม่ อาจจะต้องถูกกระทบจากภาษี 3-4 ตัวนี้ ซึ่งกระทบต่อผลตอบแทนการลงทุน และยังมีประเด็นต้นทุนค่าจ้างอีก ซึ่งกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น คำถาม คือ มั่นใจแล้วหรือว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวพอ ซึ่งข้อมูลระบบธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาส 1/2566 พบว่า มีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ และภาคธุรกิจ ก็ไม่อยากลงทุน ทำให้สินเชื่อทั้งระบบขยายตัวแค่ 0.6%”
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) ออกมาเตือนว่ามีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบราว 9 แสนล้านบาท และมีหนี้ส่อจะชำระดอกเบี้ยไม่ไหวอีก 6 แสนล้านบาท รวมกันมีหนี้มีปัญหาสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท สะท้อนว่าปัจจัยพื้นฐาน ยังมีลมพัดให้การฟื้นตัวยากลำบาก และมองไปข้างหน้า หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง เศรษฐกิจจะชะลอตัว หรือถดถอย และเศรษฐกิจจีนก็ฟื้นตัวช้า ซึ่งจะกระทบภาคส่งออกของไทยที่มีสัดส่วนสูงถึง 58.7% ต่อ GDP ได้
“นโยบายหลายอย่างเห็นด้วย พวกลดขั้นตอนเกณฑ์ต่าง ๆ การปราบคอร์รัปชั่น หรือทลายทุนผูกขาด ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เน้นเก็บภาษีคนรวยไปช่วยคนจน แต่อย่าลืมว่าเรามีต้นทุนนโยบาย เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนจะลดลง ในยุคที่เราต้องการเร่งการลงทุน เพื่อการฟื้นตัว เพราะตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเราลดลงค่อนข้างเยอะ จาก 40% ปัจจุบันเหลือแค่ 8.9% ซึ่งหากมีการเก็บภาษีจากบริษัทขนาดใหญ่ ภาษีมรดก จากตลาดหุ้น จากเงินปันผล จากความมั่งคั่ง ผลที่ตามมา อาจกระทบต่อบรรยากาศและผลตอบแทนในการลงทุนได้ ดังนั้น ต้อง trade off ให้ดี เพราะทุกอย่างไม่มีอะไรได้มาฟรีในโลก”
แนะเก็บภาษี VAT เพิ่ม-ไม่ฉุดลงทุน
ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า การเก็บภาษีที่มองว่ากระทบผู้คนน้อย คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 7% ซึ่งเคยมีการให้เก็บ 10% แต่มีการเรียกร้องให้เลื่อนการจัดเก็บอัตราดังกล่าวออกไป ที่ผ่านมาก็เลื่อนมาต่อเนื่อง เพราะเป็นเรื่องที่มีผลต่อการเมือง
“ภาษี VAT เป็นภาษีการบริโภค จะกระทบต่อการลงทุนน้อยกว่า ซึ่งทุกการจัดเก็บเพิ่มขึ้น 1% รัฐบาลจะสามารถมีรายได้ราว 7-8 หมื่นล้านบาท หากขยับเพิ่มขึ้นอีก 2-3% พร้อมกับการเร่งการลงทุนให้เกิด จะหนุนการเติบโตของจีดีพีของประเทศ และเมื่อจีดีพีโตเร็วหนี้จะลดลง”
หนุนปฏิรูปการศึกษา-แรงงาน
ดร.ศุภวุฒิกล่าวอีกว่า ปัจจัยท้าทายและเป็นโจทย์สำคัญของไทยในระยะข้างหน้า คือ ตลาดแรงงานของไทยที่จะลดลงต่อเนื่องใน 30 ปีข้างหน้า โดยอาจเห็นแรงงานไทยลดลงถึง 1 ใน 3 จากปัจจุบัน หรือ 11 ล้านคน ซึ่งบางประเทศมีการนำเข้าแรงงานต่างชาติ เช่น สิงคโปร์ หรือบางประเทศไม่ได้ทำ เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น โดยตอนนี้ไทยมีแรงงานต่างชาติราว 4 ล้านคน ซึ่งจะเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ แต่จะต้องเป็นนโยบายที่ต้องทำทันที
นอกจากนี้ ระบบการศึกษาของไทยหากเทียบกับหลายประเทศในโลกภายใต้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ทดสอบทางด้านคณิตศาสตร์ การอ่าน และวิทยาศาสตร์ (PISA) ไทยมีคะแนนค่อนข้างต่ำ อยู่ในอันดับ 66 จาก 78 ประเทศ ซึ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาความสามารถในการอ่านลดลงอย่างมาก
“โจทย์ที่รัฐบาลใหม่ต้องแก้ คือ เรื่องแรงงานและการศึกษา โดยผ่านการเพิ่มทักษะและพัฒนาทักษะใหม่ (upskill reskill) เพราะหากไม่แก้เชื่อว่าเศรษฐกิจอาจไปไม่รอด”
ขณะเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำทางธุรกิจไทยยังมีสูง ต้องเร่งจัดการทุนผูกขาด ปัจจุบันบริษัทใหญ่ ๆ ในไทย ทำรายได้ถึง 80% ของบริษัทในไทย และครองกำไรถึง 60% ของระบบ ซึ่งต้องติดตามจัดการตรงนี้ เพื่อส่งผ่านการช่วยเหลือไปสู่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยมีข้อมูลว่าช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เอสเอ็มอีไทยมีหนี้เสียและสงสัยจะเสียรวมกันถึง 20% ของสินเชื่อทั้งหมด สะท้อนภาพว่าเอสเอ็มอีไทยยังไม่ได้แข็งแรงมาก ซึ่งในระยะสั้นจะต้องลดเกณฑ์ต่าง ๆ หรือตั้งกองทุนช่วยเหลือ
เชียร์แก้ทุนผูกขาด-ทำงบฯฐานศูนย์
ด้าน “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร” กล่าวว่า นโยบายการทลายทุนผูกขาด มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นจริง แต่กระทบบางส่วนของตลาดเท่านั้น โดยจะกระทบต่อหุ้นที่เกิดการปั่นราคาจนราคาขึ้นมาสูง หรือจะแดงในตลาดที่มี market maker ดูแล แต่ถ้าหุ้นพื้นฐานดีจะไม่กระทบกระเทือน
“นโยบายทลายทุนผูกขาด เป็นนโยบายที่ดีที่ต้องรีบทำ เพราะปัจจุบันไทยเริ่มติดนิสัยการผูกขาด และครอบครองตลาด ซึ่งไม่ดีต่อประเทศชาติ หากมีโอกาสต้องรีบทำ ส่วนนโยบายการจัดทำแผนและงบประมาณฐานศูนย์ นโยบายนี้จะแตกต่างจากเดิมที่หากนโยบายหรือโครงการไหนไม่ดี ไม่สามารถตัดออกได้และต้องเพิ่มงบประมาณให้ แต่แบบนี้หากดูแล้วโครงการไม่ดี ไม่คุ้มค่าก็สามารถตัดออกได้ทันที ซึ่งหากทำเป็นไม่ยาก และมีประโยชน์ แต่เชื่อว่าไม่น่าจะทันภายในปีนี้”
ทั้งหมดนี้เป็นเสียงสะท้อนจาก 3 นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหญ่ ที่เคยมีบทบาทสำคัญต่อการบริหารเศรษฐกิจไทยในอดีต