ค่าแรง 450 บาท กระทบหนัก หอภูธรแนะขึ้น “ขั้นบันได”

แรงงาน

หอการค้าภาคเหนือ-ใต้-อีสาน-ตะวันออกแนะ รัฐบาลก้าวไกล ให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นขั้นบันได ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ ชี้หากปรับทันที 450 บาท/วัน จะส่งผลกระทบผู้ประกอบการแบกภาระหนักโดยเฉพาะ SME จี้อยากให้รัฐบาลวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว หลังพบกระแสเงินสด สภาพคล่องทางการเงินยังไม่กลับมาเหมือนช่วงก่อนโควิด-19

หลังจาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล นำคณะเข้าพบและหารือกับ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีหอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทยและนักธุรกิจรุ่นใหม่ของหอการค้าไทยเข้าร่วม โดยหนึ่งในเรื่องสำคัญที่มีการพูดคุยกันก็คือ การขึ้นค่าแรง 450 บาทต่อวันภายใน 100 วัน ภายหลังจัดตั้งรัฐบาลตามที่มีการหาเสียงไว้ “ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามไปยัง หอการค้าจังหวัด ถึงนโยบายขึ้นค่าแรงครั้งนี้

เชียงใหม่แนะทำ 3 อย่างก่อนขึ้น

นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท จะต้องดูบริบทหลายอย่างที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากพรรคก้าวไกลขึ้นมาเป็นรัฐบาล บริบทแรกที่ต้องพิจารณาก็คือ การลดต้นทุนด้านสาธารณูปโภคให้ผู้ประกอบการธุรกิจ ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นมากในขณะนี้ อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เมื่อต้นทุนส่วนนี้ลดลงก็จะสามารถเพิ่มค่าแรงเป็น 450 บาทได้

ส่วนบริบทที่สอง คือ บริบทด้านแรงงานที่มีทักษะ (skilled labor) ทั้งกลุ่มแรงงานที่เป็นคนไทยและต่างด้าว ต้องให้เหมาะสมสอดคล้องกับการขึ้นค่าแรงครั้งนี้ และบริบทที่ 3 คือ บริบทในเชิงพื้นที่และประเภทกลุ่มธุรกิจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs จะต้องแบกภาระหนักมาก หากต้องปรับขึ้นค่าแรง 450 บาท ซึ่งส่วนใหญ่ใช้แรงงานเข้มข้น และบางธุรกิจมีผลประกอบการดี ขณะที่บางธุรกิจผลประกอบการไม่ดี ดังนั้นรัฐบาลควรพิจารณาทั้ง 3 บริบทดังกล่าว พร้อมทั้งมีนโยบายในการช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจทุกกลุ่มอย่างเต็มที่

นายสุดที่รัก พันธ์สายเชื้อ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท เป็นสิ่งที่รัฐบาลทำได้และเห็นด้วยกับการปรับค่าแรง และภาคเอกชนพร้อมตอบสนองนโยบาย แต่อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงในครั้งนี้แน่นอนว่า เมื่อปรับขึ้นไปแล้วจะมีผู้ได้รับผลกระทบ ส่วนแรกคือ นักธุรกิจ เจ้าของกิจการ ไม่ว่าจะเป็น SMEs และผู้ประกอบธุรกิจทุกคน ซึ่งหากพรรคก้าวไกลมีนโยบายที่จะช่วยแบ่งเบาภาระในการปรับค่าแรงในครั้งนี้ และภาคเอกชนก็เตรียมพร้อมที่จะรับฟังว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง

“แต่รัฐบาลควรมีแผนเข้ามารองรับ ไม่ใช่ปรับด้านเดียว ต้องปรับทั้ง 2 ด้านคือ คนที่เขาได้รับการปรับ เขาก็ได้รับผลประโยชน์แล้ว ส่วนเจ้าของนักธุรกิจหรือนายจ้าง พรรคก้าวไกลบอกว่าจะมีนโยบายออกมาช่วย เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านรอบนี้ราบรื่นขึ้น ภาคเอกชนก็เตรียมที่จะรอฟังว่า รัฐบาลจะมีนโยบายอย่างไรต่อไป” นายสุดที่รักกล่าว

หอการค้าภาคตะวันออกให้ฟื้นเศรษฐกิจก่อน

นายอุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี กล่าวว่า การกำหนดขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 450 บาท “ค่อนข้างรวดเร็วเกินไป” หลังสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัว แต่กระแสเงินสด สภาพคล่องทางเงินยังไม่ได้กลับมา ทุกอย่างกำลังเริ่มเซตตัวและมีการปรับตัวทางเศรษฐกิจรองรับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

จึงเป็นเวลาที่ยังไม่เหมาะสมหากจะขึ้นค่าแรงเวลานี้ ภาครัฐต้องเร่งช่วยสนับสนุนทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและมีเสถียรภาพเร็วที่สุดก่อน ทำให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้มีเงินมาจ่ายค่าจ้าง

อย่างไรก็ตาม จันทบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งที่ใช้แรงงานมาก รวมทั้งมีแรงงานต่างด้าวที่ต้องได้รับค่าแรงเหมือนคนไทย วันละ 380 บาท เศรษฐกิจจังหวัดจันทบุรีได้ผลไม้เข้ามาช่วย หลังโควิด-19 ภาพรวมน่าจะฟื้นตัวประมาณ 50% ยังไม่มีสภาพคล่อง การขึ้นค่าแรงควรเป็นตามสเต็ป ทำให้เศรษฐกิจดีมีเสถียรภาพก่อน ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นค่าแรงหรือการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 10% อดีตที่ขึ้นค่าแรง 300 บาท ภาคอุตสาหกรรมมีการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศที่ค่าแรงถูกกว่าเคยเกิดขึ้นมาแล้ว

“การช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs การปรับโครงการสร้างหนี้ การพักชำระหนี้ ให้มีทุนหมุนเวียนมาประกอบธุรกิจไปต่อได้ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนดูเหมือนง่าย แต่จริง ๆ แต่ละธนาคารมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด ทั้งเรื่องงบกระแสเงินสดหมุนเวียน สเตตเมนต์ หลักทรัพย์ หรือการติดอยู่ในบัญชีเครดิตบูโร ควรใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์ศักยภาพของผู้ประกอบการอย่างละเอียด” นายอุกฤษฏ์กล่าว

ทางด้าน ทพญ.วิภา สุเนตร ประธานหอการค้า จ.ตราด กล่าวเพิ่มเติมว่า การขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ ด้านผู้ใช้แรงงานมีความชัดเจน ขณะที่มีเพียงมาตรการช่วยภาคผู้ประกอบการ SMEs จ่ายเงินประกันสังคมสมทบในส่วนที่นายจ้างระยะเวลา 6 เดือน อัตรา 5% ถ้าเงินเดือน 15,000 บาท คือ คนละ 750 บาท ระยะยาวผู้ประกอบการอาจจะใช้แรงงานน้อยลง และใช้แรงงานเฉพาะที่มีประสิทธิภาพหรือปรับเปลี่ยนใช้เทคโนโลยี

การปรับค่าแรงครั้งเดียว จ.ตราด 340 บาท ถ้าขึ้นไปสูงสุด 450 บาท จะมีผลกระทบวงกว้าง แต่ถ้าค่อย ๆ ปรับขึ้น และดูเรตที่เหมาะสมของเศรษฐกิจ จ.ตราดที่ไม่ใช่อัตราที่สูงสุด ผู้ประกอบการจะค่อย ๆ ปรับตัว การปรับค่าแรงผู้ใช้แรงงานต่างด้าวจะได้ประโยชน์ทันที เพราะปกติการจ้างแรงงานไทยจะให้ค่าจ้างตามทักษะส่วนใหญ่ “สูงกว่า” ค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว

สงขลาหวั่นกระทบ SMEs

ด้าน นายทรงพล จังศิริวัฒนธำรง ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าวว่า สงขลาปกติค่าแรงงานขั้นต่ำอยู่ที่ 340 บาท/วัน ถ้าปรับเป็น 450 บาท/วัน เท่ากับปรับขึ้นไปถึง 33% “ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบด้านและทยอยปรับขึ้น” ไม่อย่างนั้นจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายเล็ก โดยเฉพาะรายเล็กที่มีสายป่านสั้นจะได้รับผลกระทบหนัก

ทั้งนี้ เห็นด้วยกับการปรับค่าแรง แต่ควรค่อย ๆ ปรับทีละน้อยให้สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ประกอบการจะได้มองเห็นและเตรียมการรับมือได้ ที่สำคัญการปรับค่าแรงไม่ควรปรับขึ้นเหมือนกันทั้งประเทศ เพราะแต่ละจังหวัดแรงงานจะต่างกัน

“การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำนั้นเห็นด้วย เพื่อให้สอดรับกับข้าวของแพง แต่อัตราค่าแรงงานถูก แต่ต้องมีกลไกรองรับ หากปรับขึ้นทันที 450 บาท จะส่งผลกระทบต่อภาคการจ้างงาน ภาคการค้า การลงทุนในพื้นที่ อาจจะเลิกการจ้างงาน และศักยภาพในการแข่งขันจะถอยลง” นายทรงพลกล่าว