ไปไม่สุดขึ้นค่าแรง 450 บาท

(File) Photo by Romeo GACAD / AFP
บทบรรณาธิการ

หนึ่งในนโยบายที่ พรรคก้าวไกล จะดำเนินการใน 100 วันแรกหลังการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ก็คือ การขึ้นค่าแรง 450 บาทต่อวัน จากปัจจุบันที่ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ระหว่าง 328-354 บาทต่อวัน มาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 โดยจังหวัดที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำสูงสุด 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี-ระยอง-ภูเก็ต ส่วนจังหวัดที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำต่ำสุด ได้แก่ ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส-น่าน และอุดรธานี

แน่นอนว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นนโยบายหาเสียงสำคัญของพรรคก้าวไกลระบุไว้ว่า ระบบค่าแรงต้องปรับขึ้นทุกปี โดยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะใช้วิธีแก้ไขที่ระบบ คือ การแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 87 กำหนดให้ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทุกปี

โดยคำนึงถึง (1) ค่าครองชีพ (2) การขยายตัวทางเศรษฐกิจ หากปัจจัยใดเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าก็ให้นำมาเป็นฐานในการคำนวณปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขั้นต้นที่จะนำไปพิจารณาหารือในคณะกรรมการค่าจ้างในแต่ละปี

และหากตั้งต้นจากปี 2554 ที่ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นเป็น 300 บาทต่อวัน เมื่อคำนวณให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและดัชนีค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทุกปี ค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันควรเริ่มต้นที่ 450 บาทต่อวัน พร้อมกำหนดให้รัฐต้องช่วยแบ่งเบาภาระค่าแรงที่สูงขึ้นสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในช่วง 6 เดือนแรก โดยการที่รัฐช่วยสมทบค่าประกันสังคมในส่วนของผู้ว่าจ้าง สำหรับแรงงานที่ถูกกระทบโดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

แต่ชัยชนะหลังการเลือกตั้งของพรรคก้าวไกล ในฐานะแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลที่มี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้เร่งให้มีการขับเคลื่อนนโยบายการขึ้นค่าแรง 450 บาททันที แน่นอนว่านโยบายนี้ “ถูกใจ” ฝ่ายลูกจ้าง

แต่จากการเดินสายพบปะ “นายจ้าง” ในหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ยังไม่สมควรที่จะปรับขึ้นค่าแรงในอัตรา 450 บาท/วัน หรือในอัตราสูง ๆ ทันที

โดยให้เหตุผลถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่เพิ่งฟื้นตัวยังไม่เต็มที่หลังโควิด-19 ประกอบกับการปรับขึ้นค่าแรง 450 บาท จะสูงเกินกว่าประเทศคู่แข่ง และแท้ที่จริงแล้วระหว่างแรงงานไทยกับต่างด้าว ใครจะได้รับประโยชน์จากการขึ้นค่าแรงครั้งนี้ แต่ฝ่ายนายจ้างก็ไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง มีข้อเสนอให้ปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีมาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบของนายจ้าง


ล่าสุดสุ้มเสียงของนายพิธาเองก็ดูจะเปลี่ยนไปว่า การขึ้นค่าแรงจะต้องมีการหารือผ่านทางคณะกรรมการค่าจ้าง 3 ฝ่าย มาพิจารณาข้อเสนอและเหตุผลของการปรับขึ้นค่าแรงในอัตรา 450 บาท สมควรหรือไม่ ไม่ได้แตกต่างไปจากวิธีการที่รัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ใช้ดำเนินการแต่อย่างใด